Lifestyle

รู้หรือไม่ "น้ำลาย" บอกโรคต่างๆ ได้ในเบื้องต้น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

น้ำลายมีสารอิมมูโนโกลบูลินเอ แลคโคเฟอรินและแลคโตเพอร์ออกซิเดสซึ่งช่วยฆ่าเชื้อโรคได้ และยังสามารถใช้ในการทดสอบตรวจหาโรคภัยต่างๆ เบื้องต้นได้ด้วย

“น้ำลาย” ของเหลวในช่องปากที่ประกอบด้วยน้ำ 99.5 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นเกลือแร่จำพวก โซเดียม โพแทสเซียม คลอไรด์ ไบคาร์บอเนตและฟอสเฟต มีสิ่งที่เรียกว่ามูกเมือก ซึ่งเกิดจากแป้งและโปรตีน สารต้านเชื้อแบคทีเรีย และเอ็นไซม์สำหรับย่อยแป้งและไขมันขณะที่เราเคี้ยวอาหาร

"น้ำลาย" มีประโยชน์สำคัญต่อการดำรงชีวิตของเราเป็นอย่างมาก ในการช่วยให้เกิดความชุ่มชื้นในช่องปากของเรา หล่อลื่นอวัยวะในช่องปาก ป้องกันไม่ให้ปากแห้ง ป้องกันเนื้อเยื่อในช่องปากจากการใช้งานของเรา ไม่ว่าจะเป็นการเคี้ยว การกลืน น้ำลายจะทำหน้าที่เป็นสารหล่อลื่น ช่วยลดการสึกกร่อนของฟันจากการขบกัดเสียดสีกัน หรือแม้แต่ระหว่างที่เราพูดคุย ก็ยังช่วยให้ลิ้นเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น ทำให้เราพูดได้ชัดเจน สื่อสารกับคนอื่นได้รู้เรื่อง สำหรับฟันของเรา น้ำลายช่วยให้เกิดความสมดุลของกรด-ด่าง อยู่ที่ค่าเฉลี่ยประมาณ 6.7  ทำให้กรดจากอาหารไม่กัดกร่อนผิวเคลือบฟัน และยังมีโปรตีน และไกลโคโปรตีนที่มารวมตัวกันเป็นแผ่นฟิล์มเคลือบผิวฟัน ช่วยป้องกันฟันสูญเสียแร่ธาตุ เวลาที่เรามีแผลเล็กๆ ในปากแต่กลับหายได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องทายาหรือปิดแผลป้องกันเชื้อโรค นั่นเป็นเพราะในน้ำลายมีสารอิมมูโนโกลบูลินเอ (IgA) แลคโคเฟอรินและแลคโตเพอร์ออกซิเดสซึ่งช่วยฆ่าเชื้อโรคได้ และนอกจากนี้ ยังสามารถใช้ในการทดสอบตรวจหาโรคภัยต่างๆ ในเบื้องต้นได้อีกด้วย

 

น้ำลายจึงเป็นกระจกสะท้อนสุขภาพที่สำคัญ ทุกวันที่เรากลืนน้ำลายลงคอไปในปริมาณราวครึ่งแกลลอน แต่เราอาจไม่เคยรู้เลยว่า เมื่อเกิดอาการเจ็บป่วย ร่างกายทำงานไม่เป็นปกติ ความรู้สึกถึงรสชาติของน้ำลายที่ปรากฏในปากก็สามารถบอกได้คร่าวๆ เช่นกันว่าเราอาจเป็นอะไรได้บ้าง

น้ำลายหวาน

แม้จะดูเหมือนเป็นเรื่องดีที่ชีวิตเต็มไปด้วยความหวาน แม้แต่ดื่มน้ำเปล่าก็รู้สึกถึงรสหวาน หรือหวานอมเค็มเล็กน้อย แต่จริงๆ แล้วนี่เป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงระบบย่อยอาหารที่ทำงานผิดปกติต่างหาก เพราะเอ็นไซม์ที่ผิดปกติไป โดยเฉพาะเอ็นไซม์อะมีเลส (Amylase) ในน้ำลายของเรา ยิ่งผู้ที่มีน้ำตาลในเลือดสูง ก็จะส่งผลให้มีน้ำตาลปะปนอยู่ในน้ำลายปริมาณมากตามไปด้วย หากรู้สึกถึงรสชาติหอมหวานเหมือนน้ำผลไม้อยู่ในปาก แสดงว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานรุนแรง ควรพบแพทย์โดยด่วน

น้ำลายเค็ม

หากคุณมีความรู้สึกถึงรสชาติเค็มๆ ในปาก เหมือนมีเกลือเม็ดเล็กๆ ซุกซ่อนอยู่ตามซอกนั้นซอกนี้ตลอดเวลา กินอะไรก็กลายเป็นเค็มไปหมด ก็อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าส่วนใดส่วนหนึ่งในร่างกายของเรากำลังเกิดการอักเสบอยู่ มีความเสี่ยงจะเป็นโรคคออักเสบเรื้อรัง โรคไตอักเสบเรื้อรัง หรือแผลอักเสบในปาก

 

น้ำลายเปรี้ยว

ผู้ป่วยที่กระเพาะอาหารอักเสบหรือลำไส้เล็กส่วนต้นเป็นแผล ร่างกายจะมีการหลั่งกรดออกมามากกว่าปกติ ซึ่งกรดเหล่านั้นจะมีรสเปรี้ยว ทำให้ในปากและลำคอรู้สึกได้ถึงรสชาตินั้นตามไปด้วย อาจมีอาการแสบร้อนจากกรดร่วมอยู่ด้วย หากสงสัยว่าผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจสอบอย่างถูกวิธี

น้ำลายเผ็ด

หากรู้สึกเผ็ดหรือซ่าในคอ อาจมีความเสี่ยงเป็นโรคความดันเลือดสูง โรคเกี่ยวกับจิตประสาทแปรปรวน ด้วยเหตุที่รสเผ็ดนั้นเป็นรสชาติที่มีรสเค็มผสมอยู่ด้วย อุณหภูมิของลิ้นจะอุ่นกว่าปกติเมื่อเรากินของเผ็ดๆ เข้าไป และจะมีความไวต่อรสเค็ม ทำให้รู้สึกเจ็บปวดได้ง่ายจากความรู้สึกร้อนและเจ็บแสบผสมเข้าด้วยกัน
น้ำลายจืด

หากเกิดภาวะน้ำลายจืด ในปากไม่รับรู้รสชาติใดๆ กินอะไรก็ไม่อร่อย อาจะเป็นภาวะบ่งบอกถึงอาการความรู้สึกรับรสเสื่อมถอย ซึ่งเกี่ยวข้องกับโรคลำไส้อักเสบ โรคบิด โรคเกี่ยวกับระบบการย่อยอาหาร หรือกำลังอยู่ในช่วงพักฟื้นหลังผ่าตัด และอาการนี้มักพบมากในผู้ป่วยมะเร็ง ซึ่งจะทำให้มีน้ำหนักตัวลดลงอย่างเห็นได้ชัด

น้ำลายฝาด

ช่วงไหนปั่นงานดึก เตรียมรอรับรสชาติฝาดๆ ในปากไว้ได้เลย เพราะรสชาติฝาดของน้ำลายบ่งบอกถึงความผิดปกติของระบบประสาท ซึ่งแก้ไขได้ด้วยการปรับชีวิต เปลี่ยนเวลานอนให้เพียงพอ หากนอนไม่หลับก็อาจจะปรึกษาหมอขอเพิ่มเมลาโทนินหรือยาระงับความเครียดเพื่อให้พักผ่อนได้เต็มที่ยิ่งขึ้น แต่ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ก็อาจสัมผัสได้ถึงรสฝาดและขมด้วยเช่นกัน

น้ำลายมีประโยชน์ และเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของเราอย่างที่หลายคนน่าจะคาดไม่ถึง แต่อย่ารอให้น้ำลายเปลี่ยนรสก่อน ค่อยหันมาดู​แล​สุขภาพ​ค่ะ

 

ข้อมูล : คลินิก​ไต​ออนไลน์​หมอ​อลงกต​1​และ​2

ภาพ : https://www.scholarship.in.th

logoline