
จุฬาฯ-ศิริราชรับทุนเจ้าฟ้ามหิดลระดับเยาวชน
สามว่าที่แพทย์หญิงรับทุนสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลระดับเยาวชน ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรก รับพระราชทานทุนจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปศึกษาวิจัยในต่างประเทศ 1 ปี
มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และกระทรวงการต่างประเทศ ประกาศรายชื่อผู้ได้รับพระราชทานทุนโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ครั้งที่ 1 ประจำปี 2552 ได้แก่ น.ส.จุฑาภรณ์ อัศวชนานนท์ นิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 6 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย น.ส.กนกวรุณ วัฒนนิรันตร์ และ น.ส.เพ็ญนภา กวีวงศ์ประเสริฐ นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เป็นหนึ่งในกิจกรรมของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนไทยที่รักและมุ่งมั่นในวิชาชีพด้านการแพทย์ดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เพื่อสร้างสรรค์สุขภาพอนามัยของมวลมนุษยชาติ อันนำมาซึ่งการแก้ปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทย
ผู้ผ่านการคัดเลือกจะได้รับพระราชทานทุนจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปศึกษาวิจัย ฝึกปฏิบัติวิชาชีพ หรือทำงานด้านการพัฒนาชุมชนในต่างประเทศหรือในประเทศเป็นเวลา 1 ปี และให้นับเวลาการไปครั้งนี้ รวมเป็นเวลาของการใช้ทุนหลังจากศึกษาแพทย์จบแล้วด้วย
ศ.นพ. วิจารณ์ พาณิช ประธานคณะกรรมการอำนวยการโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล กล่าวว่า ทั้ง 3 คนได้ผ่านการพิจารณาจากผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการคัดเลือกทั้งสิ้น 22 ราย จาก 10 สถาบัน
นางสาวจุฑาภรณ์ อัศวชนานนท์ หนึ่งในผู้รับทุนโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2552 กล่าวว่า ทุนที่ได้รับจากโครงการนี้ จะนำใช้ระหว่างที่เดินทางไปศึกษาเทคนิคทางการแพทย์ ในส่วนของการใช้สเต็มเซลล์ รักษาโรคระบบประสาท ซึ่งวิธีการรักษาทางการแพทย์ปัจจุบันไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เช่น โรคพาร์กินสัน และโรคจอประสาทตาเสื่อมเป็นต้น
จุฑาภรณ์ ในวัยเพียง 24 ปี ตั้งใจจะเดินทางไปศึกษาความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสเต็มเซลล์ที่เมืองโกเบ ทันทีที่เรียนจบปีการศึกษานี้ หรือราวเดือนเมษายน โดยจุดมุ่งหมายของเธอคือการได้ทำแล็ปร่วมกับนักวิทยาศาสตร์หญิงชื่อดัง Masayo Takahashi หัวหน้าทีมวิจัยจากห้องปฏิบัติดาร Center for Developmental Biology (CDB) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งกำลังทดลองเพาะเลี้ยงสเต็มเซลล์และเหนี่ยวนำให้เจริญไปเป็นจอประสาทตาทั้งในระดับเซลล์และในสัตว์ทดลอง
"แม้งานวิจัยเกี่ยวกับเสต็มเซลล์ในขณะนี้ จะเป็นงานวิจัยขั้นพื้นฐานส่วนใหญ่ แต่ก็เป็นความหวังในการรักษาโรคที่ไม่สามารถรักษาหายขาดได้ แม้จะต้องใช้เวลาอีก 20-30 ปี แต่ก็เชื่อว่าสเต็มเซลล์จะสามารถนำมาใช้เป็นรักษาผู้ป่วยคนไทยได้ในอนาคต" เธอกล่าวด้วยความมั่นใจ
ด้าน นางสาวกนกวรุณ วัฒนนิรันตร์ ผู้ได้รับคัดเลือกให้ได้รับทุนเดียวกันจากโครงการศึกษาวิจัยเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจในวัยรุ่น มองว่า ปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่สำหรับประเทศไทย ที่จะต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง เพราะการที่วัยรุ่นคนหนึ่งตั้งครรภ์โดยวุฒิภาวะยังไม่พร้อม จะทำให้มีปัญหาตามมามากมาย
“โครงการนี้ได้แรงบันดาลใจเมื่อครั้งเดินทางไปปฏิบัติงานต่างจังหวัด และพบปัญหาเด็กมัธยมตั้งครรภ์เป็นจำนวนมาก โดยมากกว่า 50% ไม่ได้วางแผนไว้ก่อน จึงก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย ซึ่งทุนที่ได้รับครั้งนี้จะนำไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติงานร่วมกับองค์การอนามัยโลก เพื่อศึกษาสาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดจากอะไร เพื่อหาแนวทางที่ป้องกันอย่างถูกต้อง โดยเชื่อว่าผลการศึกษาของเธอจะมีส่วนช่วยให้อัตราการตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจในวัยรุ่นจะลดลงได้ในอนาคต” ว่าที่แพทย์หญิง กล่าว
ขณะที่ นางสาวเพ็ญนภา กวีวงศ์ประเสริฐ เดินหน้าศึกษาการพัฒนารูปแบบการให้บริการสุขภาพทางเพศ และการดูแลผู้ป่วยเอดส์สำหรับเยาวชน ในขณะที่อัตราผู้ป่วยโรคเอดส์ไม่ได้ลดลง โดยวางแผนเดินทางไปศึกษาระบบทางสาธารณสุขในพื้นที่ที่แตกต่างกัน เช่น อเมริกา ประเทศพัฒนาแล้วที่มีบริการสาธารณสุขค่อนข้างดี ประเทศเคนย่า ในแอฟริกา ที่มีความสามารถในการลดอัตราการผู้ติดเชื้อภายใต้ข้อจำกัดได้อย่างน่าสนใจ ในขณะที่ การดูงานที่โครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) ซึ่งจะช่วยให้การวางแผนวิเคราะห์หาบริการสาธารณสุขสำหรับประเทศไทย ทำได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น