Lifestyle

ป้องกัน "โรคหลอดเลือดสมอง" ต้นเหตุอัมพาต-อัมพฤกษ์ ในคนอายุน้อย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รู้หรือไม่ต้นโรคอัมพาต หรือ อัมพฤกษ์ ที่มาจาก "โรคหลอดเลือดสมอง" ต่างกันที่ถ้าเป็นถาวรก็จะเรียกว่าเป็น อัมพาต ถ้าเป็นชั่วคราวก็จะเรียกว่า อัมพฤกษ์ นั่นเอง

คนไทยมักรู้จัก "โรคหลอดเลือดสมอง" (stroke, สโตรค) ในชื่อว่า โรคอัมพาต หรือ อัมพฤกษ์ ซึ่งเกิดจากการที่เนื้อเยื่อสมองมีการขาดเลือดซึ่งโดยปกติโรคหลอดเลือดสมองมักจะเกิดในผู้ที่มีอายุมาก โดยมักพบในผู้ป่วยอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป แต่อย่างไรตามโรคหลอดเลือดสมองสามารถพบได้ในผู้ที่อายุน้อยเช่นกัน 

 

"โรคหลอดเลือดสมอง" (Stroke) ในคนอายุน้อย คืออะไร

โรคหลอดเลือดสมอง  คือ ภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง เนื่องจากหลอดเลือดตีบ อุดตัน หรือ หลอดเลือดแตก ส่งผลให้เนื้อเยื่อสมองถูกทำลาย ทำให้การทำงานของสมองบางส่วนหรือทั้งหมดผิดปกติไป อาการมักจะเกิดขึ้นทันทีทันใดซึ่งส่วนใหญ่มักจะเกิดในผู้ที่มีอายุมาก แต่คนอายุน้อยจะมีปัจจัยเสี่ยงที่กว้างกว่าคนอายุมาก ในผู้อายุน้อยกว่า 40-50 ปี ก็สามารถพบโรคหลอดเลือดสมองได้มากถึง 15% 
 

คนอายุน้อยมีปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง เช่น
 

ปัจจัยที่ทำให้เกิดไขมันอุดตันและทำลายหลอดเลือด  

ปัจจัยต่อไปนี้ ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ในทุกกลุ่มอายุ รวมกลุ่มคนอายุน้อยที่ควบคุมโรคประจำตัวดังกล่าวได้ไม่ดี 

  • โรคความดันโลหิตสูง
  • ไขมันในเลือดสูง
  • โรคเบาหวาน
  • การสูบบุหรี่
  • การดื่มแอลกอฮอล์
  • ใช้ยาเสพติด เช่น ยาบ้า โคเคน เฮโรอีน เป็นต้น

 

อาการของโรคหลอดเลือดสมอง ในคนอายุน้อย

อาการจะเหมือนกับในคนที่อายุมาก คืออาการที่เกิดจากเนื้อเยื่อสมองส่วนที่ขาดเลือดเสียการทำงานไปเช่น 

  • พูดไม่ชัด ลิ้นแข็ง
  • คิดคำพูดไม่ออก สื่อสารไม่เข้าใจ
  • แขนขาอ่อนแรง ข้างใดข้างหนึ่ง
  • แขนขาชา ข้างใด ข้างหนึ่ง
  • เวียนหัว เดินเซ
  • ภาพซ้อน มองเห็นผิดปกติไป

ซึ่งอาจสังเกตอาการได้ตามหลัก FAST ได้แก่

  • F (Face) ผู้ป่วยจะมีอาการหน้าเบี้ยว
  • A (Arms) อาการแขนขาอ่อนแรง
  • S (Speech) ผู้ป่วยจะมีอาการพูดไม่ชัด พูดอ้อแอ้ เหมือนลิ้นคับปาก
  • T (Time) การรีบนำผู้ป่วยที่สงสัยไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยเร็วที่สุด

 

 

เมื่อสงสัยว่ามีอาการโรคหลอดเลือดสมอง ต้องทำอย่างไร 

ถ้ามีอาการตามหลัก FAST ดังกล่าวข้างต้นข้อใดข้อหนึ่ง ถึงแม้ผู้ป่วยจะอายุน้อย ควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันทีหรือ ภายใน 4 ชั่วโมงครึ่ง หลังจากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น เพื่อให้แพทย์ทำการประเมินและวินิจฉัย

 

หากตรวจพบว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมอง แนวทางการรักษา คือ การให้ยาละลายลิ่มเลือด เพื่อเปิดหลอดเลือดสมองให้ทันเวลา ถึงแม้จะเป็นเพียงชั่วคราวและอาการหายไปได้เองก็ควรนัดหมายเพื่อทำการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดโดยแพทย์เฉพาะทางระบบประสาทเพื่อตรวจหาปัจจัยเสี่ยง และทำการป้องกันการเกิดอาการขึ้นอีก

ปัจจัยเสี่ยงในผู้หญิงอายุน้อย

  • การมีไมเกรนชนิดมีอาการนำ 

ไมเกรนชนิดมีอาการนำ คือ ไมเกรนที่มีอาการเห็นแสงแวบ ๆ สีขาวหรือรุ้ง เป็นรอยหยึกหยัก หรือเป็นเส้นนำมาก่อน หรือเกิดพร้อมกับอาการปวดหัว โดยพบว่าไมเกรนชนิดมีออร่า มักจะเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 

 

  • การใช้ยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน

ยาคุมกำเนิดชนิดที่ใช้ในปัจจุบันมีหลากหลายแบบ แต่ชนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองมากขึ้น 2.75 เท่า ในขณะที่ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ซึ่งมีฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำกว่า และเป็นที่แพร่หลายมากกว่าในปัจจุบันนั้น มีผลการศึกษาพบว่า เพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น 1.9 เท่า และบางการศึกษาพบว่าไม่เพิ่มความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง

 

  • การตั้งครรภ์

การเกิดโรคหลอดเลือดสมองในการตั้งครรภ์นั้นพบได้ประมาณ 30 ครั้งต่อการตั้งครรภ์ 100,000 ครั้ง สาเหตุที่ระหว่างตั้งครรภ์มีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น เพราะการตั้งครรภ์ทำให้เกิดภาวะเลือดแข็งตัวง่ายขึ้น นอกจากนี้หญิงตั้งครรภ์มีโอกาสเกิดโรคครรภ์เป็นพิษ และภาวะความดันโลหิตสูง

ปัจจัยเสี่ยงจากโรคหัวใจ

  • การมีรูที่ผนังห้องหัวใจ 
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง
  • โรคลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว
  • มีการติดเชื้อที่เยื่อบุหัวใจหรือลิ้นหัวใจ
  • โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดหัวใจห้องบนเต้นพริ้ว (Atrial fibrillation)

 

วิธีการป้องกันการเกิด "โรคหลอดเลือดสมอง"

โรคหลอดเลือดสมองสามารถป้องกันได้ โดยการควบคุมปัจจัยเสี่ยงของโรค (ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น)ในส่วนที่เราสามารถจัดการได้ ดังนี้

  • ตรวจวัดความดันเลือดอย่างสม่ำเสมอ หากพบว่ามีความดันเลือดมากกว่า 140/80 mmHg
  • ควรพบแพทย์ และรับประทานยาลดความดันอย่างสม่ำเสมอ 
  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยการลดอาหารเค็ม หวานจัด มันจัด เพิ่มผักผลไม้
  • เลิกสูบบุหรี่ งดการดื่มสุรา
  • ลดน้ำหนัก ในกรณีที่มีน้ำหนักเกิน
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง การออกกำลังกายควรเทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นกว่าปกติ อย่างน้อย 10-20 ครั้ง ต่อนาที และออกอย่างน้อยครั้งละครึ่งชั่วโมง
  • ตรวจสุขภาพประจำปีทุกปี เพื่อตรวจวัดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด และค้นหาปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
  • ตรวจร่างกายทางด้านหัวใจว่ามีความผิดปกติของการเต้นของหัวใจหรือไม่

 

 

ขอขอบคุณ : โรงพยาบาลพระราม9

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ