
เด็กไทยหอบงานวิจัยขึ้นเที่ยวบินไร้น้ำหนัก
องค์กรสำรวจอวกาศญี่ปุ่นสนับสนุนทีมเยาวชนไทยโดยสารเที่ยวบินไร้น้ำหนัก ศึกษาน้ำซึมบนผิวผ้าในสภาวะไร้น้ำหนัก หวังสร้างองค์ความรู้ใหม่หนุนการพัฒนาสิ่งทอพิเศษ รวมถึงเทคนิครดน้ำต้นไม้อวกาศในอนาคต
การศึกษาลักษณะการซึมของน้ำบนผิวผ้าในสภาวะไร้น้ำหนัก เป็นโครงการวิจัยของเยาวชนไทย ที่จะร่วมทดลองบนเที่ยวบินพาราโบลิก หรือเที่ยวบินไร้น้ำหนักที่ญี่ปุ่น โดยการสนับสนุนขององค์กรสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) ในช่วงวันที่ 22-28 มีนาคมนี้ คาดว่าความรู้ที่เกิดขึ้นจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเทคโนโลยีสิ่งทอ เมมเบรนและแล็บออนชิป รวมถึงต่อยอดสู่เทคโนโลยีการซึมของน้ำ ที่จำเป็นต่อการรดน้ำต้นไม้ในอวกาศ ที่อาจจะมีในอนาคต
เที่ยวบินพาราโบลิกคือการบินในลักษณะโค้งขึ้นลงเป็นรูปคลื่น จนทำให้เกิดสภาวะไร้น้ำหนักประมาณ 20 วินาที และนักวิจัยหรือเจ้าของโครงงานจะใช้ช่วงเวลาดังกล่าวทดลองและสรุปผล
นายจักรภพ วงศ์วิวัฒน์ นักศึกษาผู้ร่วมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า การทดลองบนสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงจะดูการดูดซึมบนผ้า 5 ชนิดคือ ผ้าฝ้าย เรยอน ซาติน ไนลอน และผ้าไหม โดยจะหยดน้ำลงผ้าแต่ละชนิด และศึกษาดูมุมสัมผัสของหยดน้ำและผิวผ้า รวมถึงการกระจายตัวของน้ำในเวลาที่เท่ากัน ทั้งในสภาวะแรงโน้มถ่วงปกติและสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง เพื่อดูความแตกต่างทางกายภาพ
แม้ว่าการซึมของหยดน้ำ ไม่ใช่แนวคิดแรกสำหรับเยาวชนกลุ่มนี้ พวกเขายอมรับว่า ช่วงแรกคิดกัน 3-4 ชิ้นงาน เพื่อที่จะเลือกชิ้นงานที่ทำได้ง่าย มีความชัดเจน สามารถตอบโจทย์ที่จำเป็นต้องใช้ และ “น้ำ” ก็เป็นปรากฏการณ์ที่พบเห็นได้ทุกวัน
"แม้จะดีใจที่ได้รับคัดเลือก แต่ปัญหาหนึ่งที่จะพบคือ นักบินจะบินในระดับที่เกิดสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง 10 ครั้ง ครั้งละ 20 วินาที ดังนั้น การทดลองในผ้าแต่ละชนิดต้องทำให้จบใน 20 วินาที จึงแก้ปัญหาด้วยการติดกล้องวิดีโอ 2 มุม กดบันทึกด้วยรีโมตคอนโทรลในครั้งเดียว และใช้ระยะเวลา 3 นาทีเพื่อเปลี่ยนชนิดของผ้า" นายวศิน ตู้จินดา นักเรียนชั้นมัธยม 5 โรงเรียนดรุณสิกขาลัย ที่ร่วมวิจัย กล่าว
เยาวชนร่วมโครงการข้างต้น นอกจากนายวศินและนายจักรภพแล้ว ยังมีนายวเรศ จันทร์เจริญ และนายพงศกร พลจันทร์ขจร นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ดร.สวัสดิ์ ตันติพันธุ์วดี หัวหน้าโครงการ "การกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชน นักวิจัยและประชาชน โดยร่วมมือกับองค์กรสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA)" กล่าวว่า องค์กรสำรวจอวกาศญี่ปุ่นสนับสนุนเยาวชนไทย ให้เข้าร่วมโครงการวิจัยทดลองบนเที่ยวบินไร้น้ำหนักต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 แม้โครงการวิจัยที่ผ่านมาจะไม่มีการต่อยอด แต่ก็สามารถสร้างองค์ความรู้ใหม่และนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในอนาคต
ผลงานวิจัยของเยาวชนไทยที่เคยร่วมทดสอบในเที่ยวบินไร้น้ำหนักคือ การศึกษาสภาพแตกตัวของยา โดย น.ส.อาภาภรณ์ บุณยรัตพันธุ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล และการศึกษาการเคลื่อนที่ของน้ำเมื่อได้รับความร้อน โดยกลุ่มนักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รับสมัครนักเรียนนักศึกษาส่งข้อเสนอโครงงาน เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมการทดลองในสภาวะไร้น้ำหนักประจำปี 2553 ปิดรับสมัคร 31 พฤษภาคมนี้ จากนั้นจะคัดเลือกเพียง 1 โครงการเพื่อร่วมทดลองบนเที่ยวบินพาราโบลิกที่ญี่ปุ่นในเดือนธันวาคม 2553 หรือมีนาคม 2554 สอบถามข้อมูลได้ที่ฝ่ายสร้างความตระหนักทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สวทช. โทร.0 2564 7000 ต่อ 1400,1403