เลิกแหย่เด็ก หยุดความเคยชินของผู้ใหญ่ ที่มีผลต่อจิตใจของเด็ก
"การแหย่เด็ก" ไม่ใช่สิ่งดี หากแต่เป็นผลร้ายในจิตใจเด็ก ๆ มากกว่า เพราะการหยอกล้อโดยไม่คิดอะไรเลย จะก่อให้เกิดปมในใจของเด็ก ๆ ที่ถูกล้อ และส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านจิตใจ อารมณ์ และพฤติกรรมการเข้าสังคมของเด็ก
เชื่อว่าคุณผู้อ่านหลายคนคงเคยเจอเหตุการณ์ "แหย่เด็ก" ของบุคคลใกล้ตัว หรือแม้นกระทั่งตัวคุณเองก็เถอะ อาจมีหลวมตัวแหย่ หยอกล้อเล่นกับเด็ก ๆ ในวัยอนุบาล วัยเด็กเล็กและเด็กโต อยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นการ พูดเรื่องรูปร่าง หน้าตา จนไปถึงการแย่งของหรือขัดใจ
คุณรู้หรือไม่ว่าพฤติกรรมการ "แหย่เด็ก" นั้นไม่ได้เป็นสิ่งดี หากแต่เป็นผลร้ายในจิตใจเด็ก ๆ มากกว่า เพราะการหยอกล้อโดยไม่คิดอะไรเลย จะก่อให้เกิดปมในใจของเด็ก ๆ ที่ถูกล้อ และส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านจิตใจ อารมณ์ และพฤติกรรมการเข้าสังคมของเด็กดังนี้
1.ขาดความมั่นคงทางอารมณ์ การถูกเย้าแหย่ที่เกินเลยในเรื่องรูปร่างหน้าตา เอาของไปซ่อน หลอกผี มักทำให้เด็กรู้สึกคับข้องใจ
เนื่องจากเรื่องที่ตัวเองไม่พอใจมักถูกมองเป็นเรื่องสนุก และเป็นที่ขบขันของคนอื่น และด้วยความเป็นเด็กที่ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ด้วยตัวเองจึงอยู่ในภาวะความเครียด และกดดัน ความมั่นคงทางอารมณ์สะท้อนออกมาในการตอบสนองต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เข้ามาในชีวิต
เด็กที่ตกอยู่ในภาวะความเครียด และกดดัน หรือมีความฝังใจเรื่องใด ๆ ก็ไม่สามารถรับมือหรือจัดการเรื่องอารมณ์ได้ อาจแสดงออกมาในรูปแบบที่ฉุนเฉียว โมโหง่าย บางคนอยู่กับความกลัววิตกกังวล จมอยู่กับความทุกข์ใจ ซึ่งล้วนแล้วส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก
2.ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง เด็กที่ถูกล้อเลียนเกี่ยวกับความสามารถหรือรูปร่างหน้าตาของเด็ก เช่น การบ้านง่าย ๆ แค่นี้ทำไม่ได้ เด็กอนุบาลยังทำได้เลย หรือ เจ้าอ้วนตุ๊ต๊ะ ทำอะไรก็เชื่องช้าเป็นหมู สิ่งเหล่านี้เป็นคำพูดที่ทำให้เด็กดูด้วยค่า ทำให้เด็กคิดว่าตัวเขาเองทำอะไรไม่ได้ดีเหมือนคนอื่น ทำให้เด็กคิดว่าไม่ได้ความรักและความหวังดีจากผู้ใหญ่
เมื่อโตขึ้นเด็กเหล่านี้จะมีมุมมองตัวเองในด้านลบและวิตกกังวลตลอดเวลา รวมถึงการขาดแรงจูงใจในการเรียน เพราะเรียนไปก็สู้คนอื่นเขาไม่ได้ และจะทำตัวแปลกแยก ออกห่างจากสังคม อาจมีพฤติกรรมต่อต้านสังคม ทำร้ายตัวเอง และคนอื่น หรืออาจหันไปใช้ยาเสพติดเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับตนเอง
3.มีพฤติกรรมเลียนแบบ เด็กเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ จากครอบครัว หากคุณพ่อคุณแม่ รวมไปถึงคนใกล้ชิดกับเด็ก มีพฤติกรรมที่ชอบหยอกล้อเด็กอยู่เป็นประจำ เด็กมีโอกาสซึมซับพฤติกรรมนั้น ๆ และติดเอาพฤติกรรมนั้นมามาใช้และหยอกล้อคนอื่น ๆ โดยเห็นและคิดว่าสิ่ง ๆ นั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ใคร ๆ ก็ทำ
ปัญหาอยู่ที่เด็กยังไม่โตพอที่จะรู้ว่าสิ่งที่หยอกล้อนั้นมันไม่ถูกไม่ควร ซึ่งอาจโดนมองว่าเด็กคนนั้นก้าวร้าว อาจนำไปสู่การกระทำที่เกินเลยและน่ารำคาญที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ในอนาคตอีกด้วย การหยอกล้อมีส่วนช่วยเรื่องความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ แต่ก็ต้องคำนึงถึงรูปแบบและความเหมาะสมด้วย เพื่อไม่ให้มีผลต่อจิตใจของเด็ก
ที่มาบทความ กรมสุขภาพจิต https://mgronline.com/qol/detail/9620000016647