Lifestyle

รู้จัก "Post Covid" ความผิดปกตินานกว่า 4 สัปดาห์ แม้จะหายจากโรคโควิดแล้ว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อาการ Post Covid Condition ภาวะหลังติดโควิดที่กำลังกลายเป็นเรื่องราวสุขภาพ ที่ตอนนี้ทุกท่านกำลังให้ความสนใจ แต่โรคนี้คืออะไร? อาการเป็นอย่างไร? เราจะดูแลรักษาตนเองอย่างไร? บทความนี้นำคำตอบจากคุณหมอมาฝากกัน

Post Covid Conditions หรือ ภาวะโพสต์โควิด คืออะไร

Post Covid Condition คือ ผลกระทบระยะยาวของการติดเชื้อโควิด-19 เราอาจจะเคยได้ยินในชื่ออื่น ไม่ว่าจะเป็น Long-haul COVID-19, Post-acute COVID-19, Post-COVID-19 Syndrome เป็นอาการหลังจากติดเชื้อ Covid โดยผู้ป่วยยังมีอาการผิดปกติยาวนานกว่า 4 สัปดาห์ แม้จะหายจากโรคโควิดแล้ว โดยอาการดังกล่าวสามารถเกิดได้ทั่วร่างกายตั้งแต่หัวจรดปลายเท้า ตั้งแต่ระบบผิวหนัง ระบบหายใจ ระบบประสาท ระบบทางเดินอาหาร ระบบหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งทำให้ผู้ป่วยบางรายยังรู้สึกไม่แข็งแรง และยังไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนที่ผ่านมา

ผู้ป่วย Post Covid Condition จะมีอาการอย่างไร รักษาได้ไหม?

ผลกระทบจากโควิดนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ทั่วร่างกาย โดยกลุ่มอาการที่สังเกตได้ หมอจะสรุปคร่าวๆ โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มอาการดังต่อไปนี้

  • ไอ กลุ่มอาการไอ เป็นอาการที่พบได้บ่อย โดยผู้ป่วยจะมีอาการไอแห้ง ไอมาก ไอเมื่อหายใจเข้า ซึ่งอาการไอนี้ อาจเกิดได้ยาวนานตั้งแต่ 1-3 เดือน ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการไอปนเลือดเล็กน้อย ซึ่งถือเป็นอาการปกติที่อาจเกิดขึ้นได้  
  • อาการไอที่เกิดขึ้นเกิดจากเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ที่เป็นเชื้อก่อโควิด-19 เข้าสู่ร่างกายไปทำลายเซลล์เยื่อบุในระบบทางเดินหายใจ ส่งผลให้จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส โดยทำลายเซลล์เยื่อบุโพรงจมูกไปจนถึงเซลล์เยื่อบุบริเวณหลอดลม และถุงลม จนก่อให้เกิดอาการปอดอักเสบ
     
  • แนะนำให้สังเกตตนเอง เมื่อใดก็ตามที่มีอาการไอ ไอแห้ง ร่วมกับมีเสมหะมากขึ้น หรือเสมหะเปลี่ยนสี มีไข้ เหนื่อยมากขึ้น นอนราบไม่ได้ อาการไม่ดีขึ้นตามลำดับ แนะนำให้รีบมาพบแพทย์ภายใน 24-48 ชั่วโมง

รู้จัก "Post Covid" ความผิดปกตินานกว่า 4 สัปดาห์ แม้จะหายจากโรคโควิดแล้ว

  • จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส นอกเหนือจากอาการไอแล้ว ผู้ป่วยอาจมีอาการจมูกไม่ได้กลิ่น สูญเสียการรับรส ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลุ่มอาการที่เป็นผลกระทบมาจากเชื้อโควิด-19 ที่แพร่กระจายเข้าไปที่เซลล์ประสาทการดมกลิ่นในโพรงจมูก โดยการสูญเสียการรับกลิ่นจะค่อยๆ ดีขึ้นภายใน 1 เดือน และหายกลับมาเป็นปกติภายใน 2 เดือน ส่วนอาการลิ้นไม่รับรสจะหายช้ากว่าเล็กน้อย

 

  • ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองและฝึกการดมกลิ่น เพื่อช่วยให้อาการกลับมาดีขึ้นโดยเร็ว โดยการดมกลิ่นอ่อนๆ เช่น น้ำหอม สบู่ เป็นต้น และ ไม่แนะนำให้ดมแอลกอฮอล์ แอมโมเนีย หรือของที่มีกลิ่นแรงๆ เนื่องจากกลิ่นดังกล่าวสามารถเข้าไปทำลายเซลล์เยื่อบุของระบบทางเดินหายใจ เพิ่มการบาดเจ็บของระบบประสาทของการรับรู้กลิ่น เป็นอันตรายต่อร่างกาย ส่วนการรักษาอาการลิ้นไม่รับรส ไม่แนะนำให้รับประทานอาหารที่มีรสจัด หรือเคี้ยวพริก เนื่องจากจะทำให้การฟื้นฟูของระบบการรับรสแย่ลง อีกทั้งยังทำให้อาการดังกล่าวหายช้าลง

 

  • อาการทางสมอง ผู้ป่วยอาจได้รับผลกระทบทางระบบประสาท มีภาวะนอนไม่หลับ หลับไม่สนิท ความจำแย่ลง สมาธิสั้นลง คิดคำพูดไม่ออก เคลื่อนไหวช้าลง ประสิทธิภาพการสมองไม่โลดแล่น หรือเราเรียกว่า กลุ่มอาการภาวะสมองล้า (Brain Fog) ซึ่งกลุ่มอาการดังกล่าวจะดีขึ้นตามลำดับเมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 2-4 สัปดาห์
     
  • ผู้ป่วยกลุ่มที่มีอาการปอดอักเสบขั้นรุนแรง อาจมีอาการ PTSD (Post–Traumatic Stress Disorder) เนื่องจากต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจอย่างรุนแรง หวนคิดถึงเหตุการณ์นั้นๆ ซ้ำๆ คิดถึงเหตุการณ์เลวร้ายอยู่ตลอดเวลา ซึ่งสร้างความทุกข์ทรมานใจเป็นอย่างมาก แนะนำให้ปรึกษาพบจิตแพทย์รักษาอาการ
     
  • ผมร่วง อาการผมร่วงสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

    - กลุ่มที่ผมร่วงระดับน้อย ซึ่งอาการมักจะดีขึ้นภายใน 1 เดือน และ

    - กลุ่มที่มีผมร่วงทั่วศีรษะ  มักจะเกิดในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บป่วยรุนแรง โดยมีอาการผมร่วงมากกว่าปกติอย่างฉับพลัน ติดต่อกันต่อเนื่องประมาณ 3 เดือน และจะมีอาการดีขึ้นในเวลา 6 เดือน 
     
  • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เชื้อโควิด-19 จะไปกระตุ้นสารที่ก่อให้เกิดอาการอักเสบทั่วทั้งร่างกาย ทำให้มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ตัวบวม ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย รู้สึกร่างกายไม่แข็งแรง ซึ่งอาการดังกล่าวจะค่อยๆ ดีขึ้นภายใน 1 เดือน แต่ถ้าหากอาการไม่ดีขึ้น ควรมาปรึกษาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาภาวะแทรกซ้อน หรือการติดเชื้ออื่นๆ เช่น โรคลิ่มเลือดอุดตัน

 

ใครบ้างที่เสี่ยงต่อภาวะ Post Covid Condition?
เราสามารถป้องกันหรือหลีกเลี่ยง ภาวะ Post Covid ได้ไหม?

จากงานศึกษาวิจัยพบว่า ผู้ป่วยที่มีอาการหนักตั้งแต่ระยะแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีอาการปอดอักเสบ ผู้ที่ได้รับออกซิเจน ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ หรือผู้ป่วย ICU จะพบว่ามีอาการ Post Covid 70% หลังหายป่วยจากการติดเชื้อโควิด-19 แล้ว

นอกจากนี้ยังพบภาวะโพสต์โควิดในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอายุมาก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่เป็นเพศหญิง ซึ่งพบมากกว่าผู้ป่วยเพศชาย 3-4 เท่า กล่าวได้ว่า ในผู้ป่วยทุกคนที่เคยได้รับเชื้อ SARS-CoV-2 หรือเคยติดเชื้อโควิด-19 จะมีผู้ป่วยเป็นจำนวนประมาณ 30% ที่ต้องเผชิญกับภาวะ Post Covid Condition หรือ Long Covid Syndrome

 

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่หายจาก Covid-19  

หลังออกจากโรงพยาบาลแล้ว ผู้ป่วยควรสังเกตอาการของตนเอง หากมีอาการดังกล่าวข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นอาการไอ จมูกไม่ได้กลิ่น สูญเสียการรับรส ผมร่วง เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย อาการเหล่านี้สามารถดีขึ้นได้ หากผู้ป่วยไม่เครียด รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยอาการจะต้องดีขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ แต่หากเริ่มมีอาการแย่ลง กลับมามีไข้ รู้สึกเหนื่อยมากขึ้น จะต้องรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของภาวะแทรกซ้อนหรือภาวะติดเชื้ออื่นๆ เพื่อรับการรักษาต่อไป

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ