
มินหม้อ คือ ดินหม้อ คำไทยโบราณที่มักเรียกผิด
เชื่อว่าทุกคนคงเคยได้ยินคำว่า "ดินหม้อ" แต่ก็เชื่อว่ายังมีคนอีกจำนวนมากที่ยังไม่รู้ว่ามันคืออะไร วันนี้จะเล่าให้อ่านกัน
ในสมัยที่ผู้เขียนยังเด็ก "ดินหม้อ" จัดเป็นเครื่องมือในการเล่นและแกล้งเพื่อน ๆ กันสนุกทีเดียว ปัจจุบันหาดูได้ยาก เพราะวิถีชีวิตและวิวัฒนาการของสรรพสิ่งเปลี่ยนไป
"ดินหม้อ" คือ เขม่าดำที่เกาะติดอยู่ก้นหม้อ ในสมัยก่อนเวลาเราหุงหาอาหารเราใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง เมื่อผ่านใช้งานนาน ๆ เข้า จะมีคราบเขม่าดำเกาะติด เด็กในสมัยก่อนก็จะเอามือไปลูบที่ก้นหม้อแล้วนำมาป้ายหน้าเพื่อนเป็นที่สนุกสนานกันตามประสา
แต่รู้หรือไม่ว่า คำว่า "ดินหม้อ" ที่เรียกกันมานาน นั้นเป็นคำที่ผิด จริง ๆ แล้ว คำที่ถูกคือ "มินหม้อ" ตามหลักของราชบัณฑิตสถาน คำว่า "มินหม้อ" เป็นคำโบราณที่มีใช้มานานมาก ดังปรากฏในวรรณคดีขุนช้างขุนแผน ตอน ขุนช้างถวายฎีกา ว่า
มาอยู่ไยกับอ้ายหินชาติ
แสนอุบาทว์ใจจิตริษยา
ดังทองคำทำเลี่ยมปากกะลา
หน้าตาดำเหมือนมินหม้อมอม
เหมือนแมลงวันว่อนเคล้าที่เน่าชั่ว
มาเกลือกกลั้วปทุมมาลย์ที่หวานหอม
ดอกมะลิเดื่อฤๅจะเจือดอกพะยอม
ว่านักแม่จะตรอมระกำใจ
พลายงาม หรือหมื่นไวย, พระไวย ลูกชายของขุนแผนกับนางวันทอง ซึ่งได้พูดกับแม่ ว่าจะไปอยู่กับมันทำไมคนเลวทรามใจชั่วคิดริษยา หน้าตาก็มอมแมมดำอย่างกับเขม่าที่ติดก้นหม้อ น่าเกลียดเหมือนแมลงวันเน่ามาบินตอมดอกไม้ที่สวยงามอย่างแม่
"มินหม้อ" วัฒนธรรมภาษาที่ผ่านการทำอาหาร อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าต้องใช้ฟืนในการก่อไฟ ทำให้เกิดเขม่าดำที่เกิดจากควันไฟ เขม่าดำเหล่านี้อยู่ในวิถีชีวิตคนเรามานานโดนเฉพาะหญิงสาว ดังปรากฏในวรรณคดีเรื่องนิราศพระบาท ที่พูดถึงหญิงสาวเอามินหม้อมาทาที่มือ เวลาเข้าถ้ำแล้วมีหนุ่ม ๆ มาลวนลาม นางก็จะเอามือป้ายที่หน้า คราวนี้ออกจากถ้ำมาก็รู้เลยว่า ใครลามก ดังบทความที่ว่า
เที่ยวชมห้องปล่องหินเปนภู่ห้อยมีน้ำย้อยหยาดหยัดอย่างเม็ดฝน
พอเทียนดับลับแลไม่เห็นคนผู้หญิงปนเดินปะปะทะชาย
เสียงร้องกรีดหวีดก้องในห้องถ้ำชายขยำหยอกแย่งผู้หญิงหวาย
ใครกอดแม่แปรกอกแตกตายใครปาดป้ายด้วยมินหม้อเหมือนแมวคราว
ครั้นออกจากคูหาเห็นหน้าเพื่อนมันมอมเปื้อนแปลกหน้าก็ฮาฉาว
บ้างถูกเล็บเจ็บแขนเปนริ้วยาวก็โห่กราวกรูเกรียวไปเที่ยวดง
คำไทยเป็นคำที่มีเสน่ห์ และสวยงาม ยิ่งรู้ความหมาย ยิ่งสนุก