
ชวนคุณพ่อคุณแม่ มาสังเกตกัน “ลูกพูดช้า” หรือเปล่า
"ลูกพูดช้า" หรือเปล่า เป็นคำถามที่บางครั้งพ่อแม่ก็คาดไม่ถึงว่าลูก อาจจะใช้การสื่อสารหรือตอบสนองด้วยการ ใช้ภาษากาย หรือการใช้ภาษาที่เราไม่คุ้นชินแต่การ เล่นกับลูก และมีอีกหลายวิธีช่วยให้ลูกเราพูดได้
เมื่อลูกน้อยเกิดมา สิ่งแรกที่ทำคือการสื่อสารโดยการร้องไห้ เขารู้ว่าถ้าร้องจะได้รับการตอบสนองทันที แต่เมื่อเริ่มโตขึ้น เขาก็จะรู้ว่าแค่มองหน้า ยิ้ม หรือมีภาษาท่าทาง นั่นก็เป็นการสื่อสารด้วยเช่นกัน
เด็กได้ฟังเวลาพ่อแม่หรือคนเลี้ยงคุยกับเขา เชื่อมโยงสิ่งที่ได้ยินกับสิ่งที่เห็นจนเกิดเป็นการเรียนรู้เรื่องภาษาในเวลาต่อมา
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าเด็กทุกคนจะมีพัฒนาการทางภาษาเกิดขึ้นที่อายุเดียวกัน บางคนพูดเร็ว เริ่มที่1ขวบกว่าๆ บางคนก็เริ่มที่อายุใกล้2ขวบ
แล้วเมื่อไรถึงจะเรียกว่า ผิดปกติพญ.สินดี ตันศิริ (จำเริญนุสิต) กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรม ศูนย์สุขภาพเด็ก โรงพยาบาลนวเวชจึงชวนคุณพ่อคุณแม่มาสังเกตพัฒนาการทางการพูดของลูกกัน
พัฒนาการทางการพูดของเด็กปกติเป็นยังไง
ช่วงแรกเกิด- 4เดือน
ความเข้าใจภาษา
-ตอบสนองเมื่อมีเสียงดัง เช่น ร้อง กระพริบตา
-หยุดฟังเสียงหรือหยุดร้องไห้ เมื่อได้ยินเสียงคนเลี้ยง
การใช้ภาษา
-ร้องด้วยเสียงที่ต่างกัน เมื่อหิว หรือเจ็บ ฯลฯ
-ยิ้ม ส่งเสียง เมื่อเห็นคนเลี้ยง หรือมีคนมาเล่นด้วย
-ระวัง ไม่ตอบสนองต่อเสียง เมื่อเด็กอยู่ในช่วงที่ตื่นดี
ช่วงอายุ5-7เดือน
ความเข้าใจภาษา
-เริ่มหันหาที่มาของเสียง
-มีปฏิกิริยาที่ต่างกันต่อน้ำเสียงหรืออารมณ์ของผู้ใหญ่
-หยุดฟัง มองหน้า เวลามีคนคุยด้วย
การใช้ภาษา
-หัวเราะ เมื่อมีคนเล่นด้วย
-เล่นเสียงได้หลากหลายขึ้น
-ระวัง! *ลูกส่งเสียงน้อย ไม่ส่งเสียงอ้อแอ้ โต้ตอบกับคนเลี้ยง
ช่วงอายุ9-12เดือน
ความเข้าใจภาษา
-เริ่มเข้าใจคำสั่งห้าม เช่น“ไม่” “หยุด”
-มองตามสิ่งที่ผู้ใหญ่ชี้ให้ดู
-ทำตามสั่งง่ายๆ ได้ เช่น บายบาย
-จำชื่อคนในบ้านพอได้
การใช้ภาษา
-ใช้เสียงคล้ายคำ เพื่อเรียกชื่อหรือสิ่งที่คุ้นเคย
-ส่ายหน้า หรือพยักหน้า เพื่อตอบคำถาม
-เริ่มมีคำที่มีความหมาย เริ่มเรียก ปาปา มามา ได้
-ระวัง! *ลูกไม่หันหาเสียง ไม่ทำเสียง เลียนเสียงพยัญชนะอื่นนอกจาก“อ”
ช่วงอายุ15เดือน
ความเข้าใจภาษา
-ทำตามสั่งได้มากขึ้น เช่น“ไปเอารองเท้า”
-หันมอง หรือชี้คนหรือสิ่งของเมื่อถูกถาม เช่น“ไหนแม่”
การใช้ภาษา
-พยายามร้องเพลงหรือพูดตามแบบ
-ชี้ชวนให้คนอื่นดูสิ่งที่ตนสนใจ
-พูดได้4-6คำ
-ระวัง ลูกยังไม่พูดคำที่มีความหมายอย่างน้อย1คำ เช่น หม่ำ ไป เอา ฯลฯ
ช่วงอายุ18เดือน
ความเข้าใจภาษา
-ชี้อวัยวะตามสั่งได้1-3อย่าง
-ตอบสนองถูกต้องกับเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน เช่น“ไปอาบน้ำ”ฯลฯ
-ทำตามสั่งที่ไม่มีท่าทางประกอบได้
การใช้ภาษา
-มีการพูดโต้ตอบด้วยพยางค์เดียวได้
-เล่นเสียงได้ เช่น เสียงรถ บรืนบรืน เสียงสัตว์ร้อง
-ใช้ท่าทางร่วมกับคำพูดเพื่อถาม เช่น ชี้“อะไร”
-บอกความต้องการง่ายๆ ได้ เช่น“เอา” “ไป”
-ระวัง ลูกไม่เข้าใจ หรือไม่ทำตามคำสั่งง่ายๆ เช่น เอาให้แม่ ไปหยิบของ ฯลฯ ไม่พูดคำที่มีความหมาย3คำ
ช่วงอายุ2ปี
ความเข้าใจภาษา
-ชี้อวัยวะได้3-6อย่าง
-ทำตามสั่งได้2ขั้นตอน ชี้รูปได้มากขึ้น
-เข้าใจคำถามมากขึ้น เช่น“นี่อะไร”ฯลฯ
การใช้ภาษา
-พูดเป็นคำที่มีความหมายได้มากขึ้น ประมาณ50คำ
-เรียกชื่อของในบ้านได้มากขึ้น
-พูดเป็นวลีสั้นๆ ได้ เช่น“ไปเที่ยว” “ไม่กิน”ฯลฯ
-ถามคำถาม“อะไร”
-ระวัง ลูกไม่พูดคำที่มีความหมายต่างกัน2คำต่อเนื่องเช่น เอานม ไปเที่ยว ฯลฯ พูดคำศัพท์น้อยกว่า50คำ
ช่วงอายุ2ปีครึ่ง
ความเข้าใจภาษา
-เริ่มทำตามสั่งที่ซับซ้อนได้มากขึ้น
-ชี้ภาพในหนังสือได้ถูกต้องมากขึ้น
การใช้ภาษา
-บอกชื่อตัวเองได้
-บอกความต้องการได้ เล่าเรื่องที่สนใจแต่อาจจะยังไม่เชื่อมโยง
-ระวัง ลูกไม่พูดเป็นวลียาว3-4คำ ยังทำเสียงไม่เป็นภาษา
ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตว่าลูกน้อยมีพัฒนาการทางการพูดที่สงสัยว่าลูกพูดช้า ควรปรึกษากุมารแพทย์ เพื่อประเมินและให้คำแนะนำต่อไป
คำแนะนำเบื้องต้นในการพัฒนาภาษาของลูก
1.มีเวลาพูดคุยหรือเล่นกับลูก งดการดูจอทุกชนิด ยกเว้นการvideo call
2.ออกเสียงพูดให้ชัดเจน เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูก
3.ถ้าลูกพูดช้า คนเลี้ยงควรพูดในสิ่งที่เขาสนใจหรือกำลังทำ เพื่อให้เรียนรู้ได้ง่ายขึ้น ร่วมกับฝึกให้เขาทำตามสั่ง ซึ่งเราอาจจะต้องจับมือทำไปด้วย เพื่อให้เขาเชื่อมโยงคำพูดกับการกระทำ รอและเปิดโอกาสให้ลูกได้เปล่งเสียงตามด้วย
4.มีการเล่น ชี้ชวนดูรูปภาพในหนังสือ หรือสิ่งของรอบตัว ร้องเพลง เล่นสมมติ เพื่อเพิ่มคำศัพท์
5.ฝึกให้ลูกพูดในสถานการณ์จริง โดยการ
-ตั้งคำถาม เช่น“อะไร” “ที่ไหน”
-เป็นผู้ฟังที่ดี หยุดรอให้ลูกสบตา ขยับปากจะพูด อาจจะถามซ้ำถ้าไม่เข้าใจ หรือพูดแทนไปก่อน เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้
-ขยายความคำตอบของลูก และชมเขา เมื่อเห็นว่าพยายามสื่อสาร
เพียงเท่านี้ พ่อแม่ก็สามารถพัฒนาทักษะทางภาษาของลูกเบื้องต้นได้
ที่มาข้อมูล : โรงพยาบาลนวเวช