Lifestyle

“รังนก…สูงค่า” มูลเหตุแห่งการแย่งชิง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ในแต่ละปีทั้งโลกจะสามารถผลิต "รังนก" ได้ไม่เกิน 3,500 ตันเท่านั้น เป็นที่มาของมูลค่ารังนกที่นับวันจะยิ่งสูงขึ้น

ย้อนไปหลายพันปีตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง “รังนก” เป็นสิ่งมีค่า เป็นเครื่องเสวยสำหรับองค์จักรพรรดิ จึงมักใช้มอบเป็นของขวัญให้เหล่าเชื้อพระวงศ์ และข้าราชการระดับสูงของจีน  โดยตำรับยาแพทย์จีนโบราณ “รังนก” มีสรรพคุณขับระบายความร้อน เป็นยาบำรุงกำลังชั้นดีในการฟื้นฟูสุขภาพจากการเจ็บป่วย บำรุงผิวพรรณ ชาวจีนเชื่อว่า การรับประทาน "รังนก" ช่วยให้อายุยืน ความต้องการรังนกของชาวจีนจึงไม่เคยลดลง

อ.เกษม จันทร์ดำ

อ.เกษม จันทร์ดำ นักวิจัยด้านมานุษยวิทยา “หัวหน้าโครงการวิจัย ชาติพันธุ์-ทรัพยากรรังนกแอ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” นักวิจัยอิสระ สกสว. และ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ผู้คร่ำหวอดในวงการนกอีแอ่นมาหลายสิบปี บอกว่า รังนกเป็นสิ่งที่หายากและมีราคาแพงจึงได้รับฉายาว่า “คาร์เวียร์แห่งโลกตะวันออก” นั่นเพราะนกอีแอ่นจะมีเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้นโดยเฉพาะในประเทศอินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย และเวียดนาม ทำให้ประเทศเหล่านี้กลายเป็นแหล่งผลิตรังนกอันดับต้นๆ ของโลก โดยอินโดนีเซียเป็นผู้ส่งออกไปยังจีนเป็นอันดับ 1 ในปริมาณราว 2,000 ตันต่อปี ส่วนมาเลเซียเป็นอันดับ 2 ส่งออกในปริมาณ 400-500 ตันต่อปี ขณะที่ประเทศไทยส่งออกเป็นอันดับ 3 ปริมาณราว 250 ตันต่อปี ซึ่งดูจากตัวเลขจะเห็นได้ว่าในแต่ละปี ทั้งโลกจะสามารถผลิต "รังนก" ได้ไม่เกิน 3,500 ตันเท่านั้น นั่นเองจึงเป็นที่มาของมูลค่ารังนกที่นับวันจะยิ่งสูงขึ้น

 

“รังนก…สูงค่า” มูลเหตุแห่งการแย่งชิง

สำหรับประเทศไทย แม้ไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการว่า “รังนก” มีสรรพคุณรักษาโรคได้จริงหรือไม่ แต่จากการวิจัยบวกกับคำอธิบายจากแพทย์แผนจีนและแพทย์แผนอื่นๆ รวมทั้งสิ่งที่บอกต่อกันมา ความเชื่อเรื่อง “รังนก” จึงเป็นไปในทิศทางเดียวกับชาวจีน ทำให้ “รังนก” มีมูลค่าสูงและเป็นที่ต้องการอย่างมาก ซึ่งผู้ที่จะเข้าไปเก็บผลผลิต "รังนก" ได้นั้นต้องได้รับสัมปทาน โดยการยื่นซองประมูลผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นเจ้าของแหล่งทรัพยากร ปัจจุบันมีพื้นที่ที่ได้สัมปทานรังนก รวมทั้งหมด 9 จังหวัด แบ่งเป็นฝั่งอันดามัน 4 จังหวัด ได้แก่ สตูล ตรัง กระบี่ และพังงา ส่วนฝั่งอ่าวไทย 5 จังหวัด คือ ตราด ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี และพัทลุง

“รังนก…สูงค่า” มูลเหตุแห่งการแย่งชิง

วงจรชีวิตของ "นกอีแอ่น" เริ่มตั้งแต่ป้ายน้ำลายทำรังครั้งแรก ไปจนกระทั่งปีกไขว้ คือโตเต็มวัยสามารถบินได้ จะใช้เวลาเฉลี่ยอยู่ที่ 121 วัน ดังนั้นใน 1 ปีจึงสามารถเก็บรังได้ 3 ครั้ง โดยเก็บตามจันทรคติ แต่การเก็บในครั้งที่ 2 เจ้าของสัมปานมักจะชิงเก็บรังนกตั้งแต่เริ่มทำรัง 60 วัน โดยไม่ปล่อยให้นกวางไข่ ซึ่งถือเป็นการตัดวงจรชีวิตไม่ให้นกขยายพันธุ์ ทำให้ประชากรนกอีแอ่นลงลดเป็นจำนวนมาก แต่ในการเก็บครั้งที่ 3 จะไม่เกิดปัญหานี้ เพราะในสัญญาสัมปทานระบุไว้ชัดเจนว่า “การเก็บรังนกต้องเก็บหลังจากที่ลูกนกบินออกจากรังหมดแล้ว”

ซึ่งในมุมมองของนักวิชาการด้านปักษีวิทยาให้ความเห็นว่า การเก็บรังนกในแหล่งสัมปทาน นกอีแอ่นนั้นไม่ได้รับอนุรักษ์และบำรุงพันธุ์เท่าที่ควร เนื่องจากผู้ที่เข้าจะมารับสัมปทานหวังแต่จะกอบโกยประโยชน์ให้สูงที่สุดเท่านั้น และยังเห็นพ้องไปในทิศทางเดียวกันว่า หากในสัญญาสัมปทานระบุว่า “ทุกครั้งในการเก็บรังนกต้องเก็บหลังจากที่ลูกนกบินออกจากรังหมดแล้ว” จะทำให้ทรัพยากรนกอีแอ่นไม่ถดถอยมากขนาดนี้ นั่นแสดงว่า คนที่เป็นตัวแทนอำนาจรัฐรู้เห็นเป็นใจในการปฎิบัติชั่วในการทำลายทรัพยากร ซึ่งเกิดจากการที่ไม่มีคณะกรรมการจัดเก็บอาการรังนกอีแอ่นเข้าไปตรวจสอบอย่างจริงจัง

“รังนก…สูงค่า” มูลเหตุแห่งการแย่งชิง

 

“รังนก…สูงค่า” มูลเหตุแห่งการแย่งชิง

จากเหตุดังกล่าว ทำให้นกอีแอ่นอพยพย้ายถิ่นไปอยู่ตามตึกต่างๆ จนเป็นที่มาของการผลิตรังนกในอีกรูปแบบที่เรียกว่า “ตึกนก”  เป็นการปรับภูมิทัศน์และบรรยากาศของตึกให้ใกล้เคียงกับถ้ำ เพื่อดึงดูดให้นกเข้ามาทำรัง เพราะธรรมชาติของนกอีแอ่นคือการทำรังประจำถิ่น และนกอีแอ่นเป็นนกที่สามารถบินในความมืดโดยใช่เอคโค่โลเกชั่นหารังตัวเองได้ คนที่มีตึกนกจะต้องดูแลเอาใจใส่ตลอดเวลา ไม่สามารถทิ้งไปไหนได้ ซึ่งขณะนี้การทำ “ตึกนก” ได้รับความนิยมสูงและกระจายออกไปมากถึง 74 จังหวัดทั่วประเทศ รวมมากกว่า 2 หมื่นหลัง ข้อดีของการเลี้ยงนกแบบนี้สามารถเก็บรังนกได้ตลอดทั้งปี โดยเฉลี่ยประมาณ 150 ตันต่อปี ขณะที่รังนกจากแหล่งสัมปทานเก็บได้เพียง 80-100 ตันต่อปีเท่านั้น แต่ทั้งนี้รังนกธรรมชาติก็ยังขึ้นชื่อว่าคุณภาพดีกว่าและราคาสูงกว่า โดยรังนกที่มีรูปคล้าย “เปล” หรือ “พระจันทร์เสี้ยว” มากที่สุด มีสีขาว ขนน้อย จะเป็นรังนกที่ถือว่าคุณภาพดีที่สุด และราคาก็จะสูงด้วย

“รังนก…สูงค่า” มูลเหตุแห่งการแย่งชิง

แต่สิ่งสำคัญที่ต้องรู้คือ การทำ “ตึกนก” ในบ้านเรานั้นยังเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย นั่นเพราะ “นกอีแอ่น” เป็นสัตว์คุ้มครองภายใต้การดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งระบุว่า บุคคลใดจะเก็บรังหรือไข่นกอีแอ่นโดยไม่ได้รับอนุญาติถือว่ามีความผิด เพราะเป็นผู้ทำลายรังและไข่ ดังนั้นจะเห็นว่าผู้ที่ทำถูกกฎหมายคือผู้ที่ได้รับสัมปทานเท่านั้น 

 

ภาพจาก : https://www.bangkokbiznews.com/news/612233

https://www.bangkokbiznews.com/social/714

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ