Lifestyle

“ใบกระท่อม” สรรพคุณทางยาคุณค่าทางแพทย์ที่คุณควรรู้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รู้จัก “ใบกระท่อม” สรรพคุณทางยาหลายด้าน พร้อมคุณค่าทางการแพทย์ หลังปลดจากบัญชียาเสพติด ทำให้ทั้งกินและขายได้แล้ว

"กระท่อม" ไม่ใช่พืชผิดกฎหมายอีกต่อไป เพราะหลังวันที่ 24 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมาถือว่ากฎหมายพืชกระท่อมมีผลบังคับใช้ โดยยกเลิกกระท่อมจากการเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เรียบร้อยแล้ว เรียกได้ว่าเป็นข่าวดีของเกษตรกรและคนทั่วไปที่จะสามารถกิน ใช้ และสร้างรายได้จากต้นกระท่อมนี้ เพราะกระท่อมเป็นพืชที่มีสรรพคุณดีต่อสุขภาพ

“กระท่อม” เป็นไม้ยืนต้นที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า มิตราไจนา สเปซิโอซา คอร์ท (Mitragyna Speciosa Korth) จัดอยู่ในตระกูล รูเบียซีอี (Rubiaceae) มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนชื้นแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในประเทศไทยที่จะพบมากในป่าธรรมชาติบริเวณภาคใต้ เช่น จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง สตูล พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และตอนบนของประเทศมาเลเซีย  รวมถึงในบางจังหวัดของภาคกลางและภาคอื่นๆ  ในประเทศไทยส่วนใหญ่พบกระท่อมอยู่ 3 พันธุ์ คือ แตงกวา (ก้านเขียว) ยักษาใหญ่ (รูปใบใหญ่) และก้านแดง  โดยกระท่อมเป็นพืชที่คนในท้องถิ่นนั้นนิยมนำมาเคี้ยวใบสด หรือ ต้มเป็นชา เพื่อกระตุ้นให้ทำงานได้โดยไม่เมื่อยล้าโดยเฉพาะกลุ่มทำสวน ทำนา 

 

“ใบกระท่อม” สรรพคุณทางยาคุณค่าทางแพทย์ที่คุณควรรู้

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

สรรพคุณทางยา คุณค่าทางการแพทย์

ในประเทศไทยมีการนำกระท่อมมาใช้เป็นยาแก้โรคบิด ท้องร่วง และปวดมวนท้อง และบางพื้นที่บอกต่อกันมาว่าสามารถบรรเทาโรคเบาหวานได้ ส่วนชาวนาชาวสวนนิยมบริโภคโดยการเคี้ยวใบสด หรือเอาใบกระท่อมมาย่างให้เกรียมและตำผสมกับน้ำพริกกินเป็นอาหาร เพื่อให้มีแรงทำงานและสามารถทนตากแดดอยู่กลางแจ้งได้เป็นเวลานานโดยไม่รู้สึกเหนื่อย และในบางพื้นที่มีการนำใบกระท่อมมาตำเพื่อพอกแผล  นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณทางยาที่ได้รับการยอมรับ ทั้งช่วยแก้ปวดท้อง  แก้บิด  แก้ท้องร่วงท้องเสีย ท้องเฟ้อ แก้ปวดเมื่อย และแก้ไข้ รวมทั้งในงานวิจัยของชาวอังกฤษและญี่ปุ่น ที่ตีพิมพ์รายงานวิชาการระบุว่าสารธรรมชาติในใบกระท่อม สามารถแก้ปวด ลดไข้ มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นยาแก้ปวดตัวใหม่ได้ โดยไม่มีฤทธิ์เสพติดเหมือนฝิ่น

 

“ใบกระท่อม” สรรพคุณทางยาคุณค่าทางแพทย์ที่คุณควรรู้

 

 

"ใบกระท่อม" มีสารแอลคะลอยด์ ไมตราเจนีน (Mitragynine) ที่มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ระงับอาการปวดเช่นเดียวกับมอร์ฟีน ช่วยให้กระปรี้กระเปร่า ลดอาการปวดเมื่อย  แต่มีความแรงต่ำกว่ามอร์ฟีนประมาณ 10 เท่า และมีข้อดีกว่ามอร์ฟีนอยู่หลายอย่าง เช่น 

  • ไม่กดระบบทางเดินหายใจ
  • ไม่ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน
  • พัฒนาการในการติดยาเกิดช้ากว่ามอร์ฟีนหลายปี
  • ไม่มีปัญหาเรื่องอาการอยากยา  จนก่อเหตุร้ายหรืออาชญากรรมรุนแรง
  • ใช้บำบัดอาการติดฝิ่นหรือมอร์ฟีนได้

 

ข้อดีหลังปลดจากการเป็นยาเสพติด  

  • ด้านบุคคล – สามารถนำมากินได้ โดยกินใบสด หรือนำมาต้ม และขายได้ (แต่ห้ามนำไปผสมกับยาเสพติดชนิดอื่น เช่น พวกสารเสพติดชนิด 4x100 และห้ามจำหน่ายให้เยาวชน)
  • ด้านการแพทย์ – นำไปใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดแทนมอร์ฟีน และบำบัดผู้ติดยาเสพติดได้
  • ด้านสังคม  - ลดสถิติคดีที่เกี่ยวกับกระท่อมลง  ช่วยประหยัดงบประมาณของรัฐ
  • ด้านเศรษฐกิจ – สร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านที่เพาะปลูก ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : https://www.oncb.go.th, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ,   https://www.fascino.co.th,https://www.kaset1009.com, สำนักงานกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, สำนักงาน ป.ป.ส. กระทรวงยุติธรรม  

 

 

 

logoline