ไลฟ์สไตล์

ละครตบตี-แย่งผู้ชายล้นจอตู้ไทย-เน้นความรุนแรง

ละครตบตี-แย่งผู้ชายล้นจอตู้ไทย-เน้นความรุนแรง

12 มี.ค. 2552

ละครตบตี-แย่งผู้ชายล้นจอตู้ไทย แถมยังมีคุกคามทางเพศ ห่วงเด็กเลียนแบบ ดูช่วงปิดเทอม เจอละครรุนแรงฉายซ้ำซาก นักวิชาการแนะประชาชนจับตาออกกฎหมายจัดสรรคลื่นความถี่ เหตุพัวพันธุรกิจสื่อแสนล้าน

 เมื่อวันที่ 12 มีนาคม ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก แถลงข้อมูล “เจาะลึกจอตู้ วันนี้หนูๆ ดูอะไร” ผศ.ดร.พรทิพย์ เย็นจะบก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การศึกษาละครไทยเปรียบเทียบกับรายการข่าวและรายการอื่นๆ จำนวน 150 เรื่อง ในปี พ.ศ.2550 พบว่า ช่อง 7 มีสัดส่วนของละครมากที่สุด เมื่อวิเคราะห์เนื้อหาของละคร รูปแบบการดำเนินเรื่อง พบว่า มีการต่อสู้ชีวิต 34% เนื้อหารักเชือดเฉือน 23.3% โรแมนติก 14.7% ละครแก้แค้น 8% ภาพรวมทั้งหมดละครทำเพื่อสะท้อนภาพสังคม 62.7% สะท้อนวัฒนธรรมการครองเรือน 20% ซึ่งจะเป็นเรื่องของชีวิตคู่ ความขัดแย้งในครอบครัว การมีชู้
 นอกจากนี้ละครมักสร้างบุคลิกของพระเอกในแง่ลบ ให้อารมณ์ร้อน ป่าเถื่อน ดูถูกคน ปากร้าย เชื่อคนง่าย ส่วนนางเอกมักสร้างให้มองโลกในแง่ดี อ่อนต่อโลก เจ้าน้ำตา ประชดประชัน เชื่อคนง่าย หยิ่งในศักดิ์ศรี ซึ่งบุคลิกความคิดของพระเอก นางเอก เป็นส่วนที่เด็กๆ อาจเลียนแบบได้ ส่วนนางร้ายจะเจ้าคิดเจ้าแค้น โหดร้ายทารุณ ขี้อิจฉา บ้าผู้ชาย โกหกเสแสร้ง ช่างวางแผน มารยา ยั่วยวน ส่วนตัวร้ายชายจะถูกสร้างให้เห็นแก่เงิน โหดเหี้ยม ชอบใช้กำลัง ฉากต่างๆ ในละครมักมีความรุนแรง การใช้กำลัง ความขัดแย้งในครอบครัว และมีความรักฉาบฉวย การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ตั้งใจ
 รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผอ.สำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม สสส. กล่าวว่า จากผลวิจัยของมีเดีย มอนิเตอร์ ในปี 2549  พบว่า ละครไทยกว่า 88% มีฉากความรุนแรงเฉลี่ยเกือบ 4 ครั้งต่อชั่วโมง มีเนื้อหาเหยียดเพศ ดูถูกคนที่ด้อยกว่า 1.33 ครั้งต่อชั่วโมง มีการใช้ภาษาไม่เหมาะสม 0.25 ครั้งต่อชั่วโมง มีฉากคุกคามทางเพศ การข่มขืน 0.13 ครั้งต่อชั่วโมง ซึ่งงานวิจัยล่าสุดและละครที่ออกอากาศอยู่ปัจจุบัน ความรุนแรงก็ไม่ลดลง อาจมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ เมื่อสถานีหนึ่งมีละครที่รุนแรงทั้งภาษา การกระทำ เรื่องเพศ สถานีอื่นก็ยิ่งทำให้รุนแรงมากกว่า เพราะต้องการดึงเรตติ้งคนดู ยิ่งขณะนี้เป็นช่วงปิดเทอม เด็กๆ จะอยู่กับทีวีมากขึ้น ผู้ปกครองต้องพูดคุย สอบถามว่าดูรายการใดบ้าง เหมาะสมหรือไม่ ความจริงผู้ผลิตต้องมีความรับผิดชอบ ให้ความสำคัญกับเวลาของเด็ก ในอังกฤษหากเป็นช่วงปิดเทอม ผังรายการจะถูกเปลี่ยนให้เวลากับรายการเด็กมากขึ้น รัฐบาลจึงน่าจะให้ของขวัญแก่เยาวชน ด้วยการขอความร่วมมือกับสถานีให้มีรายการที่เหมาะกับเด็กช่วงปิดเทอม
 “สิ่งที่เห็นในหน้าจอวันนี้เต็มไปด้วยละครที่ผู้หญิงตบตีกัน แย่งผู้ชาย ใช้ถ้อยคำรุนแรง หรือไม่ก็ละครผี ทั้งหมดออกอากาศช่วงเวลาที่เด็กๆ ยังนั่งดูทีวีอยู่ ขณะที่ละครตลก หรือโรแมนติก ก็ใช้คำพูดที่รุนแรง บางครั้งถึงขั้นหยาบคาย เพื่อกระตุ้นให้คนติดตาม ให้ตลก แบบนี้น่าห่วงมาก ผู้จัดละครมักบอกว่าคนดูไม่โง่ แยกแยะได้ แต่อะไรก็ตามที่แฝงมากับความบันเทิง มันจะซึมลึกทำให้พฤติกรรมเลียนแบบ โดยเฉพาะเด็กๆ ที่คิดว่าทำได้ พูดแบบในละคร ทำแบบในละคร คนจะได้สนใจ ที่สุดแล้วจะหล่อหลอมเด็กเยาวชนของเราออกมาเป็นอย่างไร” รศ.ดร.วิลาสินี กล่าว
 รศ.ดร.วิลาสินีกล่าวอีกว่า ปัญหาทั้งหมดต้องแก้ที่โครงสร้างของสื่อ ขณะนี้ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่เข้าสู่ขั้นตอนของสภาแล้ว ซึ่งจะทำให้เกิด กสทช.มาจัดแยกประเภทสื่อ ทำให้มีสื่อบริการสาธารณะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีเกณฑ์เรื่องสัดส่วนเนื้อหามากำหนด จะทำให้ผู้ชมได้ดูรายการที่มีคุณภาพมากขึ้น และกฎหมายนี้เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์มหาศาล จึงขอให้ประชาชนช่วยกันติดตาม เพื่อให้กฎหมายนี้ออกมาแล้วเกิดประโยชน์สูงสุด