Lifestyle

รู้จักวิธีสังเกตุ และป้องกัน อาการ "วุ้นตาเสื่อม"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การมองเห็นจุดดำหรือเงาดำ หรือวุ้นรูปร่างต่าง ๆ ลอยไปมาแว็บขึ้นมาทั้งที่อยู่ในที่มืด อาการเหล่านี้เกิดจากความเสื่อมของวุ้นตา หรือ "วุ้นตาเสื่อม"

วุ้นตาคืออะไร

"วุ้นตา" มีลักษณะเป็นเจลเหมือนไข่ขาวอยู่ภายในลูกตา อยู่แนบไปกับจอตา มีความใสและเป็นทางให้แสงผ่านไปสู่จอตาทำให้มองเห็นภาพได้

หากจะเปรียบเทียบลูกตาเป็นเหมือนกะลามะพร้าว
วุ้นตา ก็เปรียบเสมือนน้ำมะพร้าว
ส่วนจอตา ก็เปรียบเหมือนเนื้อมะพร้าว

เมื่ออายุมากขึ้นวุ้นตาจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ บางส่วนอาจกลายเป็นโพรงน้ำจากที่เดิมเคยเป็นเหมือนเจล บางส่วนก็มีการจับกันเป็นตะกอนเล็ก ๆ ขึ้น นอกจากนั้นยังอาจเกิดการลอกตัวของวุ้นตาออกจากจอตาได้
 

อาการของวุ้นตาเสื่อม 


สำหรับอาการของ "วุ้นตาเสื่อม" หากมองไปในที่ที่มีแสงสว่าง เช่น ฉากสีขาว หรือท้องฟ้าก็จะทำให้เกิดเงาของตะกอนวุ้นตาตกลงบนจอตา ผู้ป่วยจะเห็นเหมือนมีจุดดำเล็ก ๆ เหมือนลูกน้ำลอยไปลอยมาได้ หรือเมื่อมีการลอกตัวของวุ้นตาออกจากจอตา อาจเกิดการดึงรั้งขึ้นระหว่างวุ้นตากับจอตา เกิดการกระตุ้นจอตาซึ่งสมองจะแปลผลเป็นแสง ผู้ป่วยจึงเห็นเป็นเหมือนแสงวาบขึ้นมาได้ มีลักษณะเหมือนฟ้าแลบ หรือไฟแฟลชกล้องถ่ายรูป ซึ่งจะสังเกตได้ง่ายเมื่ออยู่ในที่มืด

 

โดยทั่วไปแล้ว วุ้นตาเสื่อม เป็นภาวะที่เป็นการเปลี่ยนแปลงของวุ้นตาไปตามธรรมชาติ ไม่มีอันตราย และ ไม่ต้องทำการรักษา จุดดำลอยไปลอยมาอาจคงอยู่ แต่สมองจะปรับตัวได้และชินไปเอง ส่วนอาการแสงวาบจะลดลงเรื่อย ๆ เมื่อวุ้นตากับจอตาลอกออกจากกันอย่างสมบูรณ์ ไม่เกิดการดึงรั้งกันอีก


อย่างไรก็ตาม พบได้บ้างนาน ๆ ครั้ง ที่วุ้นตากับจอตาเกิดการดึงรั้งกันจนจอตาขาดเป็นรู รูขาดที่จอตานี้อาจสมานไปได้เอง แต่ถ้าหากมีน้ำเซาะเข้าไปในรูจะทำให้เกิดจอตาลอกได้ ผู้ป่วยจะมีอาการเหมือนมีม่านดำมาบังลานสายตา ซึ่งต้องรักษาโดยการผ่าตัด
 

วุ้นตาเสื่อมอันตรายไหม


วุ้นตาเสื่อมเป็นการเปลี่ยนแปลงของวุ้นตาไปตามธรรมชาติ ส่วนใหญ่แล้วไม่มีอันตรายอะไร ไม่ต้องทำการรักษา มีเพียงส่วนน้อยที่มีภาวะแทรกซ้อนได้ 

 

แต่หากมีอาการจุดดำลอยไปมา โดยเฉพาะเมื่อร่วมกับมีแสงวาบ ควรมารับการตรวจจอตาโดยจักษุแพทย์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีสายตาสั้นมาก ๆ ซึ่งจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดรูขาดที่จอตามากกว่าคนปกติเล็กน้อย ดังนั้นแนะนำให้มาตรวจถ้ามีอาการ

 

ที่มาข้อมูล : สำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ

logoline