Lifestyle

"ความรัก" ทำให้คนตาบอดได้อย่างไร รู้ไว้จะได้ไม่ทุกข์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ความรัก" ทำให้คนตาบอด ได้ยินมานาน ตั้งแต่เด็ก ๆ จนผ่านสู่วัยผู้ใหญ่ คำ ๆนี้ ยังใช้ได้ดีทุกยุคสมัย คำนี้เป็นคำโบราณที่ผ่านการสังเกตจากบรรพบุรุษ ถือว่าเป็นภูมิปัญญาการมองถึงอารมณ์ความรู้สึกของคนรอบตัว ที่อยู่ในห้วงแห่งรักแบบ โงหัวไม่ขึ้น

ได้อ่านเจอบทความของ นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล  นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข พูดถึง "ทำไม ความรักทำให้คนตาบอด" อาจารย์เขียนไว้น่าสนใจ ขอนำมาเผยแพร่ให้คุณผู้อ่าน เผื่อว่าใครกำลังอยู่ในห้วงรักแบบ "โงหัวไม่ขึ้น" ได้รู้ว่าเหตุใดเราถึงตาบอด

 

\"ความรัก\" ทำให้คนตาบอดได้อย่างไร รู้ไว้จะได้ไม่ทุกข์

 

 

อาจารย์บอกว่า การทำงานสมองในช่วงที่แรกรัก สมองจะมีการทำงานสำคัญอยู่ 3 อย่าง

  1. สมองทำงานคล้ายกับคนที่ หมกมุ่น ย้ำคิดย้ำทำ 
  2. สมองทำงานเหมือนกับคนที่กำลังสมองเสื่อม หลง ๆ  ลืม ๆ เหม่อลอย  
  3. สมองทำงานเหมือนคนที่กำลังเสียสติ การตัดสินใจเสียไป มองอะไรไม่รอบด้าน หากได้ตรวจคลื่นสมองของคนที่กำลังหลงรักแบบโงหัวไม่ขึ้น ก็จะพบว่าสมองมีภาวะร่วมของอาการสามอย่างที่กล่าวมานี้

จากการทำงานของสมองดังกล่าว อาจารย์บอกว่ามันเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อการดำรงชีพของเผ่าพันธุ์มนุษย์การหมกมุ่นลักษณะนี้มีผลต่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์ การปรับตัว การเอาตัวรอด และการส่งผ่านรหัสทางพันธุกรรม หรือยีนส์ของสายพันธุ์นั้นให้อยู่ต่อ เพราะฉะนั้นการหมกมุ่นอยู่กับความรักเป็นคู่  จะเอื้อต่อการสืบพันธุ์ให้สายพันธุ์นั้นดำรงอยู่ต่อไปได้นั่นเอง

  \"ความรัก\" ทำให้คนตาบอดได้อย่างไร รู้ไว้จะได้ไม่ทุกข์
                แต่หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมภาวะแบบนี้จึงไม่อยู่กับเราไปนาน ๆ คงเป็นเรื่องยุ่งน่าดูถ้าภาวะนี้จะอยู่กับเราตลอดไป ต้องเข้าใจว่าการตกหลุมรักเป็นฮอร์โมนและเป็นสภาวะที่เกิดขึ้นชั่วคราวเพื่อดึงให้คนมาผูกอยู่ติดกัน แต่เมื่อได้มาอยู่ร่วมกันนานพอ และร่างกายของสองคนสมบูรณ์แข็งแรงก็ทำให้เกิดลูกขึ้นมา การผูกติดกันของคู่จะส่งผลเสียกับลูก เพราะฉะนั้นวิวัฒนาการจึงให้แม่ถ่ายความสนใจไปที่ลูกแบบโงหัวไม่ขึ้น ส่วนพ่อนั้นสามารถอยู่ไกลออกไปได้ ถ้าเกิดไปเจอพ่อแบบที่ไม่มีวุฒิภาวะพอ เขาก็จะออกไปเพื่อแพร่รหัสพันธุกรรมของเขาต่อไป นี่คือการอธิบายในแง่วิวัฒนาการ เพราะฉะนั้นเมื่อผ่านพ้นช่วงความรักแบบโงหัวไม่ขึ้นแล้ว เราจำเป็นต้องดึงเอาความสามารถในการมองช่วงชีวิตในระยะยาวๆ ออกมาใช้ให้ได้

 
                นอกจากนี้อาจเป็นไปได้ว่า การทำงานของสมองช่วงตกหลุมรัก ช่วยให้คนที่ไม่สมบูรณ์แบบได้มีโอกาสได้แพร่พันธุกรรม เพราะหากทุกคนตาสว่างเห็นอะไรชัดเจนทะลุปรุโปร่งหมด ก็คงจะเหลือคนที่ตกลงปลงใจแต่งงานมีคู่น้อยมาก  เพราะฉะนั้นหัวใจสำคัญของความรักคือ การยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบของคู่ของเรา เพราะการยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบของเขาจะทำให้เราอยู่ร่วมกันได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตามความสามารถของคนแต่ละคนไม่เท่ากัน การมองให้เห็นคนคนหนึ่งหลายด้าน ไม่ใช่เรื่องที่ทุกคนจะทำได้ ขึ้นอยู่กับเนื้อแท้ของอารมณ์ความรู้สึกของคนคนนั้น

  \"ความรัก\" ทำให้คนตาบอดได้อย่างไร รู้ไว้จะได้ไม่ทุกข์
                ในสมัยโบราณจึงมีคำสอนไม่ให้ไปหมกมุ่นกับเรื่องใดเรื่องเดียว ให้ดำเนินชีวิตหลายด้าน ก็เพื่อจะไม่ทำให้จมอยู่เรื่องใดเรื่องหนึ่งมากเกินไป เช่น แม้จะกำลังตกหลุมรักกันปานจะกลืน แต่มันมีหน้าที่ต้องไปทำงาน ต้องดูแลพ่อแม่ญาติพี่น้อง ในขณะที่ทำหน้าที่นี้เอง เราจะได้มองเห็นข้อดีข้อเสีย ลักษณะอันเป็นที่น่าชื่นชมกับข้อจำกัดของกันและกัน ซึ่งเมื่อมีเวลาเราก็ค่อย ๆ ปรับใจกันไป การเรียนรู้ที่สำคัญคือการยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบดังที่กล่าวไปแล้ว

 
                ทั้งหมดของหัวใจถ้าอยู่ในห้วงแห่งรักแบบหลงใหล หากต้องการป้องกันปัญหาเรื่องการตัดสินใจ วิเคราะห์ผิดพลาดในขณะอารมณ์รักและลุ่มหลง ต้องปลูกฝังเรื่องการใช้สติปัญญาตั้งแต่วัยเด็ก หากฝึกมาดีมักจะช่วยเหลือในภาวะเช่นนี้ได้ นอกจากจะช่วยเหลือตนเองได้แล้ว หากเรามีคนรอบข้างหรือคนในครอบครัวตกอยู่ในสภาวะตกหลุมรักเช่นนี้ก็จะสามารถช่วยเป็นที่ปรึกษา และที่สำคัญคือเข้าใจภาวะที่เขากำลังเป็นอยู่ได้

 

"ความรัก" ทำให้คนตาบอด จึงไม่ใช่เรื่องของดวงตาที่บอดจากการมองเห็น หากแต่ว่า มันมืดบอดจาก สติ ปัญญาในการตัดสินใจ แก้ปัญหาบางอย่างที่เกิดจากความรักนั่นเอง

 

ที่มาบทความ : นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล 
นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

ขอบคุณ :นีรชา คัมภิรานนท์ เขียน 
เนื้อหาจาก รายการวิทยุครอบครัวคุยกัน  วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 20.30-22.00
FM105  วิทยุไทยเพื่อเด็ก เยาวชน และครอบครัว 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ