Lifestyle

ง่วงนอนตลอดเวลา อาจเพราะป่วย "ภาวะนอนมากไป"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หากเคยมีอาการ "ง่วงนอน" ตลอดเวลา พร้อมนอนได้ทั้งวัน เพิ่งตื่นได้ไม่นานก็ง่วงอีกแล้ว อาการที่นอกจากทำให้สลึมสลือเสียจนบุคลิกภาพ บางครั้งยังทำให้เสียการเสียงาน หรือหากง่วงช่วงขับรถก็อาจจะเกิดอันตรายได้

นอนมากเกินไป (Hypersomnia)

ปัญหาเรื่องการนอนนั้นมีทั้งการนอนไม่เพียงพอ หรือ การนอนมากเกินไป วันนี้เราจะทำความรู้จักเกี่ยวกับ "การนอนมากเกินไป"  ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ควรรีบมาพบแพทย์ คนที่มีภาวะนี้จะมีลักษณะที่ต้องการการนอนเพิ่มขึ้นทั้งในช่วงกลางวันและกลางคืน มีภาวะตื่นยากมากจากการนอน เมื่อตื่นแล้วก็รู้สึกว่าต้องการนอนต่อไปอีก ระหว่างวันก็ต้องการงีบหลับหลายๆ ครั้ง ในบางรายอาการงีบก็อาจเกิดขึ้นในเวลาที่ไม่เหมาะสม เช่น ขณะคุยกันก็ยังหลับได้ระหว่างกินอาหาร เป็นต้น ซึ่งหากพบมีอาการหรือมีคนใกล้ตัวที่มีอาการแบบนี้แนะนำควรรีบนำมาพบแพทย์เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่าง ๆ ตามมา

 

 

สาเหตุที่ทำให้มีอาการ "ง่วงนอนตลอดเวลา"

 

  • พฤติกรรมการนอนดึก  เพราะเมื่อเรานอนดึกแล้วต้องตื่นเช้าก็เป็นธรรมดาที่จะทำให้ร่างการอ่อนเพลีย จนส่งผลให้เกิดอาการง่วงนอนตลอดเวลาได้ และบางครั้งการนอนดึกตื่นสายก็ไม่ได้ช่วยอะไรเหมือนกัน เราจึงควรรู้ว่าช่วงอายุแบบเราควรนอนกี่ชั่วโมง ในช่วงกี่โมงถึงกี่โมงจึงจะพอดี 
     
  • ปัญหาสุขภาพจิต การที่เรามีสุขภาพจิตที่ไม่ดี มีอาการเบื่อหน่ายกับชีวิต หรือเกิดความเครียดที่สะสมจากงานที่ทำก็อาจส่งผลทำให้เราเกิดอาการอ่อนเพลีย ง่วงนอนตลอดเวลาได้เหมือนกัน

     
  • เป็นเพราะอาการของโรค โดยโรคที่จะทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย ง่วงนอนได้ตลอดเวลา อาทิ

    โรคโลหิตจาง สาเหตุของโรคโลหิตจางเกิดจากการขาดธาตุเหล็ก ซึ่งการขาดธาตุเหล็กนี้ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย เมื่อยล้า

    โรคอ่อนเพลียเรื้อรัง แพทย์จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ก็ต่อเมื่อมีอาการอ่อนเพลียรุนแรงติดต่อกันมามากกว่า 6 เดือนโดยผลตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่มีความผิดปกติใด

    โรคเบาหวาน อาการอ่อนเพลียจากโรคเบาหวานนี้เกิดจากการที่ร่างการมีระดับน้ำตาลสูง ซึ่งทำให้ร่างกายอ่อนเพลียได้

 

- เกิดจากผลข้างเคียงของยา ยาบางชนิดเช่นยาแก้อาการภูมิแพ้มีผลข้างเคียงทำให้ร่างการรู้สึกอ่อนเพลีย อยากนอน ซึ่งเราสามารถดูได้จากข้างฉลากยาว่ายาตัวไหนที่มีผลข้างเคียงแบบนี้บ้าง

 

- ความผิดปกติของการนอน การนอนที่มีอาการผิดปกติเช่น มีการหยุดหายใจขณะหลับ การนอนในเวลาที่เปลี่ยนไป หรือการนอนแปลกที่ หรือ การนอนในท่าที่ไม่สบายก็ทำให้หลับไม่สนิทได้เหมือนกัน

เทคนิคเพื่อให้นอนหลับได้ดีอย่างมีประสิทธิภาพ

  • พยายามตั้งเวลาเข้านอนไม่เกิน 4 ทุ่มเพื่อให้ร่างกายได้รับฮอร์โมนดีๆ ต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ซึ่งฮอร์โมนเหล่านี้จะช่วยให้หลับได้ดีรวมไปถึงทำให้ร่างกายมีการฟื้นฟูซ่อมแซมตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
     

  • กำหนดตารางเข้านอน และตื่นนอนเวลาเดียวกันทุก ๆ วัน ติดต่อกัน 28 วัน ร่างกายจะสร้างระบบนาฬิกาชีวิตของตัวเราเองขึ้นมาใหม่ จะตื่นได้เองอย่างสดชื่น
     

  • จัดห้องนอนให้โปร่ง อากาศระบายได้ดี ร่างกายที่ได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอจะทำให้สมองเซื่องซึม และง่วงนอนตลอดเวลา
     

  • ออกกำลังกาย นั่งสมาธิ สร้างออกซิเจนในเลือดให้มากขึ้น และยังทำให้ร่างกายแอ็คทีฟด้วย
     

  • งดอาหาร junk food น้ำอัดลม แป้งขัดขาว เบเกอรี่ ซึ่งทำให้น้ำตาลในเลือดไม่ปกติ ร่างกายคุมไม่ได้ ทำให้ง่วง เหนื่อย ตอนที่ระดับน้ำตาลตก
     

  • ก่อนเข้านอน 4 ชั่วโมงควรงดอาหารหนัก ๆ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ