ในชีวิตของคนเราถือว่าพ่อ-แม่ เป็นผู้มีพระคุณสูงสุด เพราะท่านเป็นผู้ให้กำเนิด และยังถือว่าเป็น "ครู" คนแรก ต่อมาเมื่อเข้าโรงเรียนก็มี "ครู" เป็นผู้อบรมสั่งสอนถ่ายทอดวิชาความรู้ให้ รวมทั้งให้ความรัก ความเมตตา จึงนับได้ว่า "ครู" เป็นผู้เสียสละ และเป็นเสมือนพ่อ-แม่คนที่สอง
"ครู" จึงนับเป็นปูชนียบุคคลที่มีความสำคัญอย่างมาก ในการให้การศึกษาเรียนรู้ทั้งในด้านวิชาการและประสบการณ์ ตลอดจนเป็นผู้มีความเสียสละ ดูแลเอาใจใส่ สั่งสอนอบรมให้เด็กได้พบกับแสงสว่างแห่งปัญญา อันเป็นหนทางแห่งการประกอบอาชีพเลี้ยงดูตัวเอง รวมทั้งนำพาสังคม ประเทศชาติ ก้าวไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง จึงกำหนดให้วันที่ 6 ตุลาคม เป็น "วันครูสากล" เพื่อยกย่องคนที่เป็นครูทั่วโลกที่เสียสละนำพาเราทุกๆ คนไปถึงฝั่งฝันนั่นเอง
ประเทศที่มีวันครู
- อินเดีย วันครูตรงกับวันที่ 5 กันยายน
- มาเลเซีย วันครูตรงกับวันที่ 16 พฤษภาคม
- ตุรกี วันครูตรงกับวันที่ 24 พฤศจิกายน
- แอลเบเนีย วันครูตรงกับวันที่ 7 มีนาคม
- จีน วันครูตรงกับวันที่ 10 กันยายน
- สาธารณรัฐเช็ก วันครูตรงกับวันที่ 28 มีนาคม
- อิหร่าน วันครูตรงกับวันที่ 2 พฤษภาคม
- ลาตินอเมริกา วันครูตรงกับวันที่ 11 กันยายน
- โปแลนด์ วันครูตรงกับวันที่ 14 ตุลาคม
- รัสเซีย วันครูตรงกับวันที่ 5 ตุลาคม
- สิงคโปร์ วันครูตรงกับวันที่ 1 กันยายน
- สโลวีเนีย วันครูตรงกับวันที่ 28 มีนาคม
- เกาหลีใต้ วันครูตรงกับวันที่ 15 พฤษภาคม
- ไต้หวัน วันครูตรงกับวันที่ 28 กันยายน
- เวียดนาม วันครูตรงกับวันที่ 20 พฤศจิกายน
- สหรัฐอเมริกา วันอังคารในสัปดาห์แรกที่เต็ม 7 วัน ในเดือนพฤษภาคม
สำหรับประเทศไทย "วันครู" มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2500 สืบเนื่องมาจากการประกาศพระราชบัญญัติครู ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อปี พ.ศ. 2488 ซึ่งระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการ เรียกว่า คุรุสภา เป็นนิติบุคคล ให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา โดยมีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครู ในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ให้ความเห็นเรื่องนโยบายการศึกษาและวิชาการศึกษาทั่วไปแก่กระทรวงศึกษาธิการ ควบคุมจรรยาและวินัยของครู รักษาผลประโยชน์ ส่งเสริมฐานะของครู จัดสวัสดิการให้ครูและครอบครัวให้ได้รับความช่วยเหลือตามสมควร ส่งเสริมความรู้และความสามัคคีของครู
ทุกปีคุรุสภาจะจัดให้มีการประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนครูทั่วประเทศแถลงผลงานในรอบปีที่ผ่านมา และซักถามปัญหาข้อข้องใจต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของคุรุสภา โดยมีคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาเป็นผู้ตอบข้อสงสัย สถานที่ในการประชุมสมัยนั้นใช้หอประชุมสามัคยาจารย์ หอประชุมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในระยะหลังใช้หอประชุมคุรุสภา
พ.ศ.2499 ในที่ประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติศักดิ์ในขณะนั้น ได้กล่าวคำปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศว่า
"ที่อยากเสนอในตอนนี้ก็คือว่า เนื่องจากผู้เป็นครูมีบุญคุณ เป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่า วันครู ควรมีสักวันหนึ่งสำหรับให้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายได้แสดงความเคารพสักการะ เพราะเหตุว่าถ้าถึงวันตรุษ วันสงกรานต์ เราก็นำเอาอัฐิของผู้มีพระคุณบังเกิดเกล้ามาทำบุญ ทำทาน คนที่สองรองลงไปก็คือครูผู้เสียสละทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าในโอกาสนี้จะขอฝากที่ประชุมไว้ด้วย ลองปรึกษาหารือกันในหลักการ ทุกคนคงจะไม่ขัดข้อง"
จากแนวความคิดนี้ กอปรกับความเห็นของครูที่แสดงออกทางสื่อมวลชนและอื่นๆ ที่ล้วนเรียกร้องให้มี "วันครู" เพื่อให้เป็นวันแห่งการรำลึกถึงความสำคัญของครูในฐานะที่เป็นผู้เสียสละ ประกอบคุณงามความดีเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นอันมาก ในปีเดียวกันที่ให้มีวันครูเพี่อเสนอคณะกรรมการอำนวยการต่อไป โดยได้เสนอหลักการว่า เพื่อจะได้ประกอบพิธีระลึกถึงคุณบูรพาจารย์ ส่งเสริมความสามัคคีธรรมระหว่างครู และเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างครูกับประชาชน
คณะมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2499 ให้ วันที่ 16 มกราคม ของทุกปี เป็น "วันครู" โดยถือเอาวันที่ประกาศพระราชบัญญัติครู ในราชกิจจานุเบกษา
ที่มาข้อมูล : https://th.wikipedia.org/
ภาพ : https://pixabay.com/
ข่าวที่เกี่ยวข้อง