
"เส้นเลือดหัวใจตีบ" ภัยใกล้ตัวที่อาจถึงขั้นหัวใจวาย
ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป สำหรับ “โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ” อย่างเมื่อวันก่อนนักแสดงหนุ่ม ลีโอ พุฒ ก็ได้ออกมาแชร์ประสบการณ์ตรงที่เจอกับตัวเอง หลังตรวจพบว่าเป็น "โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ" ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว ทำเอาบรรดาแฟนคลับตกอกตกใจ และแสดงความห่วงใยกันเป็นจำนวนมาก
“โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ” เป็นอีกหนึ่งโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนไทยสูงเป็นอันดับ 2 รองจากโรคมะเร็ง ในตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยผู้ป่วยบางรายมักไม่ปรากฏอาการ
โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ คืออะไร? อันตรายมากแค่ไหน
“โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ” เกิดจากไขมันและเนื้อเยื่อสะสมในผนังเส้นเลือดหัวใจหนาขึ้น จนทำให้เกิดการตีบ ส่งผลให้เลือดไหลไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอ เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้ ซึ่งอาจส่งผลอันตรายถึงชีวิต ในปัจจุบันนั้นพบว่ามีโอกาสเกิดขึ้นในเพศชายมากกว่าผู้หญิง 3-5 เท่า โดยเฉพาะผู้ชายในอายุ 35 ปีขึ้นไป และในผู้หญิงที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป
จริงหรือไม่? ที่โรคนี้มีโอกาสเกิดในกลุ่มผู้ที่อายุน้อย
สมัยก่อน หากกล่าวว่าโรคนี้สามารถพบเจอในกลุ่มผู้สูงอายุเป็นหลัก ก็อาจเป็นเพราะโรคนี้มักจะมาพร้อมความเสี่ยงเมื่ออายุมากขึ้น แต่ในปัจจุบันโรคเส้นเลือดหัวใจตีบกลับพบในกลุ่มคนที่ยังมีอายุน้อยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะแนวการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป ความเครียดจากปัญหาในชีวิต หรือการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงมากขึ้น ดังนั้นกลุ่มคนอายุน้อยที่มีความเสี่ยงอาจจะเกิดภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบเฉียบพลันได้เช่นกัน
ปัจจัยเสี่ยง ที่ทำให้เกิดเส้นเลือดหัวใจตีบ เช่น อายุที่เพิ่มมากขึ้น พันธุกรรม ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา รับประทานอาหารไขมันสูง อ้วนลงพุง และขาดการออกกำลังกาย
5 สัญญาณโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ มีอะไรบ้าง?
เจ็บแน่นหน้าอกตรงกลาง หายใจหอบ
ปวดร้าวบริเวณแขน คอ และไหล่
เหงื่อออกท่วมตัว กระสับกระส่าย
คลื่นไส้ หน้ามืด ใจสั่น
มักมีอาการเมื่อออกกำลังกายหนัก / ทำงานหนัก
หากต้องการรับรักษา การผ่าตัดอาจไม่ใช่ทางเลือกเดียว ที่เหมาะกับการรักษาโรคนี้?
ปัจจุบันมีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ล้ำสมัยในการรักษาโรคเส้นเลือดหัวใจตีบหลากหลายวิธี และแต่ละวิธีก็มีความเหมาะสมที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็น รักษาด้วยยา สำหรับผู้ป่วยที่หลอดเลือดตีบตันบางส่วน การทำบอลลูนหัวใจ สำหรับผู้ป่วยที่หลอดเลือดตีบตันมาก หรือการผ่าตัดทำบายพาสหัวใจ สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถทำบอลลูนหัวใจได้
ข้อมูลจาก : https://www.sikarin.com/health