Lifestyle

รำลึกสมเด็จพระปิยมหาราช ผ่านงานหัตถศิลป์-ผ้าบาติกจากชวา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ จัดแสดงนิทรรศการผ้าบาติกในสมเด็จพระปิยมหาราชชุดใหม่ ชมความงดงามหัตถ์ศิลป์เลื่องชื่อจากชวา รวมผ้าบาติกทรงสะสมที่หาชมได้ยาก เปิดให้เข้าชมแบบออนไลน์

เนื่องด้วยวันที่ 23 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันปิยมหาราช ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ จัดกิจกรรมเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณตลอดเดือนตุลาคมในรูปแบบออนไลน์ตามวิถีปกติใหม่ โดยมีไฮไลท์ที่นิทรรศการ “ผ้าบาติกในพระปิยมหาราช: สายสัมพันธ์สยามและชวา” ครั้งที่ 3 ซึ่งมีการเปลี่ยนวัตถุจัดแสดงใหม่

รำลึกสมเด็จพระปิยมหาราช ผ่านงานหัตถศิลป์-ผ้าบาติกจากชวา

อินโดนีเซียและไทยมีประวัติศาสตร์ ค่านิยม และวัฒนธรรมร่วมกัน ซึ่งเป็นพื้นฐานที่มั่นคงของมิตรภาพระหว่างสองประเทศ และได้เห็นความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอันยาวนานระหว่างสองประเทศตั้งแต่สมัยอาณาจักรโบราณในภูมิภาคนี้ การเสด็จเยือนชวาทั้ง 3 ครั้งของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในศตวรรษที่ 19 และ 20 เป็นหลักฐานที่ชัดเจนถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของทั้งสองประเทศ

รำลึกสมเด็จพระปิยมหาราช ผ่านงานหัตถศิลป์-ผ้าบาติกจากชวา

ผ้าบาติกได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการว่าเป็นการแสดงออกทางวัฒนธรรมของอินโดนีเซียตั้งแต่ พ.ศ.2552 หลังจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประกาศให้ผ้าบาติกจากประเทศอินโดนีเซียเป็นผลงานชิ้นเอกด้านมุขปาฐะและมรดกวัฒนธรรมที่ไม่เป็นกายภาพของมนุษยชาติ ดังนั้นผ้าบาติกจึงถือว่าเป็นทั้งงานศิลปะและงานฝีมือ ซึ่งได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกมากขึ้น ในประเทศอินโดนีเซียเอง ผ้าบาติกถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ได้รับการสืบทอดและเก็บรักษาอย่างดีมาจนถึงปัจจุบัน

รำลึกสมเด็จพระปิยมหาราช ผ่านงานหัตถศิลป์-ผ้าบาติกจากชวา

ทั้งนี้ นิทรรศการผ้าบาติกในพระปิยมหาราช : สายสัมพันธ์สยามและชวา จัดขึ้นเพื่อระลึกถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการเสด็จเยือนชวาทั้ง 3 ครั้ง และเพื่อตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระปรีชาสามารถของพระองค์ที่ทรงรวบรวมวิทยาการและศิลปวัฒนธรรมมาปรับใช้ในการวางรากฐานพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืนสืบมาจนถึงปัจจุบัน

รำลึกสมเด็จพระปิยมหาราช ผ่านงานหัตถศิลป์-ผ้าบาติกจากชวา

ในระหว่างการเสด็จเยือนชวา พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรกิจการต่างๆ เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมถึงเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมของชวา ซึ่งการเขียนผ้าบาติกถือเป็นงานหัตถศิลป์เลื่องชื่อของเกาะชวา มีลวดลายสวยงามเป็นที่พอพระราชหฤทัย จึงทรงซื้อและมีผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย รวมทั้งสิ้นกว่า 300 ผืน แต่ละผืนมีความโดดเด่นทั้งในแง่ความงดงามของศิลปะและองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์การแต่งกายของชวา  

ผ้านุ่ง (โสร่ง) แบบบัง บิรู อูงัน จากเมืองลาเซ็ม

ผ้าบาติกดังกล่าวได้ถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีโดยสำนักพระราชวังและยังไม่เคยนำออกมาจัดแสดงที่ใดมาก่อน จนกระทั่งพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตนำออกมาทำการศึกษาค้นคว้าและจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2561 โดยแบ่งการจัดแสดงออกเป็น 3 รอบ ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นการเปลี่ยนวัตถุจัดแสดงรอบสุดท้าย ซึ่งมีชิ้นไฮไลต์ อย่าง ผ้านุ่ง (โสร่ง) แบบบัง บิรู อูงัน จากเมืองลาเซ็ม หมายถึงผ้าบาติกที่ย้อมด้วยสีแดง สีน้ำเงิน และสีม่วง ผ้าผืนนี้แสดงถึงเอกลักษณ์ของผ้าบาติกเมืองลาเซ็มได้เป็นอย่างดี ลวดลายสื่อความหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่มลูกค้าสตรีเชื้อสายจีนและยุโรป ลายเถาไม้ที่เลื้อยขึ้นมาจากด้านล่างมีลักษณะคล้ายลายสาหร่าย (กังเกง) รับอิทธิพลมาจากลูกไม้ของฝั่งยุโรป

ผ้านุ่ง (กายน์ ปันจัง) ลายปาสแรน จากเมืองสุราการ์ตา

ผ้านุ่ง (กายน์ ปันจัง) ลายปาสแรน จากเมืองสุราการ์ตา หรือลายแม่โพสพหรือเทพีแห่งข้าว ผ้าผืนนี้เขียนลายร่มสื่อความหมายถึงการคุ้มครองป้องกัน ส่วนลายพัดหมายถึงความสงบสุข 

ผ้าโพกศีรษะ (อิแกต เคพาลา)

ผ้าโพกศีรษะ (อิแกต เคพาลา) สันนิษฐานว่ามาจากเมืองจิเรบอน ผ้าโพกศีรษะสำหรับบุรุษผืนนี้ เมื่อพิจารณาจากสีสันและลวดลาย เชื่อว่าผลิตที่เมืองจิเรบอน บริเวณชายฝั่งตอนเหนือของชวา เพื่อจำหน่ายให้ลูกค้าที่เมืองจัมบีบนเกาะสุมาตรา

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ