ไลฟ์สไตล์

"โรคแพ้ภูมิตัวเอง" หรือ "SLE" คืออะไร? อ่านตรงนี้มีคำตอบ

"โรคแพ้ภูมิตัวเอง" หรือ "SLE" คืออะไร? อ่านตรงนี้มีคำตอบ

14 ธ.ค. 2564

แม้ว่าจะมีคนพูดถึงโรค “SLE” กันอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ยังไม่รู้แน่ชัดว่า “SLE” เกิดจากอะไร อาการเป็นอย่างไร และต้องรักษาด้วยวิธีใด

จากอาการป่วยด้วยโรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือ SLE ของ "คุณหญิงแมงมุม" ม.ร.ว.ศรีคำรุ้ง ยุคล ธิดาใน ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล กับ หม่อมกมลา ยุคล ณ อยุธยา ที่กำลังเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ ทำเอาคนที่ทราบข่าวต่างเข้าไปให้กำลังใจผ่านอินสตาแกรมกันอย่างล้นหลาม และจากเคสนี้เองเป็นเหตุให้หลายคนหันมาสนใจและศึกษาโรคนี้กันอย่างจริงจังขึ้น ทั้งๆ ที่เคยมีนักร้องดังอย่าง “ผึ้ง” พุ่มพวง ดวงจันทร์ เสียชีวิตด้วยโรค “SLE” เมื่อหลายปีก่อน แต่เมื่อเวลาผ่านไปแม้ว่าจะมีคนพูดถึงโรค “SLE” กันอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ยังไม่รู้แน่ชัดว่า “SLE” เกิดจากอะไร อาการเป็นอย่างไร และต้องรักษาด้วยวิธีใด อ่านตรงนี้มีคำตอบ

 

โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือ SLE (Systemic Lupus Erythematosus) เป็นโรคที่เกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติไปจากเดิม ซึ่งแทนที่จะทำหน้าที่ต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอมจากภายนอกร่างกายกลับต่อต้านหรือทำลายเซลล์ของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายตนเอง จนก่อให้เกิดการอักเสบได้เกือบทุกอวัยวะของร่างกาย​ อวัยวะที่เกิดการอักเสบได้บ่อย ได้แก่ ผิวหนัง, ข้อ, ไต, ระบบเลือด, ระบบประสาท เป็นต้น และจะมีลักษณะเด่นอย่างหนึ่งคือมีการกำเริบและสงบลงเป็นช่วงๆ ในบางรายอาจไม่แสดงอาการหรือมีอาการน้อย แต่บางรายอาการรุนแรงจนถึงชีวิตได้

 

สาเหตุของโรค SLE ที่แท้จริงยังไม่แน่ชัด แต่จากการศึกษาของวงการแพทย์เชื่อว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งเสริมให้เกิดโรคนี้ได้คือ

 

  • เพศ พันธุกรรม และเชื้อชาติ โดยพบว่าเพศหญิงเป็น SLE มากกว่าเพศชาย ( 9 : 1 ) ในช่วงอายุ 20-45 ปี และพบว่าฮอร์โมนเพศโดยเฉพาะ เอสโตรเจนมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคและความรุนแรงของโรค   ญาติพี่น้องกันมีโอกาสเป็น SLE ได้มากขึ้นโดยเฉพาะญาติพี่น้องผู้หญิงด้วยกัน ในส่วนของเชื้อชาติ พบอุบัติการณ์การเกิด SLE ในคนผิวดำและเหลืองมากกว่าคนผิวขาวโดยเฉพาะเอเชียตะวันออก

 

  • สิ่งแวดล้อม ได้แก่ รังสีอัลตราไวโอเลตในแสงแดดหรือสารเคมี มีบทบาทกระตุ้นให้มีการเกิดโรค และการกำเริบของโรคได้ หรือแม้แต่การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียบางชนิดก็สามารถกระตุ้นให้อาการกำเริบได้เช่นกัน แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถค้นพบว่าเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียชนิดใดที่เป็นสาเหตุของโรคนี้

 

  • ความเครียด หากมีความเครียดทางร่างกายและจิตใจ การพักผ่อนไม่เพียงพอ การออกกำลังทำงานแบบหักโหม ก็มีส่วนทำให้ ผู้ป่วย SLE มีอาการกำเริบได้

 

  • ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน การที่ระบบภูมิคุ้มกันมีผลต่อการตอบสนองต่อ antigen ของตัวเอง ทำให้มีการสร้าง antibody ที่ก่อโรคจำนวนมาก ซึ่งส่วนหนึ่งจะไปจับกับ antigen ของตัวเองเกิดเป็น immune เชิงซ้อน ไปเกาะตามอวัยวะต่างๆทำให้เกิดกระบวนการอักเสบและทำลายเนื้อเยื่อตามมา

 

ผู้ป่วยจะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค SLE เมื่อมีอาการแสดงอย่างน้อย 4 ข้อใน 11 ข้อดังต่อไปนี้

 

  • มีไข้รุมๆ ประมาณ 38 องศาเซลเซียส เป็นเวลานานๆ หลายๆ วัน
  • มีผื่นแดงที่ใบหน้า บริเวณโหนกแก้ม สันจมูกลักษณะคล้ายผีเสื้อ
  • เป็นแผลในปากคล้ายแผลร้อนในเป็นแล้วหายช้า
  • ผื่นนูนแดง ขอบเขตชัดเจน มีสะเก็ด
  • ข้ออักเสบชนิดหลายข้อ และมักเป็นทั้งสองข้างเหมือนกัน
  • อาการแพ้แสงแดด
  • การอักเสบของเยื่อบุชนิด Serous เช่น เยื่อหุ้มปอด เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
  • อาการแสดงในระบบเลือด เช่น ซีดจากเม็ดโลหิตแดงแตก เม็ดโลหิตขาวต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ
  • อาการทางประสาท เช่น ชัก ซึม อธิบายจากสาเหตุอื่นไม่ได้
  • การตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการAntinuclear antibody ให้ผลเป็นบวก
  • การตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการหาAnti – DNA, LE cell, Anti – Smได้ผลบวก หรือผลบวกของ VDRL อย่างใดอย่างหนึ่ง

 

สำหรับเกร็ดความรู้ในเรื่อง SLE จะเห็นว่าการวินิจฉัยโรคนั้นไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากจนเกินไปนัก ถ้าเราให้ความสนใจใส่ใจในสุขภาพ ก็สามารถตรวจพบได้ตั้งแต่เนิ่นๆ และสามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ส่งเสริมการเกิดความรุนแรงหรือกระตุ้นการเกิดโรคได้ ดังนั้นถ้าเราสงสัยว่าจะเป็นโรคนี้หรือไม่ก็ลองวินิจฉัยตัวเองในเบื้องต้นดู แต่อย่างไรก็ตามหากมีข้อสงสัย สิ่งที่ดีที่สุดสมควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ร่วมกับการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ

 

ข้อมูล-ภาพ : healthlabclinic