Lifestyle

"ถุงน้ำในรังไข่หลายใบ" ภาวะของสาว นน.เกิน หรือ ประจำเดือนมาไม่ปกติ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ น้ำหนักเกิน หน้ามัน ฮอร์โมนเพศชายเกิน อาจเสี่ยง "ถุงน้ำในรังไข่หลายใบ" ส่งผลต่อหญิงวัยเจริญพันธุ์ให้มีบุตรยาก

"ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ" คืออะไร?
 

ภาพอัลตร้าซาวด์ถุงน้ำในรังไข่หลายใบ
 

ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ หรือ PCOS (Polycystic ovary syndrome) ระบบฮอร์โมน มีลักษณะคือ พบถุงน้ำหลายใบภายในรังไข่ และมีอาการแสดงของโรคแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล โดยภาวะนี้ถือเป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะมีบุตรยากในเพศหญิง รวมถึงทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ การคลอดก่อนกำหนด และการเป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์อีกด้วย

ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ เกิดจากอะไร

ปัจจุบันยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ แต่อาจอธิบายสาเหตุจากอาการผิดปกติที่พบได้ ดังนี้

 

  • ฮอร์โมนแอนโดรเจนสูง (Hyperandrogenemia)

คือภาวะที่ผู้หญิงมีฮอร์โมนแอนโดรเจน (ฮอร์โมนเพศชาย) มากเกิน ทำให้แสดงลักษณะคล้ายกับเพศชาย ได้แก่ ขนขึ้นเยอะ (บริเวณหน้าอก หลัง ริมฝีปาก ต้นแขน ต้นขา) เป็นสิว ผิวมัน ศีรษะล้าน และมีกล้ามเนื้อเหมือนเพศชาย ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้มาพบแพทย์มากที่สุด

 

  • ภาวะดื้อต่ออินซูลิน (Insulin resistance)

ภาวะดื้อต่ออินซูลินจะมีอาการคล้ายกับโรคเบาหวานชนิดที่ 2 กล่าวคือ เมื่อร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินลดลง น้ำตาลในเลือดจึงสูง ทำให้ร่างกายผลิตอินซูลินออกมามากขึ้น เมื่อระดับอินซูลินในร่างกายสูงกว่าปกติจะส่งผลให้รังไข่ถูกกระตุ้นและผลิตฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนออกมามากเกินไป ซึ่งจะไปรบกวนการตกไข่และทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ นอกจากนี้ ภาวะดื้อต่ออินซูลินยังเป็นสาเหตุให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น เกิดการสะสมไขมัน เสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนอีกด้วย
 

  • พันธุกรรม (Heredity)

มีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า บางครอบครัวที่มารดามีภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ ลูกสาวก็จะมีภาวะนี้ด้วย แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีการศึกษาที่แน่ชัดว่าภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้

ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ มีอาการอย่างไร

อาการแสดงของภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ จะแตกต่างกันไปในแต่ละคน

  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ เช่น ประจำเดือนไม่มาติดต่อกันนานหลายเดือน ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ประจำเดือนมานานและอาจมามากหรือน้อยผิดปกติ
     
  • ขนดก  ที่แขน ขา ตามลำตัว มีหนวด เนื่องจากมีฮอร์โมนเพศชายสูง
     
  • เป็นสิว ผิวมัน เนื่องจากเป็นภาวะที่มีฮอร์โมนเพศชายสูง ทำให้มีการสร้างไขมันที่ผิวหนังเพิ่มขึ้น เมื่อเกิดการอักเสบจึงกลายเป็นสิวตามมา
     
  • ศีรษะล้าน ผมบาง จากอิทธิพลของฮอร์โมนเพศชาย
     
  • ภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน 
     
  • ไข่ไม่ตก มีบุตรยาก เนื่องจากมีความไม่สมดุลของฮอร์โมนเพศ ประกอบกับเป็นประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ จึงส่งผลให้มีบุตรยาก
     
  • ตรวจพบถุงน้ำในรังไข่ (Cysts in ovary)

 

 

แนวทางการรักษาภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ

การรักษาแบบไม่ใช้ยา

ปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตประจำวัน
            เนื่องจากภาวะน้ำหนักเกิน และภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ เป็นปัจจัยที่ส่งเสริมกัน การควบคุมน้ำหนักและการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมภายใต้คำแนะนำของแพทย์ ควบคู่ไปกับการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ จะช่วยปรับสมดุลฮอร์โมนให้ดีขึ้นได้

กระตุ้นการตกไข่ด้วยวิธีต่างๆ สำหรับผู้ที่ต้องการมีบุตร

การป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ
            ในผู้ที่มีภาวะดื้อต่ออินซูลิน อาจมีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน รวมถึงโรคหัวใจและหลอดเลือดอื่นๆ สำหรับผู้ที่พบการหนาตัวของเยื่อบุโพรงมดลูกอาจสัมพันธ์กับมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้ การเข้ารับการตรวจวินิจฉัยตั้งแต่เนิ่นๆ จึงมีความสำคัญ

 

การรักษาแบบใช้ยา

เนื่องจากภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบมีความความเกี่ยวข้องกับระดับฮอร์โมนที่ผิดปกติ การได้รับยาฮอร์โมนที่เหมาะสม ร่วมกับการรักษาสาเหตุอื่นๆ ภายใต้การดูแลของแพทย์ จะช่วยให้อาการของภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบดีขึ้นได้

ระดับฮอร์โมนที่ผิดปกติ รักษาโดยการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดประเภทฮอร์โมนโปรเจสติน (Progestin) เดี่ยว หรือฮอร์โมนรวมเอสโตรเจนและโปรเจสติน (Estrogen - Progestin) ซึ่งมีประโยชน์ในการคุมกำเนิดและต้านฤทธิ์ฮอร์โมนเพศชาย

ภาวะดื้อต่ออินซูลิน ในรายที่มีภาวะนี้ร่วมด้วย แพทย์อาจใช้ยา Metformin เพื่อลดการสร้างกลูโคสจากตับและเพิ่มความไวของเนื้อเยื่อต่ออินซูลิน ส่งผลให้ระดับอินซูลินลดลง

ภาวะไข่ไม่ตก สำหรับผู้ที่ต้องการมีบุตร ยาที่เลือกใช้เพื่อกระตุ้นการตกไข่เป็นอันดับแรกคือ Clomiphene ซึ่งอาจใช้ร่วมกับยา Metformin ได้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ