Lifestyle

รู้จักโรค "ผมร่วงเป็นหย่อม" เหตุ "วิล สมิธ" ตบ "คริส ร็อค" กลางเวทีออสการ์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ผมร่วงเป็นหย่อม" เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้กับผิวหนังส่วนที่มีขนทุกส่วน ลักษณะของโรคนี้คือ ผู้ป่วยจะมีผมร่วงแบบไม่มีแผลเป็นบนหนังศีรษะเป็นหย่อมๆ บางครั้งโรคนี้อาจเกิดจากปัญหาสุขภาพอื่นๆ ได้ด้วย

จากเหตุการณ์ที่นักแสดงชื่อดัง "วิล สมิธ" ขึ้นเวทีตบหน้า "คริส ร็อค" กลางงานประกาศรางวัลออสการ์ครั้งที่ 94 ขณะที่ คริส ร็อค กำลังขึ้นกล่าว ในช่วงการประกาศรางวัลภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม และเล่นมุกล้อเลียนทรงผมของ "จาดา พิงคิตต์ สมิธ" ภรรยาของ "วิล สมิธ" ที่ตัดสินใจโกนศีรษะ เมื่อปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีปัญหาเรื่องผมร่วง 

 

รู้จักโรค "ผมร่วงเป็นหย่อม" เหตุ "วิล สมิธ" ตบ "คริส ร็อค" กลางเวทีออสการ์

 

สำหรับเคสนี้ เพจดัง Drama-addict ออกมาโพสต์ข้อความว่า ภาวะที่แฟนของ "วิล สมิธ" เป็น และถูกล้อเลียนบนเวทีออสการ์วันนี้ คือภาวะ "ผมร่วง alopecia" ซึ่งมีหลายสาเหตุ มีทั้งแบบร่วงกระจายๆ หรือร่วงเป็นหย่อมๆ สาเหตุมีตั้งแต่การติดเชื้อ ฮอร์โมน สารเคมี โรคเกี่ยวกับต่อมไร้ท่อ บลาๆ และอีกมากมายหลายสาเหตุ ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้คนจำนวนไม่น้อยทุกข์ทรมาน เพราะกระทบบุคลิคภาพภาพลักษณ์และความมั่นใจในตัวเอง แฟนของ "วิล สมิธ" รักษาโรคนี้มาหลายปีแล้ว ซึ่งมันทำให้เธอทุกข์มากในช่วงที่รักษาโรคนี้ เพราะเวลาไปไหนก็จะมีคนถามทำไมต้องเอาผ้ามาโพกหัว เธอก็ต้องอธิบายว่าเพราะเธอกำลังรักษาเรื่องผมร่วงเป็นหย่อมๆ อยู่ และเธอก็รักเส้นผมของตัวเอง บำรุงมันเป็นอย่างดีมาโดยตลอด แล้ววันนึงตื่นมาอาบน้ำ เห็นผมร่วงเป็นกำๆ ตอนอาบน้ำมันก็ชวนให้เสียใจไม่น้อย

 

สุดท้ายผ่านไปหลายปี "จาดา พิงคิตต์ สมิธ" ภรรยาของ "วิล สมิธ" ก็เลือกที่จะยอมรับมันและโกนหัวไปเลย ซึ่งการที่เธอทำแบบนี้ก็เหมือนให้กำลังใจคนอื่นๆ ที่ป่วยเป็นโรคเดียวกับเธอ มีผู้ป่วยที่รักษามะเร็ง หรือเป็นโรคเกี่ยวกับต่อมไร้ท่อ ที่เจอปัญหาผมร่วงเช่นเดีวกัน พอเห็นแฟนวิลสมิธทำงี้ก็รู้สึกดี ว่า เออ เราไม่เห็นต้องอายเลยดาราดังๆ เขาก็เป็น และเขาก็ไม่อายเลยที่จะโชว์ให้โลกรู้ว่าเขาเป็น alopecia

 

รู้จักโรค "ผมร่วงเป็นหย่อม" เหตุ "วิล สมิธ" ตบ "คริส ร็อค" กลางเวทีออสการ์

 

โรคผมร่วงเป็นหย่อม คืออะไร

โรคผมร่วงเป็นหย่อม หรือโรคผมร่วงเป็นวง (Alopecia Areata) เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้กับผิวหนังส่วนที่มีขน (Hair-bearing skin) ทุกส่วน ลักษณะของโรคนี้คือ ผู้ป่วยจะมีผมร่วงแบบไม่มีแผลเป็นบนหนังศีรษะเป็นหย่อมๆ บางครั้งโรคนี้อาจเกิดจากปัญหาสุขภาพอื่นๆ ได้ด้วย

 

ผู้ป่วยโรคผมร่วงเป็นหย่อมส่วนใหญ่ จะมีหย่อมผมร่วงเพียงไม่กี่จุดเท่านั้น และผมมักจะขึ้นใหม่ได้เองตามธรรมชาติ แต่บางครั้งโรคผมร่วงเป็นหย่อมก็อาจนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ เช่น โรคผมร่วงหมดศีรษะ (Alopecia Totalis) หรือในกรณีรุนแรง อาจทำให้เกิดโรคผมร่วงทั่วตัว (Alopecia Universalis) คือ ผมร่วงหมดศีรษะ ขนคิ้ว ขนตา และขนตามร่างกายก็ร่วงด้วย

 

โรคผมร่วงเป็นหย่อม พบได้บ่อยแค่ไหน

โรคผมร่วงเป็นหย่อม สามารถพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอายุต่ำกว่า 30 ปี โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

 

อาการของโรคผมร่วงเป็นหย่อมที่พบได้ทั่วไป ได้แก่

 

  • ผมร่วงเป็นหย่อมมักเริ่มต้นด้วยการเกิดหย่อมที่ผมร่วง ลักษณะเป็นจุดกลมๆ ผิวหนังอ่อนนุ่ม เส้นผมร่วง-จนเกลี้ยง ขนาดประมาณเหรียญบาท ในระยะแรก คุณอาจสังเกตเห็นว่ามีกระจุกผมร่วงอยู่บนหมอน หรือผมร่วงมากกว่าปกติเวลาอาบน้ำสระผม ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดบริเวณหนังศีรษะ แต่ความจริงแล้วสามารถเกิดขึ้นได้กับผิวหนังส่วนที่มีขนทั้งหมด บางกรณีอาจเกิดกับผิวหนังบริเวณคิ้ว ขนตา หรือหนวดได้ด้วย
  • มีเส้นผมสั้นรูปร่างคล้ายเครื่องหมายอัศเจรีย์ คือ มีผมเส้นสั้น ๆ ที่โคนผมเรียวเล็กกว่าปลายผม งอกขึ้นบริเวณขอบของหย่อมที่ผมร่วง
  • เล็บผิดปกติ โรคผมร่วงเป็นหย่อมสามารถส่งผลกระทบกับเล็บมือและเล็บเท้าได้ด้วย เช่น เล็บมีรอยบุ๋ม เล็บมีจุดขาว เล็บมีเส้นขาว หน้าเล็บขรุขระ เล็บไม่เงา เล็บบาง เล็บเปราะฉีกขาด ในบางกรณี อาจทำให้เล็บเปลี่ยนรูปทรง หรือทำให้เล็บหลุดได้ด้วย
  • สำหรับผู้ป่วยบางราย อาจมีสิ่งบ่งชี้หรืออาการนอกเหนือจากที่ระบุไว้ข้างต้น หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการต่างๆ โปรดปรึกษาแพทย์

 

สาเหตุของโรคผมร่วงเป็นหย่อม

ปัจจุบันมีหลักฐานว่าโรคผมร่วงเป็นหย่อมมีสาเหตุจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งนำไปสู่ภาวะไม่ตอบสนองต่อแอนติเจนตัวเอง หรือที่มักเรียกว่าภาวะภูมิต้านตัวเอง (Autoimmunity) คือ ระบบภูมิคุ้มกันเข้าใจผิดและโจมตีเนื้อเยื่อในร่างกาย ในกรณีของโรคผมร่วงเป็นหย่อมเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันโจมตีรูขุมขน (Hair follicles) และเข้าขัดขวางการเจริญเติบโตของเส้นผม

 

จากการตรวจชิ้นเนื้อที่บริเวณที่ได้รับผลกระทบพบว่า เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ (Lymphocyte) ซึ่งทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกันแทรกซึมเข้าสู่กระเปาะผม (Hair Bulb) ที่อยู่ล่างสุดของรากผม และนำไปสู่โรคผมร่วงเป็นหย่อม

 

ในบางกรณี โรคผมร่วงเป็นหย่อมก็เป็นผลมาจากโรคอื่นๆ เช่น โรคของต่อมไทรอยด์ โรคด่างขาว โรคแพ้ภูมิตัวเองหรือโรคลูปัส โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผล

 

 

ปัจจัยเสี่ยงของโรคผมร่วงเป็นหย่อม

 

  • คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคนี้
  • มีอาการของโรคตั้งแต่อายุยังน้อย (ก่อนเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์) หรือมีอาการของโรคนานเกิน 1 ปี
  • มีประวัติโรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเองอื่นๆ
  • เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
  • ผมร่วงมากผิดปกติ
  • เล็บมือและเล็บเท้ามีสี รูปร่าง ความหนา หรือลักษณะผิดปกติ

 

 

 

การวินิจฉัยโรคผมร่วงเป็นหย่อม

ปกติแล้ว แพทย์จะวินิจฉัยโรคผมร่วงเป็นหย่อมด้วยการตรวจประเมินอาการ ซักประวัติ และตรวจสอบประวัติทางการแพทย์ หากยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แพทย์อาจต้องให้คุณเข้ารับการทดสอบบางประการ เพื่อหาว่าคุณเป็นโรคที่อาจทำให้ผมร่วงหรือไม่ การทดสอบเหล่านั้น ได้แก่

 

การตรวจวิเคราะห์ผม แพทย์จะนำตัวอย่างเส้นผมไปส่องในกล้องจุลทรรศน์ และในบางครั้ง อาจต้องเก็บตัวอย่างหนังศีรษะด้วย การตรวจเลือด และการตรวจประเมินเฉพาะโรค เช่น ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ภาวะขาดไทรอยด์ การรักษาโรคผมร่วงเป็นหย่อม

 

โดยปกติแล้ว บริเวณที่ผมร่วงจะมีผมงอกใหม่ได้เองภายในเวลา 1 ปี และคุณอาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาแต่อย่างใด แต่ในระหว่างที่รอผมงอกใหม่ คุณอาจต้องดูแลตัวเองด้วยอุปกรณ์เหล่านี้

 

  • แฮร์พีช (Hairpieces) หรือวิกผม เพื่อปิดบริเวณที่ผมร่วงเป็นหย่อม
  • ผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผม ที่ช่วยให้ผมดูหนาขึ้น

 

แต่หากคุณต้องการรักษาโรคผมร่วงเป็นหย่อม แพทย์อาจดำเนินการรักษาให้คุณด้วยการฉีดคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ลงที่ผิวหนังหรือหนังศีรษะบริเวณที่มีปัญหา (ยา 1 เข็มต่อหนึ่งผิวหนังตารางเซนติเมตร) โดยต้องฉีดทุก ๆ 4-6 สัปดาห์ แต่หากเป็นเด็ก แพทย์จะให้ใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดทาแทน ในบางกรณี แพทย์อาจให้ใช้ยาไมนอกซิดิล (Minoxidil) ร่วมด้วย

 

นอกจากนี้ แพทย์อาจสั่งยาแอนทราลิน (Anthralin) ให้คุณใช้ทาในบริเวณผิวหนังที่มีปัญหาผมร่วง เพื่อช่วยกระตุ้นให้ผมงอกใหม่ โดยคุณอาจต้องใช้ยานี้อย่างน้อย 2 เดือน เส้นผมใหม่จึงจะเริ่มงอก

 

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองต่อไปนี้ อาจช่วยรับมือกับโรคผมร่วงเป็นหย่อมได้

 

บางคนเชื่อว่าการทาน้ำหอมหัวใหญ่ น้ำกระเทียม ชาเขียวเย็น น้ำมันอัลมอนด์ น้ำมันโรสแมรี่ น้ำผึ้ง หรือกะทิ ลงบนผิวหนังที่มีปัญหาผมร่วง สามารถช่วยกระตุ้นการเกิดเส้นผมใหม่ได้ แต่ในปัจจุบันยังไม่มีผลการศึกษาวิจัยที่ยืนยันเรื่องนี้ได้ บางคนเชื่อว่าการรักษาทางเลือก เช่น การฝังเข็ม สุคนธบำบัด หรืออโรมาเธอราพี (Aromatherapy) สามารถช่วยกระตุ้นให้ผมงอกใหม่ได้ แต่ก็ยังต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเช่นกัน

 

หากคุณมีข้อสงสัย โปรดปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ หรือการรักษา เพื่อให้เข้าใจได้ดีขึ้นถึงวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

 

ที่มาข้อมูล : เนตรนภา ปะวะคัง

ภาพ : https://www.allure.com/.../jada-pinkett-smith-hair-loss...

https://people.com/.../jada-pinkett-smith-says-she-is.../

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ