Lifestyle

"วิตามินดี"ต่ำ ภัยเงียบที่มาเยียนได้ในยุคโควิด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ในช่วงที่ “โควิด”ระบาด การที่คนต้องทำงานอยู่ที่บ้าน เรียนออนไลน์ ไม่ได้ออกไปไหน อาจทำให้เผชิญภัยเงียบของการขาด"วิตามินดี"ในร่างกายได้ไม่รู้ตัว

เนื่องจากในสถานการณ์ปัจจุบันที่เราจำเป็นต้องเก็บตัวอยู่กับบ้าน เพื่อเป็นการป้องกันการระบาดของโรคโควิด 19    ไม่ว่าจะเป็นการ Work from home หรือการเรียนออนไลน์ของเด็กนักเรียนหรือแม้แต่ผู้สูงอายุที่ ไม่ได้ออกจากบ้านเลย ภัยเงียบที่เราอาจไม่รู้ตัวจากการที่อยู่แต่ในบ้าน ผิวหนังที่ไม่ได้รับแสงแดดเพียงพอ ก่อให้เกิดภาวะการบกพร่องวิตามินดี หรือบางคนอาจถึงขั้นขาดวิตามินดีในระดับรุนแรงได้เลย ซึ่งภัยเงียบนี้ มิได้แสดงอาการใดๆ ให้เห็นชัดเจน แต่อาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว รู้อย่างนี้แล้ว เรามารู้จักความสำคัญของวิตามินดีกันดีกว่า

วิตามินดี อาจเรียกได้ว่าเป็นวิตามินเดียวที่ร่างกายเราสามารถสร้างเองได้ วิตามินดีมีความสำคัญต่อร่างกาย ช่วยทำให้แคลเซียมที่รับประทานเข้าไปสามารถดูดซึมได้ดียิ่งขึ้นและอย่างที่ทราบกันว่า แคลเซียมมีความสำคัญต่อกระดูกของร่างกาย หากขาดวิตามินดี ก็จะทำให้แคลเซียมดูดซึมและมีผลดีต่อกระดูกไม่ได้เต็มที่ นอกจากนี้ การศึกษาในระยะหลังยังพบว่าวิตามินดีสัมพันธ์กับโรคอื่น ๆ บางชนิดที่ไม่เกี่ยวข้องกับกระดูกด้วย

 

"วิตามินดี"ต่ำ ภัยเงียบที่มาเยียนได้ในยุคโควิด

 

ข้อมูลจากการสำรวจสุขภาพประชากรไทยของ ศ.นพ.วิชัย เอกพลากร ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล (ปี 2559) พบว่า ประชากรไทยบางแห่งมีการขาดวิตามินดีมาก บางแห่งขาดวิตามินดีน้อยไม่เท่ากัน ซึ่งในเขตเมืองจะขาดวิตามินดีมากกว่าเขตนอกเมือง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการขาดวิตามินดีน้อยกว่าในภาคกลาง อาจเป็นเพราะรูปแบบการใช้ชีวิตและการถูกแดดที่ไม่เหมือนกัน นอกจากนี้ยังพบอีกว่า คนกลุ่มอายุน้อยจะขาดวิตามินดีมากกว่า ซึ่งข้อมูลนี้จะตรงกันกับประเทศในเอเชียอย่างเช่น เกาหลีใต้ และ มาเลเซีย อาจเป็นเพราะว่าประชากรวัยหนุ่มสาวแถบนี้ มีแนวโน้มที่จะหลบแดดกันมากกว่าผู้สูงอายุซึ่งแตกต่างจากประเทศทางตะวันตก

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

คุณประโยชน์ของ “วิตามินดี” ช่วยให้กระดูกแข็งแรง ป้องกันโรคกระดูกบาง (Osteopenia) และกระดูกพรุน (Osteoporosis)  แต่วิตามินดียังมีคุณสมบัติพิเศษอีกมากมายที่หลายคนอาจไม่เคยรู้ นั่นคือ วิตามินดีมีโครงสร้างคล้ายฮอร์โมนเพศ จึงมีบทบาทสำคัญในการควบคุมกระบวนการสำคัญต่างๆ ในร่างกาย  เช่น เพิ่มการหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ช่วยปรับสมดุลน้ำตาลในเลือดและป้องกันโรคเบาหวาน จากการศึกษาพบว่า คนที่ขาดวิตามินดีมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวาน และโรคอ้วน มากกว่าคนทั่วไปและการเสริมวิตามินดีช่วยให้ร่างกายเผาผลาญน้ำตาล (Glucose Metabolism) ได้ดีขึ้นอย่างมีนัยสําคัญ

 

"วิตามินดี"ต่ำ ภัยเงียบที่มาเยียนได้ในยุคโควิด

 

นอกจากนี้วิตามินดียังมีความสัมพันธ์เกี่ยวกับโรคความดันโลหิตสูง (Hypertension) และโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Cardiovascular Diseases) อีกด้วย ผู้ที่ขาดวิตามินดี จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่าคนปกติ และที่สำคัญมากใน “ยุคโควิด” นี้ คือวิตามินดีมีหน้าที่สำคัญในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้เซลล์เม็ดเลือดขาวทำหน้าที่กำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาคุกคามร่างกาย เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส รวมถึง COVID-19  นอกจากนี้ยังช่วยควบคุมการอักเสบไม่ให้เกิดมากเกินไปจนทำลายเนื้อเยื่อ

 

 

ซึ่งความรุนแรงของโรคผู้ป่วย Covid-19 นั้น ไม่ได้เกิดจากตัวเชื้อไวรัสเพียงอย่างเดียว  แต่เกิดจากเม็ดเลือดขาวปล่อยสารเคมีที่กระตุ้นการอักเสบออกมามากเกินควบคุมที่เรียกเป็นศัพท์ทางการแพทย์ว่า พายุไซโตไคน์ (Cytokine Storm) ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายของเซลล์และระบบต่างๆ ในร่างกาย ทำให้เนื้อเยื่อปอดถูกทำลายจนเกิดภาวะหายใจล้มเหลวและเสียชีวิตในที่สุด

ปัจจุบันมีงานวิจัยที่สนับสนุนว่าการขาดวิตามินดีมีความสัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ วิตามินดี ยังมีส่วนในการช่วยให้เราควบคุมความเครียดต่อสถานการณ์ในปัจจุบันได้ดีกว่าคนที่ขาดวิตามินดี  รวมทั้งยังช่วยในการป้องกันภาวะซึมเศร้าได้

 

 

"วิตามินดี"ต่ำ ภัยเงียบที่มาเยียนได้ในยุคโควิด

 

แหล่งของวิตามินดี

ร่างกายสามารถสังเคราะห์วิตามินดีเองได้จากใต้ชั้นผิวหนัง ผ่านการกระตุ้นจากรังสียูวีบี  (Ultraviolet B ray)  ฉะนั้นเพื่อป้องกันการขาดวิตามินดี แนะนำให้ออกมาสัมผัสแสงแดดบ้าง โดยเฉพาะแสงแดดตอนเช้า ในส่วนของอาหารที่มีวิตามินดีสูงนั้นหาได้ยาก และในบางโอกาสหากร่างกายถูกแสงแดดไม่เพียงพอ  การรับประทานวิตามินดีในรูปของอาหารเสริม (Vitamin D Supplementation) ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามเพื่อการรักษาที่ถูกต้องและผลลัพธ์ที่ดีควรปรึกษาแพทย์และตรวจระดับวิตามินดีในเลือดก่อนเสริมวิตามิน

ขอบคุณข้อมูลจาก พญ.ธนีศา ภานุมาตรัศมี  ผู้จัดการแพทย์ แผนกตรวจสุขภาพ รพ. พญาไท 1 และ  https://www.rama.mahidol.ac.th/atrama/issue027/research-focus

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ