Lifestyle

"ซีสต์ที่รังไข่" ความเสี่ยงในการมีบุตรยากที่ไม่ควรมองข้าม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

‘ซีสต์’ เป็นโรคที่พบได้ในผู้หญิงทุกเพศทุกวัย และพบได้ในหลายจุด โดย นพ.ธีรยุทธ์ จงวุฒิเวศย์ สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ให้คำแนะนำสำหรับคุณผู้หญิงที่วางแผนจะมีบุตร เพราะซีสต์ที่รังไข่อาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์ในอนาคตได้

 

'ซีสต์ที่รังไข่' คืออะไร

ซีสต์ (Cyst) คือ ถุงน้ำที่เกิดขึ้นในร่างกายของคนเรา ดังนั้น ซีสต์ที่รังไข่นั้นก็คือการมีถุงน้ำเกิดขึ้นภายในรังไข่ และมีกลไกการเจริญเติบโตที่อาจส่งผลต่อร่างกายได้ โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ ซีสต์ที่เป็นโรค และซีสต์ที่เกิดโดยธรรมชาติและสามารถหายได้เอง

 

ซีสต์ที่เกิดโรค คือถุงน้ำที่มีความผิดปกติ สามารถทำให้เกิดโรคขึ้นภายในอวัยวะที่ตรวจพบซีสต์ได้ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ ซีสต์ที่เป็นโรคทั่วไป เช่น ช็อกโกแลตซีสต์ และซีสต์ที่เป็นโรคมะเร็ง

 

ซีสต์ที่เกิดโดยธรรมชาติและสามารถหายได้เอง โดยปกติแล้วการทำงานภายในรังไข่จะมีการผลิตฟองไข่แล้วตกไปรอบละ 1 ใบ ซึ่งซีสต์ที่เกิดโดยธรรมชาติ อาจเกิดจากการที่ฟองไข่โตตามปกติแต่ไม่สามารถตกออกมาใช้งานได้ ทำให้เกิดเป็นซีสต์หรือถุงน้ำที่ค้างอยู่ภายในรังไข่ ซีสต์แบบนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะถูกกลไกของร่างกายดูดซึมแล้วหายได้เองภายใน 3 เดือน นอกจากนี้ในกรณีที่ไข่ตกตามปกติก็ยังสามารถทำให้เกิดซีสต์ได้เช่นกัน ในกรณีที่ไข่ตกตามปกติ แต่หลังจากการตกไข่กลับมีเลือดออกในฟองไข่นั้นจนกลายเป็นก้อนเลือดขังอยู่ภายใน และร่างกายก็จะดูดซึมแล้วหายไปเองเช่นกัน

การตรวจพบซีสต์ในครั้งแรกนั้นแพทย์จะยังบอกไม่ได้ว่าคนไข้เป็นซีสต์ชนิดไหน ยกเว้นมันจะมีลักษณะอาการเฉพาะของโรคนั้นๆ แสดงออกมาอย่างชัดเจนจึงจะสามารถระบุได้ โดยปกติมักจะต้องตรวจแล้วติดตามอาการก่อนสักประมาณ 2- 3 เดือน หากสังเกตอาการแล้วซีสต์ยังไม่สลายไปตามกลไกของร่างกายจึงจะนับว่าเป็นโรคแล้ว

 

อาการแบบไหนที่เข้าข่าย 'ซีสต์ที่รังไข่'

ซีสต์นับได้ว่าเป็นภัยเงียบของร่างกายผู้หญิงเลยทีเดียว เพราะโดยปกติแล้วซีสต์จะไม่มีการแสดงอาการ ไม่ว่าจะเป็นซีสต์ที่เกิดโดยธรรมชาติ ซีสต์ที่เป็นโรค หรือแม้กระทั่งซีสต์ที่เป็นมะเร็งรังไข่ จึงทำให้คนไข้รู้ตัวได้ยาก และไม่ทราบว่าจะเกิดขึ้นกับตัวเองเมื่อไหร่ หรือป้องกันตัวเองจากโรคนี้ได้อย่างไร

 

แต่ในซีสต์บางชนิดก็ยังมีการแสดงอาการอยู่บ้าง เช่น ช็อคโกแลตซีสต์ คนไข้จะมีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง หรือปวดประจำเดือน แต่อาการปวดแบบนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับขนาดของซีสต์ในรังไข่ แต่ขึ้นอยู่กับบริเวณที่เกิดรอยโรคที่ทำให้เกิดอาการปวดได้  ดังนั้นใครที่มีอาการแบบนี้เป็นประจำควรต้องมาตรวจร่างกายเพื่อหาสาเหตุของอาการปวด หากตรวจพบว่าเป็นซีสต์จะได้วางแผนการรักษาต่อไป

 

โดยส่วนใหญ่แล้ว 'ซีสต์' มักจะตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจโรคอื่นๆ แต่อาการหนึ่งที่พบได้บ่อยคือ คนไข้มักจะมาพบแพทย์ด้วยปัญหาการมีบุตรยาก เมื่อตรวจร่ายกายแล้วจึงพบว่ามีซีสต์เป็นอุปสรรคขัดขวางอยู่

'ซีสต์ที่รังไข่' ส่งผลอย่างไรกับการตั้งครรภ์

ซีสต์ที่ทำให้เกิดปัญหาการตั้งครรภ์ มักจะเกิดจากซีสต์ที่เป็นโรค เช่น ช็อกโกแลตซีสต์ หรือ โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ซึ่งมักจะส่งผลต่อกลไกการทำงานของรังไข่และทำให้คนไข้มีลูกได้ยากขึ้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดตามตำแหน่งที่เกิดโรค ดังนี้

 

เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่..เกิดที่รังไข่จนทำให้เกิดซีสต์ ซีสต์ชนิดนี้เมื่อเกิดขึ้นในรังไข่และยังมีขนาดเล็กอยู่จะทำให้ฟองไข่เจริญเติบโตได้ตามปกติ แต่คุณภาพของฟองไข่ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีช็อกโกแลตซีสต์นั้นจะมีสารเคมีบางอย่างที่ทำให้ฟองไข่ที่ตกในรังไข่ข้างนั้นด้อยคุณภาพลง และเจริญเติบโตได้น้อยกว่าอีกข้างที่ไม่มีซีสต์ และเมื่อซีสต์มีขนาดใหญ่ขึ้นจะทำให้การเจริญเติบโตของฟองไข่เป็นไปได้ยากขึ้น เช่น ถ้าซีสต์มีขนาด 1 ซม. จะเหลือพื้นที่ในรังไข่ให้กับไข่เยอะ ทำให้ไข่มีโอกาสที่จะโตได้ตามปกติ แต่ถ้าขนาดซีสต์ใหญ่มากถึง 5 ซม. พื้นที่ในรังไข่ก็จะเหลือน้อยลง ไข่จะเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ เพราะความดันในรังไข่สูงมาก และอาจทำให้ไข่ไม่ไปตกในข้างที่มีซีสต์เลย เมื่อไข่ไม่ตกในข้างที่มีซีสต์ก็ทำให้โอกาสในการตั้งครรภ์ลดลงตามไปด้วย

 

เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เกิดที่นอกรังไข่ โดยทำให้มีรอยโรคในอวัยวะอื่นๆ ภายในช่องท้องหรือในมดลูกได้อีกเช่นกัน ฉะนั้นอาจจะทำให้มีพังผืดเกิดขึ้นที่ปีกมดลูกจนทำให้ท่อรังไข่อุดตัน ซึ่งการที่ท่อรังไข่อุดตันนั้นเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไข่กับสเปิร์มไม่สามารถผสมกันได้ นอกจากนี้ถ้าเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่และแทรกเข้ามาในชั้นเนื้อกล้ามเนื้อมดลูกแล้ว ทำให้มดลูกมีขนาดที่โตขึ้น มีรูปร่างที่บิดเบี้ยว หรือมีสภาพที่ผิดธรรมชาติไป โอกาสที่ตัวอ่อนจะมาฝังตัวก็ยากขึ้นตามไปด้วย เมื่อตัวอ่อนไม่สามารถฝังตัวที่ผนังมดลูกได้ก็จะทำให้โอกาสในการตั้งครรภ์ลดลงไปด้วยเช่นกัน

 

เพราะฉะนั้นแล้วไม่ว่าซีสต์จะเกิดขึ้นในรังไข่หรือนอกรังไข่ก็สามารถส่งผลกระทบกับการตั้งครรภ์ได้ทั้งสิ้น เพราะว่าระบบสืบพันธุ์ของเพศหญิงเป็นกลุ่มโรคที่โยงถึงกันอยู่

 

ที่มาข้อมูล:
www.phyathai.com

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ