ทำความรู้จัก "ยาพาราเซตามอล"
"พาราเซตามอล" ยาสามาัญประจำบ้านที่แทบทุกบ้านต้องใช้ติดบ้าน
"ยาพาราเซตามอล" ยาสามัญประจำบ้านประเภทบรรเทาปวดลดไข้ ดังนั้น แทบทุกบ้านจึงต้องมีเตรียมไว้ในตู้ยาเพื่อใช้สำหรับบรรเทาอาการป่วยในยามฉุกเฉินหรือเมื่อมีอาการ และยังเป็นยาที่หาซื้อได้ง่ายทั่วไปทั้งที่ร้านขายยาและร้านสะดวกซื้อ
ทำความรู้จักยาพาราเซตามอล
"ยาพาราเซตามอล หรืออะเซตามิโนเฟน" เป็นยาแก้ปวดลดไข้ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย หาซื้อได้ง่าย และมักจะมีติดไว้ประจำบ้าน เป็นยาที่ค่อนข้างปลอดภัยเมื่อใช้อย่างถูกวิธี พาราเซตามอลสามารถบรรเทาปวดจากสาเหตุต่าง ๆ ได้หลากหลาย เช่น ปวดศีรษะ ปวดจากข้อเสื่อม ปวดกล้ามเนื้อ และใช้เป็นยาลดไข้ พาราเซตามอลที่เป็นยาเดี่ยวจะบรรเทาอาการปวดขั้นอ่อนถึงปานกลางเท่านั้น ไม่มีผลต่ออาการปวดขั้นรุนแรง เช่น แผลผ่าตัดใหญ่ หรือมะเร็ง และไม่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ
การรับประทานยาพาราเซตามอลที่ถูกต้อง
เนื่องจากเป็นยาที่ใช้ลดอาการปวดและลดไข้ที่ได้รับการยอมรับ ทำให้หลายคนนิยมบริโภคเมื่อมีอาการปวดบริเวณต่าง ๆ และเมื่อเกิดอาการเป็นไข้ โดยไม่ทราบถึงอันตรายของยาชนิดนี้ที่จะส่งผลต่อการทำงานของตับหากมีการใช้เกินความเหมาะสม บางรายเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันและนำไปสู่การเสียชีวิต หรือบางรายหากไม่ได้รับการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ ยาเม็ดที่มีตัวยาพาราเซตามอล 500 มิลลิกรัมต่อเม็ด
โดยทั่วไปในผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักตัวประมาณ 50 กิโลกรัม รับประทานครั้งละ 1 เม็ด ถ้ากรณีที่น้ำหนักเกิน 67 กิโลกรัม รับประทานครั้งละ 2 เม็ด ในส่วนของการรับประทานยามื้อถัดไปควรเว้นระยะห่างไม่น้อยกว่า 4 ชั่วโมงและต้องไม่ใช้ยาเกิน 4,000 มิลลิกรัม หรือ 8 เม็ดต่อวัน และไม่ควรใช้ยาติดต่อกันเกิน 5 วัน หากจำเป็นต้องใช้นานกว่านี้ควรปรึกษาแพทย์
นอกจากนี้ยังต้องระวังการใช้ยาซ้ำซ้อนเมื่อใช้ยาร่วมกับยาสูตรผสมที่มีพาราเซตามอลเป็นส่วนประกอบ ได้แก่ ยาสูตรผสมบรรเทาอาการของโรคหวัด ยาคลายกล้ามเนื้อ เพราะอาจได้รับพาราเซตามอลเกินขนาดโดยไม่ได้ตั้งใจ ดังนั้นก่อนรับประทานยาทุกชนิดควรอ่านฉลากให้ละเอียด หรือถ้าไม่แน่ใจให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้ง การได้รับยาพาราเซตามอลเกินขนาด ส่วนใหญ่พบว่าเกิดจากการรับประทานอย่างต่อเนื่องโดยไม่ได้ตั้งใจ บ่อยกว่าการตั้งใจกินยาขนาดสูงเพียงครั้งเดียว ซึ่งการได้รับยาพาราเซตามอลเกินขนาดจะส่งพิษต่อตับ อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องบริเวณด้านขวาบน มีตับโต กดเจ็บ ถ้าตรวจเลือดอาจพบค่าที่บ่งว่าการทำงานของตับผิดปกติ ถ้าตับถูกทำลายมากขึ้น อาจพบอาการของตับวายเฉียบพลัน ได้แก่ ตัวเหลือง ตาเหลือง สับสน ซึม ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจเสียชีวิตได้ และที่สำคัญ ไม่ควรดื่มสุรา หรือรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาต้านวัณโรค ยากันชักร่วมกับการรับประทานยาพาราเซตามอล เพราะอาจทำให้พิษต่อตับของยาพาราเซตามอลเพิ่มขึ้น
ข้อควรระวัง
- ไม่ควรรับประทานควบคู่กับการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ รวมถึงผู้ที่เป็นโรคตับหรือโรคตับเรื้อรัง ควรเลี่ยงการทานหรือทานในปริมาณน้อยที่สุด
- ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำควรหมั่นเช็คสุขภาพ เพื่อตรวจหาความเสี่ยงเกี่ยวกับโรคตับ โดยปัจจุบันมีผู้ให้บริการเกี่ยวกับโปรแกรมตรวจสุขภาพที่ตรวจหาความผิดปกติตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล
- ตรวจสอบวันหมดอายุก่อนรับประทานยาทุกครั้ง
- สังเกตเลขทะเบียนตำรับยาที่แสดงถึงการเป็นยาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว
- หากไม่มีอาการปวดหรือเป็นไข้ไม่ควรทานยาล่วงหน้า