Lifestyle

การติดเชื้อ การรักษา "ซิฟิลิส" โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่อาจเสียชีวิตได้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ซิฟิลิส" โรคใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ทรีโพนีมาพาลลิดัม (Treponema pallidum) เมื่อได้รับเชื้อจะกระจายไปตามกระแสโลหิต ทำให้เกิดพยาธิสภาพได้เกือบทุกอวัยวะ

"ซิฟิลิส" โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

"ซิฟิลิส" เกิดจากเชื้อ ทรีโปนีมาพาลลิดัม (Treponema pallidum) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่เกิดจากการมี "เพศสัมพันธ์" โดย "ไม่ป้องกัน" ด้วยการใส่ "ถุงยางอนามัย" เชื้อโรคสามารถติดผ่านจากคนสู่คนโดยการสัมผัสโดยตรงกับแผลซิฟิลิส ซึ่งแผลนี้จะอยู่บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอก ช่องคลอด ปากทวารหนัก หรือที่ทวารหนัก

 

รูปร่างของแบคทีเรีย ทรีโพนีมาพาลลิดัม ที่ทำให้เกิดโรคซิฟิลิส มีลักษณะเป็นเกลียว

 

แผลซิฟิลิสจะขึ้นที่ไหน

แผลอาจได้เกิดที่ริมฝีปาก และ ในช่องปาก เชื้อติดต่อขณะมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือทางปาก สตรีที่ตั้งครรภ์สามารถนำเชื้อนี้ไปให้ทารกในครรภ์ได้ แต่เชื้อนี้จะไม่สามารถติดต่อการนั่งโถส้วม ลูกบิดประตู สระว่ายน้ำ อ่างอาบน้ำ เสื้อผ้า หรือช้อนส้อมได้อย่างที่หลายคนเชื่อกัน 

 

หลายคนติดโรคแต่ไม่มีอาการเป็นปี ซึ่งจะมีโอกาสเป็นซิฟิลิสระยะสุดท้าย และมีภาวะแทรกซ้อนหากไม่ได้รับการรักษา เพราะเป็นไปได้ว่าโรคนี้จะไม่แสดงอาการได้หลายปี แต่ถ้าไม่รักษาโรคก็จะลุกลามไปทำลายอวัยวะอื่น ๆ เช่น หัวใจ หลอดเลือด ระบบประสาท กระดูก ทำให้พิการ และ อาจเสียชีวิตได้

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคซิฟิลิส

การจะพิสูจน์ว่าเป็นซิฟิลิสนั้นสามารถทำโดยนำน้ำเหลืองจากแผล หรือผื่นที่ปรากฏบนตัวผู้ป่วยไปส่องกล้อง เพื่อหาตัวเชื้อโรค หรืออาจจะเจาะเลือดเพื่อตรวจหาภูมิต่อเชื้อซิฟิลิสก็ได้

ตรวจเลือดหลังจากติดเชื้อแล้ว ร่างกายจะสร้างโปรตีนขึ้นมาทำให้สามารถตรวจได้ และแม้ให้การรักษาครบไปแล้วก็ยังสามารถตรวจพบได้นานเป็นเดือน ๆ หรือเป็นปี ๆ

 

  • ระยะแรก สังเกตได้จากการมีแผลที่เป็นแผลเดียว หรืออาจมีหลายแผลได้ ระยะเวลาตั้งแต่ติดโรคจนเกิดอาการใช้เวลานาน 10-90 วัน เฉลี่ยอยู่ที่ 21 วัน แผลไม่นิ่ม กลม ขนาดเล็ก ไม่เจ็บ ขอบยกนูนแข็ง จึงมีอีกชื่อคือ "แผลริมแข็ง"

การติดเชื้อ การรักษา "ซิฟิลิส" โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่อาจเสียชีวิตได้

 

  • ระยะที่สอง จะมีผื่นตามผิวหนังและเยื่อบุ ผื่นเกิดตามร่างกายหนึ่งหรือสองแห่ง ไม่คัน อาจเกิดขณะที่แผลริมแข็งกำลังจะหาย หรือหลังจากหายไปแล้ว 2 - 3  สัปดาห์ ผื่นมีลักษณะสีแดง หรือจุดน้ำตาลแดง อาจเกิดที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า อาการอื่นที่อาจเกิดได้แก่ มีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต เจ็บคอ ผมร่วงเป็นหย่อม ๆ ปวดศีรษะ น้ำหนักลด ปวดกล้ามเนื้อ ไม่มีแรง

 

  • ระยะแฝง และ ระยะสุดท้าย ระยะแฝงเริ่มต้นหลังจากไม่ได้รับการรักษาระยะหนึ่งและระยะสองผ่าน เพราะเชื้อจะยังคงอยู่แม้ไม่แสดงอาการ ระยะแฝงของซิฟิลิสจะอยู่นานเป็นปี ๆ และบางรายจะแสดงอาการแม้จะผ่านไปแล้ว 10-20 ปี หลังจากที่ได้รับเชื้อ ในระยะท้ายของโรคซิฟิลิสเชื้อจะค่อย ๆ ทำลายอวัยวะภายในร่าย ได้แก่ สมอง เส้นประสาท ตา หัวใจ เส้นเลือด ตับ กระดูก ข้อ อาการของโรคระยะสุดท้ายอาจมีตั้งแต่การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อที่ไม่สัมพันธ์กัน อัมพาต ชา ตาค่อย ๆ บอด สมองเสื่อม และอาจรุนแรงจนถึงขึ้นเสียชีวิต

วิธีป้องกันซิฟิลิส

  • มีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย ด้วยการใช้ถุงยางอนามัย
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสแผลซิฟิลิส คู่นอนอาจมีแผลที่ปาก ลิ้น อวัยวะเพศ ดังนั้นอาจติดเชื้อได้จากการ จูบ หรือทำ Oral sex
  • การทราบสถานะการติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆของคู่นอน เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการตัดสินใจมีเพศสัมพันธ์
  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมทั้งซิฟิลิส ไม่สามารถป้องกันได้ ด้วยการล้างอวัยวะเพศ การปัสสาวะ หรือสวนล้างช่องคลอดหรือทวารหนักทันที หลังมีเพศสัมพันธ์
  • ไปพบแพทย์เสมอเมื่อมีอาการผิดปกติ 

 

 

ควรปฏิบัติอย่างไรเมื่อเป็นโรคซิฟิลิส  

  • ทันทีที่สงสัยว่าเป็นซิฟิลิส ควรพบแพทย์ตรวจวินิจฉัยโดยเร็ว ขณะเดียวกันควรหลีกเลี่ยงจากการร่วมเพศ
  • โรคซิฟิลิสจะรักษาให้หายขาดได้ต้องอาศัยยาต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์
  • เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในระยะปลายของโรคซิฟิลิส ควรยึดหลักบำรุงสุขภาพทั่วไปให้แข็งแรงดังนี้
     

- อาหารต้องประกอบด้วยข้าว ผลไม้ ถั่วต่างๆ และผัก รวมทั้งนมและไข่

- งดเว้นจากสุรา บุหรี่ และสิ่งกระตุ้นทั้งปวง ตลอดจนน้ำชา กาแฟ และอาหารเผ็ดร้อนต่าง ๆ

- ดื่มน้ำมาก ๆ

- นอนพักผ่อนให้มาก และออกกำลังกาย

- อาบน้ำบ่อยๆ อาบน้ำอุ่นก่อนนอนสัปดาห์ละ 2 - 3 ครั้ง

 

 

การรักษาโรคซิฟิลิส

โรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้โดยการรับประทานยาปฏิชีวนะ เพนนิซิลลิน เป็นเวลา 1 - 3 สัปดาห์ ทั้งนี้ระยะเวลาการรักษาขึ้นกับระยะของโรคที่เป็นด้วย และหากผู้ป่วยมีคู่สมรสก็ควรได้รับการรักษาคู่กัน และหลังจากรักษาไปแล้ว 6 เดือน ต้องตรวจซ้ำในทุกๆ ปี เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ

 

 

ที่มาข้อมูล: โรงพยาบาลเปาโล
www.doctorraksa.com/th-TH

logoline