Lifestyle

เทียบชัดๆ “โสดกับมีคู่" แบบไหนเวิร์คกว่ากัน?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“โสดกับมีคู่” ในแง่ของอารมณ์และสุขภาพ พบว่ามีดีแตกต่างกันไป ขึ้นกับสุขภาพจิตและกาย ที่เป็นพื้นฐานของแต่ละคนด้วย

สุขภาพโดยรวมของใครดีกว่ากันระหว่าง "คนโสด" และ "คนมีคู่"

 

การมีสุขภาพที่ดีมีหลายปัจจัยประกอบกัน แม้ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนจากงานวิจัยหลายๆ ฉบับ แต่พบว่า การมีไลฟ์สไตล์ที่ดีจะช่วยส่งเสริมให้คนๆ นั้นมีสุขภาพที่ดีกว่าคนที่มีไลฟ์สไตล์บางอย่างที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ

 

มีงานวิจัยสำรวจสุขภาพของชาวออสเตรเลีย 15,001 คน ทั้งชายและหญิง โดยมี 74% มีคู่แล้ว พบว่า ผู้ที่มีคู่ จะมีโอกาสสูบบุหรี่น้อยกว่า ทานอาหารฟาสต์ฟู้ดน้อยกว่า ดื่มแอลกอฮอล์น้อยกว่า แต่ในส่วนของการเลือกทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพและน้ำหนักที่เกินมาตรฐาน ไม่แตกต่างกัน

 

ดังนั้นจากงานวิจัยให้ข้อสรุปว่า ในมิติของการเข้าสังคม "คนโสด" มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่เกิดจากไลฟ์สไตล์ที่กล่าวข้างต้นมากกว่า "คนมีคู่"

 

ความสุขของ "คนโสด" และ"คนมีคู่" ใครมีมากกว่ากัน

 

ความสุข ไม่มีนิยามที่ชัดเจน ส่วนมากเรามักนิยามกันว่า เป็นความพึงพอใจในชีวิต โดยมีทัศนคติเรื่องต่างๆ ในเชิงบวกมากกว่าเชิงลบ ซึ่งการมีทัศนคติที่ดี ขึ้นกับประสบการณ์ในอดีต การเลี้ยงดูจากครอบครัวและโรงเรียน เพื่อนหรือคนรอบข้างที่คอยช่วยเหลือ ให้เราเป็นคนที่ยืดหยุ่นหรือปล่อยวางได้มากน้อยแตกต่างกันไป

 

มีงานวิจัยจากประเทศอังกฤษ พบว่า ในช่วงอายุ 45 – 65 ปี ความสุขจากการเป็นโสดในผู้หญิงสูงถึง 32% ในขณะที่หนุ่มโสดมีเพียง 19% เพราะโดยธรรมชาติแล้ว ผู้หญิงจะรู้สึกละเอียดอ่อนและอ่อนไหวได้ง่ายกว่าผู้ชาย ผู้หญิงจะใช้ความพยายามอย่างหนักเพื่อสร้างหรือรักษาความสัมพันธ์ของการครองคู่ให้ยาวนาน แต่เมื่อผ่านจุดหนึ่งไปแล้ว ความพยายามที่มากเกินไปเหล่านั้น อาจทำให้เกิดความเบื่อหน่าย หลังจากผ่านจุดนั้นไป ทำให้ความกดดันในชีวิตต่างๆ ลดลง เช่น ไม่ต้องทำอาหารเผื่อใคร ไม่ต้องคิดเผื่อใคร ไม่มีความกดดัน กลับบ้านดึกได้ และไม่มีภาระใดที่ต้องกังวล รวมทั้งสามารถทำกิจกรรมต่างๆ หรือไปสังสรรค์กับเพื่อนๆ ได้

 

มีความรักทำให้สุขภาพดีจริงหรือ?

 

คำว่า “ความรัก” พูดเบาๆ ยังแอบเขิน ไม่ว่าจะรักคนในครอบครัว รักแฟน รักเขาข้างเดียว รักจริงหวังแต่ง หากได้รักกันแล้ว สิ่งที่ตามมาคือ การร่วมทุกข์ร่วมสุขไปด้วยกันจนแก่เฒ่า ถึงจะเรียกว่า รักที่สมบูรณ์แบบ

 

ในทางการแพทย์นั้น พบว่าในร่างกายมีฮอร์โมนหลายชนิดทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบในแต่ละขั้นของความรัก

 

ช่วงแรกพบ : ฮอร์โมนอะดรีนาลีน ซึ่งทำให้ใจเต้นเร็ว และหน้าแดง

ช่วงสานสัมพันธ์ : ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนและเอสโตรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชายและหญิงตามลำดับ ทำให้เกิดตัณหา ราคะ และความอยากที่จะมีเพศสัมพันธ์

ช่วงผูกพัน : ฮอร์โมนออกซิโตซิน ซึ่งจากการได้กอด สัมผัสกาย หรือการมีเซ็กส์ จะทำให้สมองหลั่งออกซิโตซินมากขึ้น เราจะรู้สึกผูกพัน เข้าอกเข้าใจคู่ชีวิตมากขึ้น มีความรักเดียวใจเดียว (โดยส่วนมาก บางคู่เฉพาะช่วงโปรโมชั่น ) อาจทำให้บางคน มีอาการถึงขนาดเพ้อ กินไม่ได้ นอนไม่หลับ

ช่วงตักเติมความสุข : ฮอร์โมนเอนดอร์ฟิน เป็นสารเคมีที่คล้ายมอร์ฟีนช่วยลดอาการปวดเมื่อกระตุ้นด้วยความรู้สึกในแง่บวก เป็นสารเคมีที่ทำให้สมองเกิดความรู้สึกดี และเป็นสารแก้ปวดตามธรรมชาติของร่างกาย จะถูกหลั่งเมื่อมีการออกกำลังกายต่อเนื่อง มีความเครียด และหลั่งมากที่สุดตอนเมื่อถึงจุดสุดยอดจากการมีเพศสัมพันธ์

ช่วงเรียนรู้อยู่ด้วยกัน : ฮอร์โมนเซโรโทนิน ในสมองและระบบประสาท เซโรโทนินมีหน้าที่ควบคุมความหิว ความอิ่ม การนอนหลับ อารมณ์ทางเพศ และความรู้สึกสุขสงบ ลดความก้าวร้าว เรามักนิยามว่าเป็นฮอร์โมน “คนพิเศษ” ทำให้เรารู้สึกเป็นคนสำคัญกับคนรัก ซึ่งหากมีมากไปอาจส่งผลให้วิตกกังวลง่าย คิดมาก มโนเก่ง อารมณ์แปรปรวน หากน้อยไป ส่งผลให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ หรือภาษาวัยรุ่นเรียกว่า “นอยด์เก่ง”

 

สรุปแล้ว การมีความรัก ส่งผลต่อการมีสุขภาพดีในทางอ้อม เพราะฮอร์โมนต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างมีความรัก ช่วยให้เราลดความตึงเครียดในชีวิตได้ 

 

มีงานวิจัยหนึ่งให้ความเห็นว่า ความเครียดมีผลทำให้เกิดความสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากถึง 43% แต่จะเกิดขึ้นเฉพาะในกลุ่มคนที่เชื่อว่า ความเครียดเป็นเรื่องอันตรายเท่านั้น สำหรับกลุ่มคนที่มีระดับความเครียดสูงแต่ไม่เชื่อว่ามันจะเป็นอันตรายกลับมีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตน้อย นักวิจัยจึงสรุปว่า ความเครียดเป็นอันตรายกับเรา เมื่อเราคิดว่ามันอันตราย แต่ถ้าเราคิดว่า มันสามารถเกิดขึ้นและเราจัดการได้ ปรับมุมมองได้ เราก็ไม่จำเป็นต้องกังวลว่าจะส่งผลต่อการเสียชีวิตด้วยโรคจากความเครียดให้เราไม่สบายใจไปเปล่าๆ

 

ดังนั้นจะเห็นว่า ความสุขไม่ได้มีความสัมพันธ์กับการเป็นโสดหรือการมีคู่ แต่ยังขึ้นกับหลายปัจจัยเกี่ยวข้องกันในตัวของบุคคลนั้นด้วย และเราก็ไม่ควรไปคาดหวังหรือฝาก ความสุข ไว้กับการมีคู่หรือไม่มีคู่ เพราะความสุขนั้นอาจจะอยู่กับเราไม่นาน และอาจมีความทุกข์ซ่อนอยู่ร่ำไป ถ้าเราไม่ได้รับการตอบสนองความสุขนั้นอยู่เรื่อยๆ

 

ที่มาข้อมูล : โรงพยาบาลสมิติเวช

logoline