
เปิดประวัติ "บุฟเฟ่ต์" เพราะปีใหม่ หรือ เทศกาลไหน เราก็กิน "บุฟเฟ่ต์"
"บุฟเฟ่ต์" เคยสงสัยไหมว่าชาบูชาบู ปิ้งย่าง หรือซาชิมิ ที่เรากินกันไม่อั้นมีต้นกำเนิดมาจากไหน ถ้าบอกว่าเราถอดแบบมาจาก โจรสลัด คุณผู้อ่านจะเชื่อไหม?
ไม่ว่าจะเทศกาลปีใหม่ หรือเทศกาลไหน ๆ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการกินอาหารแบบ "บุฟเฟต์" จัดว่ายืนหนึ่งเรื่องความนิยมในเมืองไทยของเรา ที่ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็จะเห็นร้านอาหารประเภทนี้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะหมูกระทะ ชาบู หรือแม้ขนมจีน ขนม และ ผลไม้ ตามแต่ไอเดีย โดยกลยุทธ์หลักของการกิน บุฟเฟ่ต์ คือ การกินได้ไม่อั้น กินอะไรก็ได้ ด้วยการเหมาจ่ายครั้งเดียว ส่วนลูกค้าก็มักจะไปกินเนื่องจากเพลิดเพลินจากตัวเลือกอาหารที่มากมาย
ต้นกำเนิดของ "อาหารบุฟเฟต์"
ต้นกำเนิดการกินอาหารแบบ "บุฟเฟต์" ถือกำเนิดมาจากประเทศสวีเดน ตั้งแต่ใน "ยุคไวกิ้ง"
ซึ่งชาวไวกิ้งได้ถูกขนานนามว่า "โจรสลัดแห่งยุโรป" ซึ่งเป็นชนเผ่าที่เรืองอำนาจในขณะนั้น ชาวไวกิ้งจะชำนาญและเชี่ยวชาญในการเดินเรือในท้องทะเล ซึ่งพวกเขาใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่บนเรือที่แล่นอยู่ในทะเลอันกว้างใหญ่ ดำรงชีวิตอยู่โดยการซื้อขายสินค้าและปลันสดมถ์เป็นหลัก ดังนั้นเมื่อขึ้นฝั่งในแต่ละครั้ง ชาวไวกิ้งก็จะสั่งอาหารมาจำนวนมาก ๆ หลากชนิดไว้บนโต๊ะ และให้แต่ละคนมาตักใส่จานกันตามใจชอบ
การทานอาหารในรูปแบบของชาวไวกิ้งจึงเป็นที่มาของวัฒนธรรมการทานอาหารแบบบุฟเฟต์
แล้วคำว่า "บุฟเฟต์" นั้นมีที่มาจากไหน...
คำว่าบุฟเฟต์นั้นมีที่มาจากภาษาฝรั่งเศส "Buffet" ซึ่งหมายถึงวัฒนธรรมการทานอาหาร "แบบบริการตนเอง" และกลายมาเป็นวัฒนธรรมการกินที่แพร่หลายในปัจจุบัน ซึ่งยังคงมีลักษณะในการทานแบบบริการตนเองดังเดิม แต่เพิ่มเติมคือมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า All you can eat หรือ กินได้มากตามที่ใจต้องการ เพียงแต่มีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น และร้านส่วนมากในมักจะคิดค่าส่วนต่างหากลูกค้าไม่สามารถกินได้ตามที่ตักหรือสั่งมาไว้บนโต๊ะ
ประเภทของอาหาร บุฟเฟ่ต์ ก็ได้ถูกประยุกต์ไปตามแต่ละพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นบุฟเฟต์อาหารนานาชาติในโรงแรม บุฟเฟต์อาหารญี่ปุ่น ชาบูชาบู ปิ้งย่าง บุฟเฟต์อาหารไทย หรือแม้แต่ของหวาน ไม่ว่าจะ บุฟเฟ่ต์ไอศครีม หรือ บุฟเฟ่ต์ผลไม้สุดฮิตอย่างทุเรียน เงาะ มังคุด