Lifestyle

"ต้อหิน" หากปล่อยไว้ไม่รักษา อาจทำให้สูญเสียการมองเห็นในที่สุด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ต้อหิน" เกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นต้อหิน นอกจากนี้ ยังพบในผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคไทรอยด์ ผู้ที่มีภาวะสายตาสั้น สายตายาว เป็นต้น

ต้อหินคืออะไร

"ต้อหิน" (Glaucoma) โรคของดวงตาชนิดหนึ่งเกิดจากความเสื่อมของเส้นประสาทตา หรือประสาทตาถูกทำลายมีปัจจัยหลักมาจากการที่ความดันลูกตาสูงเกิดการกดทับขั้วประสาทตาจนทำลายประสาทตา ซึ่งหากปล่อยไว้ไม่รักษา อาจทำให้สูญเสียการมองเห็นในที่สุด โดยโรคต้อหินนี้ พบว่าเป็นสาเหตุสำคัญของการสูญเสียการมองเห็นมากเป็นอันดับ 2 รองจากต้อกระจก 

 

อาการโรคต้อหินเป็นอย่างไร

ส่วนใหญ่แล้ว อาการโรคต้อหินมักไม่สามารถสังเกตได้เองหรือมีสัญญาณเตือนให้ผู้ป่วยรู้ล่วงหน้า ซึ่งอาการของโรคต้อหิน จะมีอาการแตกต่างกันทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของต้อหินโดยทั่วไปแล้วต้อหินจะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ ต้อหินมุมเปิด และ ต้อหินมุมปิด

                                  
"ต้อหิน" หากปล่อยไว้ไม่รักษา อาจทำให้สูญเสียการมองเห็นในที่สุด

  • ต้อหินมุมเปิด เป็นต้อหินที่พบได้บ่อยที่สุด ส่วนมากมักไม่แสดงอาการในระยะแรก เส้นประสาทตาจะค่อยๆ เสียไป ผู้ป่วยจะค่อยๆ สูญเสียการมองเห็นอย่างช้าๆ ตามัวลงเล็กน้อยคล้ายมีหมอกมาบังทางด้านข้างซึ่งอาจใช้ระยะเวลานานหลายปีกว่าจะสูญเสียการมองเห็นหรือตาบอดในที่สุด
  • ต้อหินมุมปิด พบได้น้อยกว่าต้อหินมุมเปิดอาการขึ้นอย่างฉับพลันผู้ป่วยอาจมีอาการปวดตา ตาแดง เห็นแสงรุ้งรอบดวงไฟ และอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย ต้อหินชนิดนี้มีโอกาสรักษาหายขาดได้หากผู้ป่วยมาปรึกษาจักษุแพทย์อย่างรวดเร็ว
     

นอกจากนี้แล้วยังมี 'ต้อหินแต่กำเนิด' มักเกิดในทารกแรกเกิดหรือเด็ก และ ต้อหินชนิดแทรกซ้อนซึ่งเกิดจากภาวะแทรกซ้อนจากความผิดปกติทางตาหรือเกิดจากโรคตาอื่นๆ


 

การวินิจฉัยและวิธีการรักษาต้อหิน

การวินิจฉัยโรคต้อหิน แพทย์จะตรวจวินิจฉัยประวัติทางการแพทย์และตรวจสุขภาพตาโดยมีวิธีการตรวจวินิจฉัยต่างๆ ได้แก่ ตรวจความดันลูกตา ตรวจประสาทตาและจอรับภาพ วัดประสิทธิภาพของลานสายตา วัดความหนาของกระจกตา ตรวจช่องทางการไหลของน้ำหล่อเลี้ยงในลูกตา

การรักษาโรคต้อหิน จะเป็นการลดความดันลูกตาเนื่องจากเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เส้นประสาทตาเกิดความเสื่อมและได้รับความเสียหาย ซึ่งการรักษาจะขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของโรคโดยทางเลือกในการรักษามีหลายวิธี ตั้งแต่การใช้ยาหยอดตา การรับประทานยา การรักษาผ่าตัดด้วยแสงเลเซอร์ และการผ่าตัดชนิดอื่นๆ


 

การป้องกันโรคต้อหิน

ต้อหินเป็นโรคที่ไม่สามารถป้องกันได้ แนะนำว่าสำหรับบุคคลทั่วไปที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปแม้ว่าจะไม่มีอาการผิดปกติในการมองเห็นแต่ควรได้รับการตรวจสุขภาพตา ทุก 2-4 ปี และสำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ควรได้รับการตรวจจอประสาทตาตรวจต้อหินอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงของโรคต้อหินสูงหรือมีประวัติบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับดวงตาอาจต้องเข้ารับการตรวจบ่อยครั้งขึ้น
 


                         ภาพบนคือภาพจำลองของดวงตาปกติ ภาพล่างคือภาพจำลองของดวงตาที่เป็นต้อหิน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ