Lifestyle

เทียบชัดๆ ข้อดี-ข้อเสีย "รถยนต์ไฟฟ้า"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงไทย ผลักดันและสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า แต่ทำไม "รถยนต์ไฟฟ้า" จึงยังไม่เป็นที่นิยมเท่าที่ควร

รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle, EV) เพิ่งจะเริ่มเป็นที่นิยมเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาและถูกพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะเมื่อมีการเผชิญกับปัญหาโลกร้อน มลพิษทางอากาศ PM2.5 และ ทิศทางพลังงานโลก ที่มุ่งไปสู่การผลิต และการใช้พลังงานที่มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบสุทธิเป็นศูนย์ รัฐบาลจากหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยจึงพยายามผลักดันและสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น แต่ด้วยข้อจำกัดหลายประการ "รถยนต์ไฟฟ้า" จึงยังไม่เป็นที่นิยมเท่าที่ควร ส่วนข้อดี-ขอเสียมีอะไรบ้าง ไปดูข้อมูลกันค่ะ

รถยนต์ไฟฟ้า

เริ่มที่ข้อดีกันก่อน ซึ่งของรถยนต์ไฟฟ้าสามารถสรุปได้ดังนี้

  1. เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รถยนต์ไฟฟ้านั้นจะทำงานด้วยการใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ทำให้ไม่มีการปล่อยไอเสียหรือก๊าซเรือนกระจกออกมาและไม่สร้างมลพิษ
     
  2. ลดมลพิษทางเสียง เนื่องจากกลไกในการขับเคลื่อนไม่ต้องใช้การจุดระเบิดเพื่อเผาไหม้ จึงทำให้ไม่มีเสียงเวลาขับ และการทำงานของมอเตอร์ไฟฟ้านั้นมีเสียงที่เงียบกว่าเครื่องยนต์มาก
     
  3. ประสิทธิภาพสูงกว่า รถยนต์ไฟฟ้าใช้มอเตอร์ไฟฟ้าซึ่งมีแรงบิดมากกว่าโดยเริ่มตั้งแต่ออกตัวทำให้อัตราเร่งดีกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมัน
     
  4. ประหยัดค่าใช้จ่าย เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้านั้นไม่มีเครื่องยนต์จึงไม่ต้องใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการเผาไหม้ อีกทั้งพลังงานไฟฟ้ายังมีราคาถูกกว่า และ ผันผวนน้อยกว่าราคาน้ำมันส่วนในเรื่องของการบำรุงรักษานั้น ในรถยนต์ไฟฟ้ามีเพียงมอเตอร์ไฟฟ้าเท่านั้นที่เป็นส่วนกำลังทำให้รถเคลื่อนที่ไปได้ จึงไม่มีของเหลวหรือกรองของเหลวที่ต้องบำรุงรักษาตามวาระ
     
  5. สามารถชาร์จแบตเตอรี่ได้จากที่บ้าน รถยนต์ไฟฟ้านั้นสามารถชาร์จแบตเตอรี่ได้จากที่บ้าน ซึ่งสามารถชาร์จได้ระหว่างที่นอนหลับ เมื่อถึงยามเช้ารถยนต์ไฟฟ้าก็จะอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน จึงทำให้ไม่ต้องกังวลในเรื่องการเสียเวลาที่สถานีบริการน้ำมันอีกต่อไป

เทียบชัดๆ ข้อดี-ข้อเสีย "รถยนต์ไฟฟ้า"

ส่วนข้อเสียของรถยนต์ไฟฟ้าที่ทำให้ปัจจุบันยังไม่เป็นที่นิยมเท่าที่ควรคือ

  1. ราคาสูง ปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้ายังมีราคาที่ค่อนข้างแพง เนื่องจากกระบวนการผลิตจนถึงการวางจำหน่ายจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีที่มีราคาสูง ทำให้ตัวรถมีราคาสูงตามไปด้วย
     
  2. ระยะการขับ เนื่องจากระยะทางในการขับขี่จะขึ้นอยู่กับขนาดความจุของแบตเตอรี่ ซึ่งอาจจะต้องมีการวางแผนการชาร์จระหว่างทาง สำหรับการขับขี่ในระยะไกล
     
  3. สถานีอัดประจุ หากมีการเดินทางระยะยาวหรือข้ามจังหวัดนั้น ควรจะต้องมีการวางแผนหาตำแหน่งที่ตั้งของสถานีอัดประจุ เนื่องจากปัจจุบันสถานีอัดประจุในประเทศยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่
     
  4. การบำรุงรักษา รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยยังถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่มาก อาจจะต้องใช้เวลาเพื่อให้บุคลากรทางสายยานยนต์เรียนรู้เรื่องการบำรุงรักษาระบบต่างๆ
     
  5. การจัดการขยะจากแบตเตอรี่ เนื่องจากแบตเตอรี่ที่ติดตั้งอยู่ในรถยนต์ไฟฟ้าปัจจุบันมีอายุการใช้งานที่จำกัด การเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่เป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย แต่การกำจัดแบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพไปแล้วนั้น ในปัจจุบันยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในการกำจัดแบตเตอรี่ที่เป็นขยะเหล่านี้ ซึ่งเป็นความท้าทายที่จะต้องมีการดำเนินการต่อไป
     

ปัจจุบันความกังวลในเรื่องของรถยนต์ไฟฟ้าต่างๆ เหล่านี้ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกำลังพยายามแก้ไขโดยผู้พัฒนาแบตเตอรี่ได้พัฒนาแบตเตอรี่ให้สามารถชาร์จไฟได้เร็วและวิ่งได้ระยะทางไกลมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังได้รับความร่วมมือจากทางภาครัฐและเอกชนในการสร้างสถานีอัดประจุให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศอีกด้วย

....ถ้าทุกปัญหาได้รับการแก้ไขอย่างถูกจุด ไม่นานนี้เราคงได้เห็น “รถยนต์ไฟฟ้า” เป็นที่นิยมและวิ่งกันเต็มท้องถนนแน่นอน...

ข้อมูล/ภาพ : สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย Electric Vehicle Association of Thailand - EVAT

logoline