Lifestyle

ตำนาน "เก๊กฮวย" พืชสมุนไพรโบราณ ชงกับน้ำร้อน ดื่มแก้ร้อนใน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ตำนาน "เก๊กฮวย" เสริมความเยาว์วัย หนุ่มสาวได้ตลอดกาล พืชสมุนไพรโบราณ ใช้ดื่มแก้กระหาย เพิ่มความสดชื่นให้กับร่างกาย

"เก๊กฮวย" หรือ "เบญจมาศ" ที่หลายๆ คน มักนิยมนำมาทำ "น้ำเก๊กฮวย" เพื่อใช้ดื่มแก้กระหาย เพิ่มความสดชื่นให้กับร่างกาย ส่วนใหญ่แล้วก็จะนำ "ดอกเก็กฮวย" ไปตากแห้ง แล้วจึงนำมาชงกับน้ำร้อน ส่วนการอบแห้งนอกจากจะนำมาตากแดดแล้ว หากช่วงที่ไม่ค่อยมีแดด ก็มักใช้วิธีแบบพื้นบ้านคือนำ "ดอกเก๊กฮวย" ไปนึ่งแล้วมาเทเกลี่ยบนตะแกรงไม้ไผ่ และนำไปวางเอาไว้เหนือเตาถ่านเพื่ออบ ซึ่งจะใช้เวลานาน 4-6 ชั่วโมง ทั้งนี้ ต้องพึงระวัง ห้ามนำ "ดอกเก๊กฮวย" ไปอบในขณะที่เตาถ่านมีควัน เพราะจะทำให้มีกลิ่นควันติดที่ดอก  

  

ตำนาน "เก๊กฮวย" พืชสมุนไพรโบราณ ชงกับน้ำร้อน ดื่มแก้ร้อนใน

  
สำหรับ "เก๊กฮวย" ถือว่าเป็นพืชไม้พุ่มขนาดเล็ก และมีถิ่นกำเนิดที่ประเทศจีน ต่อมาเมื่อมีนำไปใช้กันอย่างแพร่หลาย และมีการส่งออกในรูปแบบ "อบแห้ง" ทำให้ประเทศต่าง ๆ ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พม่า กัมพูชา ลาว รวมถึงประเทศไทย ต่างนำ "เก๊กฮวย" ไปเพาะปลูก โดยเฉพาะในพื้นที่่สูงในแถบภาคเหนือ และคุณสมบัติเด่นของ"เก๊กฮวย" คือ มีกลิ่นฉุน มีรสขมและรสหวาน รวมทั้งยังมีสรรพคุณเป็นยารักษาโรค ซึ่งพันธุ์ที่นิยมปลูกกัน คือ "เก๊กฮวยดอกขาว" และ "เก๊กฮวยดอกเหลือง" 

   

ตำนาน "เก๊กฮวย" พืชสมุนไพรโบราณ ชงกับน้ำร้อน ดื่มแก้ร้อนใน

   
ทั้งนี้ นอกจากประเทศจีนแล้ว ญี่ปุ่นยังเป็นอีกประเทศ ที่นิยม "เก๊กฮวย" หรือ "เบญจมาศ" ไม่แพ้ชาวจีน สังเกตุได้จากตราสัญญาลักษณ์จักรพรรดิญี่ปุ่น เป็นรูป "ดอกเบญจมาศ" 16 กลีบ โดยมีตำนานเล่ากันว่า "เก๊กฮวย" หรือ "เบญจมาศ" เข้าสู่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อประมาณ 1,200 ปีมาแล้ว และเชื่อว่า "เบญจมาศ" มีสรรพคุณเป็นยาอายุวัฒนะ คือวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 หากนำดอกเบญจมาศใส่ในถ้วยเหล้าสาเก แล้วดื่มเหล้าสาเกนั้น จะทำให้คงความเยาว์วัย และหนุ่มสาวได้ตลอดกาล 

 

 

ความเชื่อนี้คงสืบเนื่องมาจากประเทศจีน เพราะจีนถือว่า "เบญจมาศ" เป็นดอกไม้ประจำเดือน 9 คือเดิอนตุลาคม และฤดูใบไม้ร่วง คนญี่ปุ่น ก็จะเรียกดอกเบญจมาศว่า "คิกุโนะฮานะ" แปลว่าดอกไม้ของ"คิกุ" ซึ่งมีตำนานเล่าสืบมาว่า "คิกุ" เป็นหญิงสาวที่กำลังจะแต่งงาน และได้ทำการบวงสรวงถามเทวดาว่า จะได้ครองคู่กับสามีนานกี่ปี เทวดาบอกว่า จะได้อยู่กับสามีนานเท่ากับจำนวนกลีบดอกไม้ที่นำมาบูชาเทวดา 

   
"คิกุ" ซึ่งมีความรักสามีเป็นอย่างมาก และอยากอยู่ด้วยนานที่สุด จึงออกแสวงหาดอกไม้ที่มีกลีบมากที่สุด แต่ก็หาดอกไม้ได้ เพียง 17 กลีบเท่านั้น ด้วยความเฉลียวฉลาด "คิกุ" จึงใช้มีดกรีดกลีบดอกไม้ดังกล่าวออกเป็นฝอยเล็ก ๆ นับไม่ถ้วน จึงทำให้ได้ครองคู่กับสามีได้ชั่วกาลนาน ตำนานดอกเบญจมาศ (คิกุ) ของญี่ปุ่น จึงเป็นตำนานแห่งความรัก และเป็นสัญลักษณ์แห่งความรักที่ยั่งยืน

 
สำหรับประเทศไทย "เบญจมาศ" ได้ถูกนำเข้ามาในประเทศโดยชาวจีน ซึ่งตามบันทึกโบราณ ก็ปรากฏอยู่ในวรรณคดีเรื่องอิเหนา แสดงว่าคนไทยสมัยนั้นคุ้นเคยกับ "เบญจมาศ" เป็นอย่างดี และในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ของ "หมอบรัดเลย์" พ.ศ.2416 ยังได้กล่าวถึง "เบญจมาศ" เอาไว้ว่าเป็นต้นไม้ดอกเล็ก ซึ่งแสดงให้เห็นว่า คนไทยสมัยนั้นรู้จัก "เบญจมาศ" กันอย่างแพร่หลายแล้ว กระทั่ง "เบญจมาศ" ได้ถูกนำไปปลูกทั่วโลก 


ประโยชน์ของ "ดอกเก็กฮวย" หรือ "ดอกเบญจมาศ" ส่วนใหญ่มักนิยมนำมาทำ "น้ำเก๊กฮวย" เพื่อใช้ดื่มแก้กระหาย เพิ่มความสดชื่นให้แก่ร่างกาย และยังสามารถปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับ ทั้งการปลูก ตัดดอกขาย ซึ่งนิยมปลูกพันธุ์ดอกเดี่ยวขนาดใหญ่สีต่าง ๆ และปลูกเป็นไม้ดอกในกระถาง ไม้ดอกตามข้างทาง สวนสาธารณะ หรือสวนหลังบ้าน เพื่อเพิ่มความสวยงามตามที่ต้องการ 

 

นอกจากนี้ "ดอกเก็กฮวย" หรือ "ดอกเบญจมาศ" ยังถูกนำไปรักษาอาการต่าง ๆ ได้อีกด้วย อย่างเช่นใช้กับอาการหวัด ใช้สำหรับการมึนศีรษะ และปวดหัว เนื่องจากการกำเริบของหยางในตับ สามารถใช้ร่วมกับ โกฐสอ และอื่น ๆ กรณีเป็นฝีเป็นหนอง บวมและเป็นพิษ อาจใช้ดอกสด แล้วนำมาบดผสมน้ำ แล้วดื่ม แล้วนำกากมาพอก  อาการอักเสบที่ตา อาจใช้พอกโดยตำดอกสดประคบภายนอกดวงตา  ช่วยกระตุ้นระบบย่อยอาหาร โดยเฉพาะดื่มชาเก๊กฮวยร้อน ๆ จะช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดียิ่งขึ้น และช่วยบรรเทาอาการปวดท้องจากอาหารไม่ย่อย  รักษาผมร่วง โดยเชื่อว่าดอกเก๊กฮวยสามารถรักษาอาการผมร่วง ช่วยให้สีผมดำ เงางาม ไม่เปลี่ยนเป็นสีเทาก่อนวัยอันควร 

   
ส่วนในทางการแพทย์แผนปัจจุบัน มีการศึกษาวิจัยระบุว่า "เก๊กฮวย" สามารถช่วยลดความดันโลหิต เพราะสมุนไพรชนิดนี้ ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด และต้านกระบวนการอักเสบ ซึ่งอาจส่งผลดีต่อการรักษาและป้องกันภาวะความดันโลหิตสูงได้ ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะจากความดันโลหิตสูง และมีฤทธิ์ลดระดับความดันโลหิตลงได้ รักษาโรคเบาหวาน การบริโภคเก๊กฮวยหรือผลิตภัณฑ์จากเก๊กฮวยอาจช่วยต้านโรคเบาหวานได้

 

เพราะสารประกอบในเก๊กฮวยอย่างสารฟีนอล และฟลาโวนอยด์อาจช่วยยับยั้งการทำงานเอนไซม์ที่มีผลต่อการดูดซึมน้ำตาลบางชนิด และอาจเป็นผลดีต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งอาจเป็นผลดีต่อการรักษาโรคเบาหวานได้  ต้านมะเร็งต่อมลูกหมาก คาดว่าการบริโภค "เก๊กฮวย" อาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้ เนื่องจากเก๊กฮวยประกอบด้วยสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ที่เชื่อกันว่ามีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และยับยั้งการผลิตฮอร์โมนแอนโดรเจนที่มีบทบาทในการควบคุมการเจริญเติบโตของต่อมลูกหมาก

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง