Lifestyle

กว่าที่ "ธงชาติไทย" จะมาเป็น "ธงไตรรงค์" กับ มาตรา 118 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ธงชาติไทย" ไกวกวัด สะบัดพลิ้ว แลริ้ว ๆ สลับงามเป็นสามสี ผ้าผืนน้อยบางเบาเพียงเท่านี้ แต่เป็นที่รวมชีวิต และ จิตใจ

"ธงชาติไทย" กว่าที่ "ธงชาติไทย" จะมาเป็น "ธงไตรรงค์" กับ มาตรา 118 

ย้อนไปในสมัยอยุธยาได้มีการใช้ธงสีแดงเป็นธงชาติ ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงมีพระราชดำริว่า เรือหลวงกับเรือราษฎรใช้ธงสีแดงเหมือนกันจึงควรมีเครื่องหมายสำคัญให้เห็นต่างกัน ทรงให้เพิ่มรูปจักรสีขาวอันเป็นเครื่องหมายแห่งราชวงศ์จักรีลงบนธงสีแดง เพื่อใช้สำหรับเรือหลวงนับเป็นครั้งแรกที่แยกธงสำหรับเรือหลวงและเรือราษฎร

 

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงเพิ่มรูปช้างเผือกในรูปจักรสีขาวเพื่อใช้สำหรับเรือหลวง เนื่องจากประเทศไทยได้ช้างเผือก 3 เชือก ส่วนเรือราษฎรใช้ธงสีแดงอย่างเดิม

 

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่า ธงสีแดงที่เรือราษฎรใช้นั้นซ้ำกับประเทศอื่นทำให้สังเกตได้ยาก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เรือราษฎรใช้ ธงสีแดง มีรูปช้างสีขาว อยู่ตรงกลาง ส่วนเรือหลวงใช้ธงสีขาวมีรูปช้างสีขาวอยู่ตรงกลาง และในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการตราพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับธง คือ พระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม รัตนโกสินทรศก 110 พระราชบัญญัติธงรัตนโกสินทรศก 116 พระราชบัญญัติธงรัตนโกสินทรศก 118 และใน พ.ศ. 2453 ได้มีการตราพระราชบัญญัติธงรัตนโกสินทรศก 129 ซึ่งกำหนดให้ธงชาติเป็นรูปช้างเผือกบนพื้นสีแดง

พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่าเมื่อมองธงชาติซึ่งใช้อยู่ในขณะนั้นจากระยะไกลมีลักษณะไม่ต่างจากธงราชการ และ รูปช้างที่อยู่กลางธงก็ไม่สง่างามเพียงพอ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศเพิ่มเติมและแก้ไขพระราชบัญญัติธงรัตนโกสินทรศก 129 ให้ธงชาติเป็นพื้นสีแดง มีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นหันหน้าเข้าข้างเสาธงใช้เป็นธงราชการ

 

ต่อมาได้ยกเลิกใช้ธงชาติแบบช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น ทรงพระกรุณาโปรดเล้าฯ ให้ใช้ธงชาติแบบสีแดงสลับสีขาวห้าริ้ว และในพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2460 เพราะประเทศไทยได้เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 กับประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งธงชาติส่วนใหญ่จะมี 3 สี จึงให้มีแถบสีแดง สีขาว และ สีน้ำเงินแก่ เรียกว่า ธงไตรรงค์ การเปลี่ยนแปลงมาเป็นธงไตรรงค์นี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงออกแบบธงไตรรงค์ และ ได้ให้ความหมายของสีที่อยู่ในธงชาติ ดังนี้


             สีแดง หมายถึง เลือดอันยอมพลีเพื่อธํารงรักษาชาติและศาสนา
             สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์แห่งศาสนา
             สีน้ำเงิน หมายถึง สีส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้มีการตราพระราชบัญญัติธงพ.ศ. 2479 อธิบายลักษณะธงชาติว่าเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีขนาดกว้าง 6 ส่วน ยาว 9 ส่วน ด้านกว้าง 2 ใน 6 ส่วน ตรงกลางเป็นสีขาบ (สีน้ำเงินแก่) ต่อจากแถบสีขาบออกไปทั้งสองข้าง ๆ ละ 1 ใน 6 ส่วน เป็นแถบสีขาว ต่อจากสีขาวออกไปทั้งสองข้าง เป็นแถบสีแดง เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ธงไตรรงค์

กว่าที่ "ธงชาติไทย" จะมาเป็น "ธงไตรรงค์" กับ มาตรา 118 

จากนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522 มีสาระสำคัญที่เกี่ยวกับธงชาติ คือ ธงชาติมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 6 ส่วน ยาว 9 ส่วน ด้านกว้างแบ่งเป็น 5 แถบตลอดความยาวของผืนธง ตรงกลางเป็นแถบสีน้ำเงินแก่กว้าง 2 ส่วน ต่อจากแถบสีน้ำเงินแก่ออกไปทั้งสองข้างเป็นแถบสีขาว กว้างข้างละ 1 ส่วน ต่อจากแถบสีขาวออกไปทั้งสองข้างเป็นแถบสีแดงกว้างข้างละ 1 ส่วนเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ธงไตรรงค์" จนปัจจุบัน

 

 

รู้หรือไม่ "ธงฉาน" คืออะไร

กว่าที่ "ธงชาติไทย" จะมาเป็น "ธงไตรรงค์" กับ มาตรา 118 

ธงฉานของไทย เริ่มมีใช้ขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 ในระยะเดียวกันกับการกำหนดให้ใช้ธงช้างเผือกพื้นแดงเป็นธงชาติสยาม โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ธงรูปช้างเผือกหันหน้าเข้าเสาพื้นสีขาบ (สีกรมท่า) ชักไว้ที่หัวเรือหลวงเพื่อให้สามารถแยกแยะความแตกต่างของเรือค้าขายของเอกชนสยามกับเรือหลวงได้ชัดเจน และ พระราชทานนามธงนี้ว่า "ธงเกตุ"

 

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 118 

ผู้ใดกระทำการใด ๆ ต่อธงหรือเครื่องหมายอื่นใดอันมีความหมายถึงรัฐ เพื่อเหยียดหยามประเทศชาติ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

กรณีนี้ต้องเป็นการกระทำต่อธง ด้วยเจตนาเพื่อเหยียดหยาม ประเทศชาติ เช่น ฉีกทำลาย ถ่มน้ำลายรด ใช้เท้าเหยียบ วางเป็นผ้าเช็ดเท้า ซึ่งเป็นการแสดงความดูถูกดูหมิ่นเหยียดหยามชาติไทย แต่การนำมาตัดเป็นเสื้อหรือหมวก โดยมิได้มีมูลเหตุจูงใจจะเหยียดหยามเห็นว่าไม่ผิดตามมาตรานี้ การกระทำอันเป็นการ เหยียดหยามธงอื่น ๆ ที่มิใช่ธงชาติจะเป็นความผิดตามมาตรา ๕๔ แห่งพระราชบัญญัติธง พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งมีโทษน้อยกว่าประมวลกฎหมายอาญา

 

ที่มาข้อมูล :
https://parliamentmuseum.go.th
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

logoline