Lifestyle

5 สัญญาณสงสัยเด็ก "แพ้นมวัว" เปิดทางเลือกของคนแพ้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิด 5 สัญญาณสงสัยเด็ก "แพ้นมวัว" ทางเลือกของคนแพ้ "นมวัว" ซึ่งเป็นแหล่งของโปรตีนและแคลเซียม มีประโยชน์กับคนทุกเพศ ทุกวัย

"นมวัว" เป็นแหล่งของโปรตีนและแคลเซียม มีประโยชน์กับคนทุกเพศ ทุกวัย แต่ก็พบว่าผู้บริโภคนมวัวบางกลุ่มจะมีอาการ "แพ้นมวัว"  ซึ่งสาเหตุหลักมักเป็นการแพ้โปรตีนจากนมวัว (cow’s milk allergy)

 

 

ปัจจุบันโรค "แพ้นมวัว" พบได้บ่อยและมีอาการแสดงหลากหลายรูปแบบ ซึ่งปฏิกิริยาในการแพ้ "นมวัว" อาจเกิดจากกระบวนการทำงานของแอนติบอดี้ IgE mediated หรือ  non IgE mediated หรืออาจเกิดจากทั้ง 2 อย่างร่วมกันได้ โดยสาเหตุอาจเกิดจากการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันตั้งแต่ในช่วงตั้งครรภ์

 

นอกจากนี้ยังพบโรค "แพ้นมวัว" ได้บ่อยในช่วงวัยทารกอันอาจเกิดจากระบบการย่อยอาหารของทารกที่ยังไม่พัฒนาอย่างเต็มที่

 

ประวัติที่น่าสงสัยว่าแพ้นมวัว

 

1.มีโรคภูมิแพ้ของบุคคลในครอบครัว

 

2.มีอาการที่แสดงหลังจากเด็กดื่มนมวัว  เช่น มีผื่นลมพิษ ปากบวมตาบวม ถ่ายมูกเลือด หายใจติดขัดดังครืดคราด หรือผื่นแพ้ผิวหนังที่มีอาการปานกลางถึงรุนแรง

 

3.มีประวัติว่าแม่ดื่มนมวัวในช่วงตั้งครรภ์มากกว่าปกติ ซึ่งโปรตีนในนมวัวอาจกระตุ้นให้ทารกเกิดการแพ้ได้ 

 

4.กรณีที่เด็กกินนมแม่อย่างเดียว ในขณะที่แม่ดื่มนมวัวมากกว่าปกติในช่วงให้นมบุตร

 

5.เด็กมีน้ำหนักน้อยกว่าปกติ หรือมีประวัติเปลี่ยนนมมาหลายยี่ห้อ แต่ยังมีอาการดังที่กล่าวไปข้างต้น

 

อาการแพ้นม

 

หากเป็นอาการเฉียบพลันที่เกิดจาก IgE mediated อาการจะเกิดขึ้นหลังจากดื่มนมวัวภายใน 15 นาที – 2 ชั่วโมง โดยจะมีอาการแพ้ซึ่งแต่ละคนจะมีอาการที่แตกต่างกันไป เช่น มีผื่นคันขึ้นตามผิวหนัง, ลมพิษ, ปากบวม, ลิ้นบวม, หายใจลำบาก, ปวดท้อง หรืออาเจียน เป็นต้น

 

หากอาการเกิดจาก non IgE mediated หรือทั้ง 2 อย่างตามที่กล่าวในตอนต้น อาการอาจเกิดขึ้นหลังดื่มนมวัว ประมาณ 6-48 ชั่วโมง ซึ่งอาการก็อาจต่างกัน เช่น ผื่นแพ้ผิวหนัง ถ่ายเป็นมูกเลือดหรือหายใจครืดคราด

 

 

ทำอย่างไรถ้ารู้ว่าแพ้นมวัว

 

ถ้ารู้ว่าตัวเองมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง แนะนำให้มาพบแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้อง และการปฏิบัติตัวที่ดีที่สุด คือ การงดดื่มนมวัวและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมวัวทุกชนิดอย่างน้อย 3-6 เดือน ถึง 1 ปี  แล้วลองกลับมาทดลองดื่มใหม่ในปริมาณน้อย ๆ หากไม่ใช่อาการแพ้รุนแรง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเห็นของแพทย์

 

สำหรับทารกที่ดื่มนมแม่ สามารถกินนมแม่ต่อได้ แต่ต้องให้แม่งดนมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัว อย่างน้อย 1 สัปดาห์ จึงเริ่มกินนมแม่ได้ ในระหว่างที่งดนมแม่อาจพิจารณาใช้นมสูตรพิเศษทางการแพทย์สูตรเปปไทด์สายสั้น (extensively hydrolyzed formula)  แทนได้ แต่หากอาการแพ้ไม่ดีขึ้นค่อยพิจารณาใช้นมที่เป็นอาหารทางการแพทย์ หรือที่เรียกว่าสูตรกรดอะมิโน (amino acid formula) โดยมารดาที่งดนมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัว ควรได้รับการเสริมแคลเซียมทดแทน

 

สำหรับการรักษาอาการที่เกิดขึ้นจากการแพ้นมวัวจะเป็นการงดนมวัว และให้ยารักษาตามอาการ นอกจากนี้มีการแนะนำให้เด็กที่มีอายุมากกว่า 1 ปี ที่ไม่ได้แพ้ถั่วเหลือง อาจพิจารณาเปลี่ยนเป็นนมถั่วเหลืองสูตรไม่หวาน ที่มีการเสริมแคลเซียม เป็นทางเลือกได้

 

การป้องกันการแพ้นมวัว

 

ในเด็กเล็ก การดื่มนมแม่จะช่วยป้องกันการเกิดการแพ้อาหารได้เพราะเป็นการลดการสัมผัสโปรตีนแปลกปลอมจากนมผสม นอกจากนี้นมแม่ยังช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้อีกด้วย โดยไม่ควรงดนมวัวในกรณีที่ไม่มีอาการแพ้นมวัว เนื่องจากอาจทำให้มีความเสี่ยงต่อการขาดสารอาหารในเด็กได้โดยเฉพาะแคลเซียม

 

(ปริมาณแคลเซียมที่ต้องการตามอายุ ได้แก่ ทารกอายุ 0-5 เดือน ได้รับเพียงพอจากนมแม่เพียงอย่างเดียว, ทารกอายุ 6-11 เดือน 270 มิลลิกรัมต่อวัน, เด็กอายุ 1-3 ปี 500 270 มิลลิกรัมต่อวัน)

 

ทางเลือกอื่น ๆ สำหรับเด็กโตหรือผู้ใหญ่ที่แพ้นมวัว

 

ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์นมที่ได้จากพืชหลากหลายชนิด และสามารถหาซื้อได้ง่ายตามห้างสรรพสินค้าหรือร้านสะดวกซื้อต่าง ๆ เช่น

 

1.นมจากถั่วเหลือง (Soy milk) สามารถใช้เป็นทางเลือกหากแพ้นมวัว แต่ไม่แพ้ถั่วเหลือง โดยให้เลือกนมถั่วเหลืองที่มีการเสริมแคลเซียม เนื่องจากนมถั่วเหลืองจากธรรมชาติจะมีแคลเซียมต่ำ ข้อดีคือ ราคาไม่แพง หาซื้อได้ง่าย

 

2.นมจากอัลมอนด์ (Almond milk) เป็นนมทางเลือกของกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการจำกัดปริมาณแคลอรีในแต่ละวันเพราะนมจากอัลมอนด์ ให้พลังงานที่ต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับนมวัวหรือนมถั่วเหลืองในปริมาณที่เท่ากัน อีกทั้งยังอุดมไปด้วยไขมันที่ดี และวิตามินอี แต่มีปริมาณโปรตีน และแคลเซียมน้อย ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องระวัง โดยเฉพาะการให้นมชนิดนี้กับเด็กอาจได้คุณค่าทางอาหารน้อย ดังนั้นควรอ่านฉลากโภชนาการก่อน และเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีการเสริมแคลเซียมด้วย

 

3.นมข้าวโพด (Corn milk) และนมจากข้าว (Rice milk) นมข้าวโพดและนมจากข้าวจะมีปริมาณโปรตีนไม่มากนักเมื่อเทียบกับนมวัว และเหมาะกับผู้บริโภคที่มีประวัติการแพ้ถั่ว หรืออัลมอนด์ อย่างไรก็ตามเพื่อให้การกินนมที่ไม่ใช่นมวัวนั้นมีคุณค่าทางสารอาหารมากขึ้น ผู้ผลิตบางรายก็มีการนำกระบวนการแปรรูปวัตถุดิบโดยใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณสารอาหารในนมข้าวโพดและนมจากข้าวให้มีมากขึ้น เช่น การเสริมแคลเซียม เป็นต้น

 

คุณประโยชน์ของนมจากพืชแต่ละชนิดจะมีความแตกต่างกันตามชนิดของพืช คุณภาพของวัตถุดิบ และกรรมวิธีการผลิต บางผลิตภัณฑ์ใช้วัตถุดิบในระยะที่มีสารอาหารสูง เช่น ใช้ข้าวในระยะงอก หรือการใช้เทคโนโลยีการแปรรูปวัตถุดิบให้คงปริมาณสารอาหารไว้ให้ได้มากที่สุด ดังนั้นก่อนการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ สิ่งสำคัญที่ต้องใส่ใจ คือ การอ่านฉลากข้อมูลทางโภชนาการ (Nutrition information) และส่วนประกอบ (Ingredients) อย่างละเอียดเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ และได้รับสารอาหารที่เพียงพอในแต่ละช่วงวัย อีกทั้งข้อควรระวังในการบริโภคนมจากพืช บางผลิตภัณฑ์มักมีปริมาณน้ำตาลสูง ควรเลือกสูตรหวานน้อยหรือไม่หวานเลย และควรให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารให้หลากหลาย และครบ 5 หมู่ เพื่อให้ได้รับสารอาหารครบถ้วน

 

อาหารทางการแพทย์ที่ใช้รักษาผู้ที่มีภาวะแพ้โปรตีนนมวัว

 

1.Soy protein-based formula (อาหารทางการแพทย์สูตรโปรตีนจากถั่วเหลือง) ใช้รักษา ผู้ป่วยที่มีภาวะแพ้โปรตีนนมวัวได้ อย่างไรก็ตามในถั่วเหลืองมีโปรตีน β-conglycin และ glycinin ซึ่งเป็นโปรตีนโมเลกุลใหญ่ และสามารถก่อให้เกิดอาการแพ้ได้เช่นกัน  จึงมีการแนะนำให้ใช้อาหารทางการแพทย์สูตรโปรตีนจากถั่วเหลืองสำหรับรักษาภาวะแพ้โปรตีนนมวัวในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ซึ่งได้แก่ กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการแสดงของภาวะแพ้อาหารแบบเฉียบพลัน ผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ที่มีอาการไม่รุนแรง และแนะนำให้ใช้ในทารกอายุมากกว่า 6 เดือนขึ้นไป หากผู้ป่วยรับประทานอาหารทางการแพทย์สูตรโปรตีนจากถั่วเหลืองแล้วไม่ได้ผล แนะนำให้ใช้อาหารทางการแพทย์สูตรเปปไทด์ขนาดเล็กหรือสูตรกรดอะมิโนแทน

 

2.Extensively hydrolyzed formula (อาหารทางการแพทย์สูตรเปปไทด์สายสั้น) เป็นสูตรอาหารที่ทำให้โปรตีนผ่านกระบวนการย่อยโดยใช้เอนไซม์ ความร้อน หรือกระบวนการ Ultrafiltration เพื่อให้แตกตัวเป็นเปปไทด์สายสั้น ๆ เพราะเนื่องจากภาวะแพ้โปรตีนจากนมวัวนั้น โปรตีนที่ทำให้เกิดอาการแพ้ คือ β-lactoglobulin ดังนั้น การย่อยโปรตีนเป็นเปปไทด์สายสั้น จะทำให้ปริมาณ βlactoglobulin ในนมลดลง ซึ่งจะมีโอกาสกระตุ้นให้เกิดการแพ้ลดลง

 

3. Amino acid-based formula (อาหารทางการแพทย์สูตรกรดอะมิโน) เป็นสูตรนมที่ประกอบด้วย กรดอะมิโนจำเป็น (essential amino acids) และกรดอะมิโนไม่จำเป็น (non-essential amino acids) ส่วนคาร์โบไฮเดรตมาจาก corn glucose polymer เป็นส่วนใหญ่ และปราศจากน้ำตาลแลคโตส ส่วนไขมันมาจากน้ำมันพืชชนิดต่าง ๆ ซึ่งนมชนิดนี้จะใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการแพ้โปรตีนนมวัวอย่างรุนแรง และไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยนมสูตรเปปไทด์ขนาดเล็ก

 

4. Modular formula (MF, อาหารทางการแพทย์สูตรที่เตรียมสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย) คือ นมสูตรทางการแพทย์ที่เตรียมสำหรับผู้ป่วยให้เหมาะสมกับโรคแต่ละโรค โดยนมสูตรที่เตรียมสำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายที่ใช้ในการรักษาภาวะแพ้โปรตีนนมวัว เช่น นมสูตรโปรตีนจากเนื้อไก่ หรือนมข้าวอะมิโน เป็นต้น

 

ข้อมูลจาก โรงพยาบาลสมิติเวช

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง