Lifestyle

ปวดศอก แขน ข้อมือ ต้องรักษา "โรคเอ็นข้อศอกด้านนอกอักเสบ"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อาการของ "โรคเอ็นข้อศอกด้านนอกอักเสบ" (Tennis Elbow) มักไม่รุนแรง หากอาการทวีความรุนแรงแล้วไม่ไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาอย่างเหมาะสม อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอันตรายขึ้น เช่น เส้นเอ็นบาดเจ็บ เอ็นข้อมือฉีกขาด

Tennis Elbow หรือ  "โรคเอ็นข้อศอกด้านนอกอักเสบ" 

เป็นการอักเสบของเอ็นกล้ามเนื้อบริเวณแขนท่อนล่างด้านนอก ก่อให้เกิดอาการปวดบวมบริเวณข้อศอก แขนท่อนล่าง หรือข้อมือ ส่วนใหญ่เป็นโรคที่พบในนักเทนนิส นักกีฬาอาชีพอื่น ๆ และผู้ที่ต้องเหยียดแขนหรือกระดกข้อมือซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน

 

ปวดศอก แขน ข้อมือ ต้องรักษา "โรคเอ็นข้อศอกด้านนอกอักเสบ"

 

อาการของ "โรคเอ็นข้อศอกด้านนอกอักเสบ" 

ผู้ป่วยมักเจ็บปวดและมีอาการบวมบริเวณข้อศอกด้านนอก บางรายก็ปวดแขนท่อนล่าง หลังมือ หรือข้อมือร่วมด้วย โดยอาการปวดขึ้นอยู่กับความรุนแรงในการได้รับบาดเจ็บ ซึ่งอาจปวดเล็กน้อยเฉพาะตอนขยับข้อมือและแขน หรือปวดมากอยู่ตลอดเวลา อาการปวดดังกล่าวอาจส่งผลให้ผู้ป่วยทำกิจวัตรประจำวันได้ยากลำบาก หรือปวดมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะเวลาเคลื่อนไหวข้อมือและแขนส่วนล่าง เช่น หยิบจับสิ่งของ จับมือทักทาย ยกของ งอแขน หรือถือถ้วยกาแฟ เป็นต้น ซึ่งอาการของโรคอาจเป็นอย่างต่อเนื่องได้นาน 6 เดือนไปจนถึง 2 ปี

 

อย่างไรตาม หากอาการปวดหรือบวมไม่หายไปหลังจากดูแลตนเองในเบื้องต้น แล้ว เช่น รับประทานยาแก้ปวด หรือลองหยุดพักการใช้งานกล้ามเนื้อบริเวณนั้น  ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ เพราะอาการปวดลักษณะนี้มีความคล้ายคลึงกับโรคอื่น ๆ ได้เช่นกัน

สาเหตุของ "โรคเอ็นข้อศอกด้านนอกอักเสบ" 

Tennis Elbow เกิดจากการใช้งานแขนส่วนล่างซ้ำ ๆ หรือต่อเนื่องเป็นเวลานาน บางรายอาจเป็นผลมาจากการบาดเจ็บอย่างฉับพลัน ทำให้เส้นเอ็นแขนบริเวณที่ยึดเกาะกับปุ่มกระดูกด้านข้างข้อศอกเกิดการบาดเจ็บและอักเสบตามมา โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการเล่นกีฬา โดยเฉพาะการตีลูกเทสนิสหรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้งานกล้ามเนื้อส่วนนั้นบ่อย ๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น วาดภาพ ตัดกระดาษ ขันน็อต ทำสวน เล่นไวโอลิน เป็นต้น แต่ก็อาจมีส่วนน้อยที่ไม่ทราบสาเหตุของอาการปวดอย่างแน่ชัด

 

 

ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่นำไปสู่ "โรคเอ็นข้อศอกด้านนอกอักเสบ"  ดังนี้

  • มีอายุระหว่าง 30-50 ปี แต่โรคนี้ก็สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย
  • ประกอบอาชีพที่ต้องใช้แขนและข้อมือในลักษณะเดิมซ้ำ ๆ เช่น ช่างประปา นักวาดรูป ช่างไม้ คนทำอาหาร ช่างก่อสร้าง เป็นต้น
  • เล่นกีฬาบางชนิด เช่น เทนนิส แบดมินตัน สควอช พุ่งแหลน เป็นต้น ซึ่งต้องใช้กล้ามเนื้อแขนส่วนล่างและข้อมือซ้ำ ๆ เป็นประจำ หรือเล่นกีฬาเหล่านั้นด้วยท่าที่ไม่เหมาะสม

 

 

 

การรักษาโรคเอ็นอักเสบข้อศอกด้านนอก

ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติจากการรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด โดยทั่วไปอาการมักดีขึ้นได้เอง โดยระยะเวลากว่าจะหายดีอาจนานเป็นสัปดาห์ไปจนถึงหลายเดือน เพราะเส้นเอ็นเป็นอวัยวะที่ฟื้นฟูได้ช้า ระหว่างนี้ แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยดูแลตนเองเบื้องต้นด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้

หยุดพักแขนชั่วคราว ผู้ป่วยควรงดทำกิจกรรมหรือเล่นกีฬาที่เป็นสาเหตุของโรค พยายามเคลื่อนไหวแขนและข้อมือให้น้อยลงเพื่อให้เอ็นและกล้ามเนื้อได้พัก โดยอาจต้องหยุดพักนานหลายสัปดาห์

รับประทานยาแก้ปวด สามารถรับประทานยาในกลุ่ม NSAIDs เพื่อช่วยลดอาการปวดบวมได้ เช่น ยาแอสไพริน ยาไอบูโพรเฟน ยานาพรอกเซน เป็นต้น

ประคบน้ำแข็ง ประคบเย็นด้วยน้ำแข็งหรือเจลประคบเย็นนาน 15 นาที วันละ 3-4 ครั้ง

ใช้อุปกรณ์พยุงแขน เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ช่วยในการประคองแขน และจำกัดการเคลื่อนไหวให้อยู่ในท่าทางที่ปลอดภัย ซึ่งช่วยให้เอ็นหรือกล้ามเนื้อได้พักฟื้นชั่วคราวและลดอาการปวดได้

ทั้งนี้ หากดูแลตนเองในเบื้องต้นแล้วอาการไม่ทุเลาลงหรือทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น แพทย์อาจต้องรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น กายภาพบำบัด การฉีดยาบรรเทาอาการปวด การรักษาด้วยคลื่นกระแทก หรือ การผ่าตัด

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ