ไลฟ์สไตล์

ศิลป์แห่งแผ่นดิน-วัดเขาดีสลัก

ศิลป์แห่งแผ่นดิน-วัดเขาดีสลัก

02 มี.ค. 2553

อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี มีอะไรให้จดจำ

 ผมคุ้นเคยกับถนนสายสุพรรณฯ-อู่ทอง-นครปฐม เพราะได้ใช้เส้นทางนี้บ่อยๆ ครั้งแรกเมื่อ 2525 ที่ผมขี่จักรยานเสือหมอบจากนครสวรรค์ไป(แสวง) หาอาจารย์ (พุทธทาส) ที่สวนโมกข์ ผมก็ใช้เส้นทางสายนี้มุ่งสู่นครปฐม พ.ศ.นั้น ถนนช่วง อ.อู่ทอง กำลังอยู่ระหว่างการขยายช่องทาง ผมขี่จักรยานเข้าถนนสายชนบท โดยหวังจะไปไหว้พระพุทธบาทวัดเขาดีสลัก แต่วาสนาไม่พอจึงไปไม่ถึง เพราะหาทางไม่เจอ

 เวลาผ่านไปกี่ปีหักนิ้วนับดู ผมเพิ่งได้ไปชมวัดเขาดีสลักเมื่อต้นปี 2553 นี่เอง โดยใช้เวลาช่วงเย็น หลังจากเสร็จกิจกรรมค่ายวรรณกรรมเยาวชนที่โรงเรียนวัดโภคาราม อ.อู่ทอง รอยพระพุทธบาท สมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 17-18) อยู่บนเขาลูกย่อม มีมณฑปแสนงาม เด่นตระหง่าน ศาลาจตุรมุขอยู่ด้านหน้า เป็นพุทธสถาปัตยาคารที่ก่อสร้างตกแต่งอย่างงดงามพิถีพิถัน รอยพระพุทธบาทนั้นทำด้วยหิน ลักษณะพิเศษคือมีตราธรรมจักรเล็กๆ เรียงอยู่ในช่องตารางเต็มพื้นที่ในรอยฝ่าพระพุทธบาท

 พื้นที่นี้อยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร มีเจ้าหน้าที่ประจำ บริเวณลานตัดบนเนินเขาเป็นที่ตั้งอาคารที่อาศัยกึ่งสำนักงานของเจ้าหน้าที่ มีลานกว้างสำหรับจอดรถ ใต้ต้นโพธิ์มีพระพุทธรูปปูนปั้นฝีมือช่างท้องถิ่นที่ “ไม่มีสกุล” หากแต่ปั้นด้วยศรัทธา จนได้ผลงานที่น่าตื่นตาตื่นใจ แม้ไม่งดงามตามแบบพุทธลักษณะสกุลช่างแห่งยุคสมัย แต่ยังความอิ่มเอิบใจเมื่อได้เห็นได้มอง ให้ความรู้สึกสะอาดสงบอย่างบริสุทธิ์

 บนเขาอีกลูกมีทางขึ้นไปสู่ “พระธาตุ” ซึ่งเป็นเพียงมูลดินที่ก่อสร้างองค์สถูปเล็กๆ ขึ้นครอบไว้ภายหลัง ไม่ปรากฏองค์พระธาตุแต่ประการใด มีเพียงเรื่องตำนานเล่าขานว่าในคืนอันสงบสงัด อาจมีใครบางคนที่จิตนิ่งสงบสะอาด ได้เห็นแสงเรืองรองพวยพุ่งขึ้นเหนือจอมดินนั้น

 เมื่ออยู่บนยอดเขาด้านบนจะมองเห็นมณฑป และศาลาจตุรมุขซึ่งประดิษฐานรอยพระพุทธบาทอยู่บนยอดเขาน้อยที่อยู่ถัดลงไป ลอยเด่นสง่าโดยมีทุ่งนา หย่อมย่านบ้านเรือนและหมู่ไม้กระจายตัวใกล้ไกล ขีดด้วยเส้นขอบฟ้าเป็นฉากหลัง ที่นี่เงียบสงบไม่พลุกพล่านจอแจ ไม่มีแม้กลิ่นธูปควันเทียน ไม่มีเสียงอึกทึก ไม่มีเสียงเหรียญหยอดลงตู้ ไม่มีเสียงเซาะแซะเขย่าเซียมซี...

 หากมีวาสนาคงได้มาเที่ยวงานประจำปีวัดเขาดีสลัก วัดเก่าแก่ที่งดงามนักแห่ง อ.อู่ทอง

ศักดิ์สิริ มีสมสืบ