Lifestyle

"กลอย" ไม้เถาล้มลุก อร่อย อาหารชั้นเลิศ แต่ดูกันให้ดี ๆ ก่อนกิน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"กลอย" ไม้เถาล้มลุก อร่อย สรรพคุณมากมายเป็นอาหารชั้นเลิศ แต่ต้องระวังก่อนกิน เพราะมีสารพิษร้ายแรง ต้องล้างออกเสียก่อน

 

 

กลอย  จัดเป็นไม้เถาล้มลุก มีหัวใต้ดิน โดยจะอยู่ลึกจากผิวดินประมาณ 10-15 เซนติเมตร

 

 

ลำต้นหรือเถา กลมขนาดเล็กประมาณ 0.3-0.5 เซนติเมตร มีหนามเล็ก ๆ กระจายทั่วไป และมีขนนุ่มๆ สีขาวปกคลุม มักจะพาดพันไปบนต้นไม้อื่น ๆ

 

 

หัวใต้ดินส่วนมากกลมรี บางทีเป็นพู รูปร่างไม่สมมาตร มีรากเล็ก ๆกระจายทั่วทั้งหัว ในหนึ่งต้น มี 3-5 หัว เปลือกหัวบาง โดยหัวอ่อน เปลือกจะมีสีครีม ส่วนหัวแก่จะเป็นสีเทาอมดำ

 

 

 

 

ใบ  เป็นใบประกอบแบบเรียงสลับ จะมีก้านใบหลัก ยาว 5-10 ซม. ซึ่งแต่ละก้านใบจะประกอบด้วยใบย่อย 3 ใบ มีก้านใบย่อยสั้น 0.5-1.5 ซม. แต่ละใบมีลักษณะคล้ายใบถั่ว โคนใบ และปลายใบสอบแหลม ปลายใบจะมีติ่งแหลม กลางใบกว้าง มีสีเขียว แผ่นใบและขอบใบเรียบ มีเส้นกลางใบมองเห็นได้ชัดเจน 1 เส้น

 

 

และเส้นใบขนานกับเส้นกลางใบข้างละ 1 เส้น รวมมีเส้นใบ 3 เส้น โดยใบจะมีความยาวประมาณ 10-25 ซม. กว้างประมาณ 8-15 ซม. 

 

 

ดอก ออกเป็นช่อแบบแยกแขนง โดยจะแทงออกตามซอกใบ แต่ละช่อจะมี 5-12 ช่อย่อย ส่วนดอกย่อยมีขนาดเล็ก จำนวน 30-50 ดอกสีเขียว ห้อยลง ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อแยกแขนง 2-3 ชั้น ดอกตั้งขึ้น ยาวได้ถึง 40 เซนติเมตร ดอกเพศเมียออกเป็นช่อชั้นเดียว ดอกชี้ลงดิน

 

 

กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ 6 กลีบ  ผลมีลักษณะเป็นแผ่น 3 แผ่น เชื่อมติดกันเป็น 3 เหลี่ยม แต่ละแผ่นกว้างประมาณ 2ซม. ยาวประมาณ 5 ซม. ในแต่ละแผ่นจะมีเมล็ด 1 เมล็ด โดยเป็นเมล็ด มีลักษณะกลมแบนผิวเกลี้ยงและมีปีกบางใส สำหรับช่วยในการลอยตามแรงลม

 

 

กลอย สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ด และการแยกเหง้าหรือหัว ซึ่งในธรรมชาติจะเป็นการขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ด โดยเมล็ดจะถูกลมปลิวไปตกยังพื้นที่ต่างๆแล้วเจริญเติบโตตามธรรมชาติต่อไป

 

 

ส่วนการนำมาปลูกเพื่อใช้ประโยชน์นั้น นิยมใช้วิธีการแยกหัวที่มีตายอด ออกมาปลูก หรือขุดต้นอ่อนจากป่ามาปลูก ทั้งนี้กลอยเป็นพืชที่ปลูกง่าย และมีความทนทานต่อความแห้งแล้ง แต่ต้องมีต้นไม้ใหญ่หรือค้างให้เถาได้เลื้อยเกาะ

 

 

 

 

สามารถพบ กลอย ได้ทั่วไปในเขตป่าฝนในเขตร้อน ในหัวกลอยมีแป้งเป็นส่วนประกอบหลัก และมีสารพิษที่ชื่อว่า ไดออสคอรีน (dioscorine) โดยปริมาณสารพิษจะขึ้นอยู่กับฤดูกาลที่เก็บ

 

 

กลอยจะมีพิษมากในช่วงที่ออกดอก คือช่วงหน้าฝน ประมาณเดือนสิงหาคม - ตุลาคม และจะลดลงเมื่อกลอยเริ่มลงหัวในช่วงฤดูร้อน ประมาณเดือนเมษายน การเก็บกลอยนิยมทำกันในหน้าร้อน เพราะกลอยจะมีหัวใหญ่ โผล่พ้นดินและเถาแห้งตาย ทำให้เก็บง่าย 

 

 

กลอยที่เรานิยมนำมารับประทานมีอยู่ 2 ชนิด คือ กลอยข้าวเจ้า ที่ลักษณะของเถาและก้านใบมีสีเขียว เนื้อในหัวมีสีขาวนวลและหยาบ อีกชนิดคือ กลอยข้าวเหนียว ที่เถาจะมีสีน้ำตาลอมดำ เนื้อในหัวมีสีเหลืองอ่อนถึงเหลืองเข้ม เนื้อเหนียว

 

 

กลอยข้าวเหนียวจะมีรสชาติดีกว่ากลอยข้าวเจ้าจึงได้รับความนิยมมากกว่า แต่กลอยทั้งสองชนิดก็มีพิษพอๆ กัน ดังนั้น ก่อนกินต้องมีกรรมวิธีในการกำจัดพิษออกเสียก่อน

 

 

สารไดออสคอรีน มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลางซึ่งอาจทำให้ถึงตายได้ ทำให้เมา คันคอ อาเจียน เหงื่อออก ตาพร่า ใจสั่น วิงเวียน ต้องนำมาทำให้หมดพิษ โดยปอกเปลือกทิ้ง แล้วหั่นเป็นแผ่นบาง ๆ ใส่ชะลอมหรือตะกร้าแล้วนำไปแช่ทิ้งไว้ให้น้ำไหลผ่าน เช่นน้ำทะเล น้ำตก น้ำห้วย สัก 2-3 วัน ล้างให้สะอาด จึงจะรับประทานได้

 

 

สรรพคุณ    
         

 

ใช้  หัวใต้ดินแก้เถาดานซึ่งเป็นอาการแข็งเป็นลำในท้อง   

 

หั่นหัว เป็นแผ่นบางๆปิดบริเวณที่มีอาการบวมอักเสบ

 

 

หุงเป็นน้ำมันใส่แผล กัดฝ้า กัดหนอง 

 

 

ราก บดผสมกับน้ำมันมะพร้าว ใบยาสูบ ใบลำโพงหรือพริก ใช้ทาหรือพอกฆ่าหนอนในแผลสัตว์เลี้ยง 

 

 

หัว ตากแห้ง ปรุงเป็นยาแก้น้ำเหลืองเสีย ขับปัสสาวะ แก้ปวดตามข้อ ฝีมะม่วง โรคซิฟิลิส  
          

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ