Lifestyle

เข้าใจและรักษา "วัยทอง" หากร้อนวูบวาบ หงุดหงิดง่าย หัวใจเต้นสั่นรุนแรง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อาจจะมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อเข้าสู่ "วัยทอง" และถ้าอาการเหล่านั้นส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรมาปรึกษาและตรวจสุขภาพวัยทองกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแต่เนิ่นๆ เพื่อก้าวเข้าสู่วัยทองอย่างมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดี

"วัยทอง" คืออะไร
วัยทอง (Menopause) คือ ภาวะที่สตรีเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน โดยรังไข่จะหยุดสร้างฮอร์โมนเพศหญิงที่มีชื่อว่า เอสโตรเจน และ โปรเจสเตอโรน ส่งผลให้ไม่มีประจำเดือน ถ้าประจำเดือนขาดหายไปครบ 1 ปี แสดงว่ารังไข่ได้หยุดทำงานแล้ว ละถือว่าได้เข้าสู่วัยทองอย่างสมบูรณ์ โดยอายุเฉลี่ยที่ผู้หญิงไทยเข้าสู่วัยทองประมาณ 48-52 ปี  

 

สังเกตอาการ "วัยทอง"

  • อาการร้อนวูบวาบ (hot flush) โดยเฉพาะบริเวณลำตัวส่วนบน เช่น บริเวณหน้า คอ และอก มักเกิดอาการนานประมาณ 1-5 นาที ร่วมกับ อาการอื่น ได้แก่ เหงื่อออก หนาวสั่น วิตกกังวล หรือใจสั่นได้ อาการเหล่านี้อาจรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน และการนอนหลับยากขึ้นได้ 
  • ช่องคลอดแห้งติดเชื้อและคันในช่องคลอด เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ได้
  • โรคกระดูกพรุน
  • โรคไขมันในเลือดสูงเพิ่ม โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันมากขึ้น เนื่องจากจากการขาดเอสโตรเจน เพราะฮอร์โมนเอสโตรเจนทำหน้าที่สำคัญในการลดไขมันไม่ดี (LDL)
  • เพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคอัลไซเมอร์
  • ซึมเศร้า อารมณ์หงุดหงิด มีความวิตกกังวลง่าย
  • ผิวหนังเหี่ยวแห้ง และบาง ขาดความยืดหยุ่น เป็นแผล และกระได้ง่าย
     

 

    เข้าใจและรักษา "วัยทอง" หากร้อนวูบวาบ หงุดหงิดง่าย หัวใจเต้นสั่นรุนแรง

 

วัยทองรักษาได้หรือไม่

  • การรักษาโดยการให้ฮอร์โมนเพศหญิงทดแทน (hormone replacement therapy: HRT) ใช้เฉพาะผู้ที่มีอาการรุนแรงและไม่มีข้อห้ามใช้ฮอร์โมนเพศหญิงทดแทน
  • กลุ่มยาที่ไม่ใช่ฮอร์โมนเพศหญิง (non-hormonal treatment) ได้แก่ กลุ่มยารักษาโรคซึมเศร้า (antidepressant) เช่น ยากลุ่ม SSRIs และ SNRIs ยากลุ่ม selective estrogen receptor modulators (SERMS) ตัวอย่างยาได้แก่ tamoxifen, raloxifene เป็นต้น ยา tibolone และ androgen เป็นต้น
     

 

วิธีดูแลตนเองรับมือกับวัยทอง

1. อาหาร สตรีวัยทองควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และเน้นการกินอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม โยเกิร์ต พืชตระกูลถั่ว เต้าหู้ งาดำ ปลาตัวเล็ก ผักใบเขียว เป็นต้น แคลเซียมที่รับเข้าไปจะเป็นตัวเสริมสร้างกระดูกเพื่อป้องกันภาวะกระดูกพรุน นอกจากนี้ควรควบคุมระดับไขมันในเส้นเลือดโดยงดอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง และเลือกกินอาหารที่ย่อยง่าย

2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น การเดิน การวิ่งเหยาะๆ เต้นรำ รำมวยจีน เต้นแอโรบิก เป็นต้น

3. ฝึกการควบคุมอารมณ์ให้มีความคิดในทางบวก และทำจิตใจให้แจ่มใสเบิกบาน

4. ตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอปีละ 1 ครั้ง  อาทิ

  • ตรวจเช็คความดันโลหิต 
  • ตรวจเลือดหาระดับไขมัน 
  • ตรวจภายในเช็คมะเร็งปากมดลูก 
  • ตรวจหามะเร็งเต้านม (Mammography) 
  • รวมทั้งการตรวจระดับของฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับวัยทอง


5. ปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณารับฮอร์โมนทดแทน ในกรณีที่สตรีวัยทองมีอาการต่างๆ มาก หรือตรวจพบความผิดปกติ เช่น กระดูกบาง หรือกระดูกพรุน และมีความจำเป็นจะต้องได้รับฮอร์โมนเพิ่มเติม แพทย์จะพิจารณาให้ฮอร์โมนทดแทนตามความเหมาะสม

 

ที่มาข้อมูล:
https://www.sikarin.com
https://www.synphaet.co.th

logoline