
เกษตรกรเพาะเห็ดหูหนู บ้านเชิงสะพาน ราชบุรี ปลื้มเกษตรแปลงใหญ่ ช่วยทำธุรกิจ
กลุ่มเกษตรกรผู้เพาะเห็ดหู หนูบ้านเชิงสะพาน ราชบุรี ธุรกิจเห็ดไปรุ่ง ส่งผลผลิตคุณภาพให้พ่อค้าได้เดือนละ 10,000 กก. ส่งผลให้เศรษฐกิจฐานรากเกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ชี้เป็นผลจากการเข้าร่วมโครงการส่งเสริมระบบเกษตรแปลงใหญ่ในระบบสหกรณ์
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า โครงการส่งเสริมระบบเกษตรแปลงใหญ่ในระบบสหกรณ์ เป็นโครงการที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ดำเนินการขึ้น ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้การกำกับดูแลของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยผลความก้าวหน้าจนถึงปัจจุบัน กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ส่งเสริมได้เกษตรกรสมาชิกที่ประกอบอาชีพการเกษตร ทั้งด้านการปลูกพืช ปศุสัตว์ และประมง เกิดการรวมกลุ่มตั้งเป็นแปลงใหญ่ในระบบสหกรณ์ได้ถึง 600 แปลงในพื้นที่ 73 จังหวัด รวมเป็นพื้นที่ 740,846 ไร่ โดยมีเกษตรกรสมาชิกสหกรณ์เข้าร่วมโครงการ 59,454 ราย
"ในการดำเนินการกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้เข้าไปพัฒนาด้านการบริหารจัดการ ให้เกิดผลสำเร็จตามเป้าหมายแปลงใหญ่ตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ไม่ว่า ด้านการบริหารจัดการที่สร้างความเข้มแข็งของกลุ่ม ด้านการผลิต ด้านการจำหน่าย อีกทั้งยังเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีและเครื่องจักรกลร่วมในการบริหารจัดการ เช่น การสนับสนุนอุปกรณ์และเครื่องจักรกลการเกษตร ที่ช่วยทำให้ลดต้นทุน พัฒนาคุณภาพ และเพิ่มผลผลิต เพิ่มอำนาจการต่อรองให้แก่เกษตรกร ส่งผลทำให้เกิดการลดต้นทุนเฉลี่ยไร่ละ 1,075 บาท ขณะที่ผลผลผลิตเพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น ขณะที่ด้านการตลาด กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้สนับสนุนให้สหกรณ์เป็นแหล่งรวบรวมผลผลิตจากเกษตรกรในพื้นที่แปลงใหญ่ และเกิดการเชื่อมโยงตลาดระหว่างผู้ผลิตแปลงใหญ่และผู้รับซื้อทั้งในภาคเอกชนและภาครัฐ เช่น บริษัทเอกชน ตลาดโมเดิร์นเทรด เช่น แม็คโคร โลตัส บิ๊กซี เซ็นทรัล ภาครัฐ เช่น โรงพยาบาล โดยใช้กลไกสหกรณ์มาดำเนินการรวบรวมผลผลิตจากเกษตรกรในพื้นที่ รวมทั้งการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างสหกรณ์ ด้วยการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือสัญญาอื่นๆ นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้จำหน่ายสินค้าเกษตรแปรรูป เช่น เห็ด ข้าว ผลไม้ ผ่านออนไลน์ เช่น เฟสบุ๊ค ไลน์ และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ อย่างช้อปปี้"
อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวต่อไปว่า แปลงใหญ่เห็ดกลุ่มเกษตรกรผู้เพาะเห็ดหูหนูบ้านเชิงสะพาน ตำบลเจดีย์หัก อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เป็นหนึ่งความสำเร็จภายใต้โครงการส่งเสริมระบบเกษตรแปลงใหญ่ในระบบสหกรณ์ ภายใต้การส่งเสริมและพัฒนาโดยสำนักงานสหกรณ์จังหวัดราชบุรี แปลงใหญ่นี้เป็นการรวมตัวของเกษตรกรเพื่อรวมกันเพาะเศรษฐกิจอย่างเห็ดหูหนูส่งจำหน่ายคิดเป็นพื้นที่รวม 65 ไร่ และมีผลผลิตออกสู่ตลาดไม่ต่ำกว่า 10,000 กิโลกรัมต่อเดือน อีกทั้งยังสามารถลดต้นทุนให้กับเกษตรกรสมาชิก โดยทางกลุ่มได้จัดหาปัจจัยการผลิต และผลิตก้อนเชื้อเห็ดอย่างครบวงจร จำหน่ายให้สมาชิกในราคาถูกกว่าท้องตลาด อีกทั้งในด้านการตลาดกลุ่มฯ ยังได้เป็นผู้รวบรวม และจัดจำหน่ายผลผลิตให้กับสมาชิกอีกด้วย
ด้านนายสละ นิ่มนวล ประธานกลุ่มเกษตรกรผู้เพาะเห็ดหูหนูบ้านเชิงสะพาน กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังเข้าโครงการส่งเสริมระบบเกษตรแปลงใหญ่ในระบบสหกรณ์ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ทำให้ทางกลุ่มเกิดการพัฒนาอย่างมาก ทั้งด้านความเข้มทแข็ง การเพิ่มความสามารถในการผลิตเห็ดคุณภาพส่งตลาดได้อย่างครบวงจร เกิดการลดต้นทุน เพิ่มผลกำไรได้อย่างมาก เช่น ก้อนเชื้อเห็ดที่ผลิตจำหน่าย ซึ่งจำหน่ายให้กับเกษตรกรทั่วไปที่ก้อนละ 4.50 บาท แต่สำหรับสมาชิกจะได้รับราคาพิเศษโดยอยู่ที่ก้อนละ 4 บาท ขณะที่ด้านการตลาด ได้นำนโยบายตลาดนำการผลิตของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาเป็นแนวทางบริหารจัดการ โดยได้มีการสำรวจความต้องการของตลาด พบว่า นอกจากจะต้องเห็ดหูสดแล้ว ยังมีความต้องการเห็ดหูหนูที่แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ดังนั้นทางกลุ่มจึงได้เพิ่มชนิดของผลิตภัณฑ์ที่จำหน่าย นอกจากเห็ดหูหนูสด ยังได้ทำการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารต่าง ๆ อาทิ ลาบเห็ด เห็ดหูหนูในน้ำเชื่อม ส่งจำหน่ายตามออร์เดอร์ และในตลาดชุมชนใกล้เคียงทำให้สามารถสร้างรายได้เสริมให้กับสมาชิกได้อย่างน่าพึงพอใจ
ขณะที่ นายบุญนำ มีชาลี ผู้จัดการกลุ่มเกษตรกรผู้เพาะเห็ดหูหนูบ้านเชิงสะพาน
กล่าวว่า การได้รับการส่งเสริมตามโครงการส่งเสริมระบบเกษตรแปลงใหญ่ในระบบสหกรณ์ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ เกิดประโยชน์หลายด้าน เช่น การรูปข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณผลผลิตของทางกลุ่มว่าในแต่ละช่วงจะมีผลผลิตปริมาณเท่าไร ทำให้เกิดการวางแผนด้านการตลาดได้อย่างถูกต้อง นำไปสู่การเพิ่มอำนาจในการต่อรองกับพ่อค้าได้ ดังนั้นกล่าวได้ว่า เป็นโครงการที่สร้างประโยชน์อย่างมากต่อเศรษฐกิจฐานรากอย่างเกษตรกร ทำให้เกิดความเข้มแข็ง เกิดการผลิตที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน และตรงกับความต้องการของตลาด สามารถอยู่อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน