ไลฟ์สไตล์

ศิริราช-จุฬาฯหนุนหลักสูตรแพทย์นานาชาติยันอนาคตใส

ศิริราช-จุฬาฯหนุนหลักสูตรแพทย์นานาชาติยันอนาคตใส

09 ก.พ. 2553

ศิริราช-จุฬาฯ” หนุนหลักสูตรแพทย์นานาชาติ ยันอนาคตเปิดแน่หากรัฐไม่มีนโยบายสกัด ชี้เป็นประตูเปิดการแพทย์ไทยสู่เวทีนานาชาติ ขณะที่เอแบคโพลล์สำรวจ ประชาชนร้อยละ 77.1 เห็นด้วย แต่ต้องเปิดรับฟังความเห็นก่อน ด้าน “แพทยสภา” พ้อ ตกเป็นจำเลยสังคม มีหน้าที่แค่พิจาร

 ที่โรงแรมริชมอนด์ เมื่อเวลา 9.30 น. วันที่ 9 ก.พ. ในเวทีสาธารณะ “การผลิตแพทย์นานาชาติ สังคมได้อะไร” ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ (สวค.) และ สำนักนโยบายและแผน กระทรวงสาธารณสุข (สนย.) นพ.มงคล ณ สงขลา ประธานคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้หลายฝ่ายต่างเกิดความวิตกกังวลหลังจากที่แพทยสภาอนุมัติผ่านหลักสูตรแพทย์ภาษาอังกฤษ เพราะจะทำให้ปัญหาขาดแคลนแพทย์วิกฤตมากขึ้น ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขกำลังเร่งผลิตแพทย์และมหาวิทยาลัยแพทย์ได้ผลิตเต็มกำลังแล้วแต่แพทย์ก็ยังขาดแคลนอยู่ แต่กลับจะมีการผลักดันให้เกิดแพทย์อีกกลุ่มหนึ่งเพื่อการแข่งขัน กรณีที่เกิดขึ้นของมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ (มศว.) ตนจึงอยากฝากไปยังมหาวิทยาลัยแพทย์ทั้ง 5 แห่งว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังมีคนจนที่อยู่ในชนบทและเข้าไม่ถึงการรักษา พื้นที่ห่างไกลยังคงต้องการแพทย์อีกมาก ดังนั้นจึงควรแก้ไขปัญหานี้ก่อนที่จะทำเป็นธุรกิจการศึกษา

 นพ.เฉลิมชัย บุณยะลีพรรณ รองอธิการบดีมหาวิทยาศรีนครินทร์วิโรฒ (มศว.) กล่าวว่า มศว. มีสภามหาวิทยาลัยเป็นองค์กรสูงสุดในการกำหนดทิศทางมหาวิทยาลัยและมีอธิการบดีเป็นผู้กำหนดนโยบายมหาวิทยาลัย ซึ่งการเปิดหลักสูตรการสอนใดๆ ในการพิจารณาจะแยกเป็น 2 ขั้นตอน คือ 1.การพิจารณาความเหมาะสมของหลักสูตร เนื้อหาการเรียนการสอน 2.ความเหมาะสมในการเปิดหลักสูตร ระยะเวลาที่เหมาะสม ซึ่งหลักสูตรแพทย์นานาชาติที่เป็นประเด็นซึ่งได้เริ่มมีการพูดคุยตั้งแต่ปี 2552 จนถึงขณะนี้ยังไม่เข้าสู่การพิจารณาของสภามหาวิทยาลัยแม้แต่ครั้งเดียว เพียงแต่เคยนำเข้าสู่การพิจารณาคณะผู้บริหาร มศว. มาแล้ว 8 ครั้ง และยังไม่ผ่านการอนุมัติจากคณะผู้บริหาร อย่างไรก็ตามยอมรับว่าที่ผ่านมามีความพยายามเคลื่อนไหวในเรื่องจนต้องมีการนัดประชุมสภามหาวิทยาลัยครั้งที่ 12 เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2552 แต่เป็นวาระพิจารณาปัญหาการบริหารของคณะแพทยศาสตร์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น ขอย้ำว่าไม่ใช่การพิจารณาหลักสูตรแพทย์

 นพ.อดิศร ภัทราดูลย์ คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หลักสูตรแพทย์นานาชาติ จุฬาฯ คุยเรื่องนี้มา 5 ปีแล้ว เพราะในขณะที่เราต้องการให้ความรู้ด้านการแพทย์ของไทยสู่ระดับนานาชาติ แต่หากไม่มีเปิดหลักสูตรแพทย์นานาชาติอยากถามว่าแล้วใครจะมารู้จักเรา ซึ่งการจัดอันดับทางด้านการแพทย์ ไทยอยู่ในอันดับที่ 51 ของโลก คณบดีคณะแพทยศาสตร์ทั่วโลกรู้จักเรา อีกทั้งที่ผ่านมาหลักสูตรนานาชาติในสาขาต่างๆ เปิดหมดแล้ว และไม่มีใครคัดค้าน แต่พอเป็นหลักสูตรแพทย์นานาชาติกลับมีเสียงคัดค้าน คิดว่าเกิดจากความไม่เข้าใจ ไม่ใช่ว่าเมื่อเปิดสอนแล้วจะมีคนต่างชาติเข้ามามาก เพราะ 80% ของนักเรียนหลักสูตรนี้ยังเป็นคนไทย เชื่อว่าสหรัฐฯ หรืออังกฤษคงจะไม่ส่งคนมาเรียนอย่างไรก็ตามต้องดูว่า เหตุผลที่โรงเรียนแพทย์อยากเปิดหลักสูตรนานาชาติเพราะอะไร และไม่อยากให้เบี่ยงประเด็นไปเรื่องรายได้ เพราะนักเรียนเพียงแค่ 20-30 คน ไม่สามารถสร้างรายได้มากมาย แต่เพื่อเพื่อให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ

 “ถึงเวลาแล้วที่ไทยต้องพัฒนาหลักสูตรแพทย์ อยากให้เปิดวิสัยทัศน์ใหม่ เพราะการเปิดหลักสูตรนี้จะทำให้ต่างชาติรู้จักประเทศไทยมากขึ้น อีกทั้งประเทศต่างๆ ที่ไม่มีโรงเรียนแพทย์ก็จะส่งมาเรียนที่ประเทศไทย ส่งผลให้อนาคตประเทศไทยจะคุมการแพทย์ในภูมิภาคนี้ได้ นอกจากนี้ยังช่วยให้นักเรียนที่เรียนหลักสูตรภาษาอังกฤษสามารถเรียนต่อแพทย์ได้” นพ.อดิศร กล่าว และว่า กรณีของ มศว. สะท้อนให้ว่ายังมีบางส่วนที่ยังขาดความเข้าใจ สำหรับในส่วนจุฬาฯ นั้น ก่อนหน้านี้ได้มีการทำความเข้าใจกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ซึ่งขณะนี้ทุกคนเริ่มเข้าใจ และยืนยันว่าจุฬาฯ จะผลักดันเรื่องนี้ต่อไป นอกจากรัฐบาลจะมีนโยบายชัดเจนที่ไม่ให้ดำเนินการ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าไม่ว่าอย่างไร หลักสูตรแพทย์นานาชาติจะต้องเปิดแน่นอน

 นพ.อดิศร กล่าวว่า  ส่วนที่เกรงว่าเมื่อเปิดหลักสูตรแพทย์นานาชาติแล้ว จะกระทบต่อปัญหาขาดแคลนแพทย์ในชนบท และทำให้เกิดปัญหาแพทย์สมองไหลนั้น วันนี้ไทยผลิตแพทย์ได้เพิ่มขึ้นมากจากเดิมที่ผลิตได้ปีละ 1,000 คน โดยจุฬาฯ เดิมผลิตได้ปีละ 100 คน ขณะนี้เพิ่มเป็นปีละ 300 คน แม้ว่าจะไม่มีการเพิ่มผลิตแต่อัตราแพทย์ 1 คนต่อประชากร 1,600 คนถือว่าเพียงพอ ซึ่งปัญหาขาดแคลนแพทย์นั้นขณะนี้ขึ้นอยู่กับกระทรวงสาธารณสุขว่าจะกระจายแพทย์ไปยังชนบทมากน้อยแค่ไหน

 นพ.ปกิต วิชยานนท์ คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า มุมมองส่วนตัวในเรื่องหลักสูตรการแพทย์นานาชาติมีความคิดตรงกันกับนพ.อดิศร และ ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มศว. เพราะในฐานะโรงเรียนแพทย์ หลักสูตรการศึกษาการแพทย์นานาชาติเป็นเรื่องจำเป็น เนื่องจากขณะนี้โรงเรียนแพทย์ยังมีน้อยและการผลิตแพทย์ยังไม่เพียงพอ ที่สำคัญมีนักเรียนแพทย์บางคนที่เฉลียวฉลาดและเก่งกาจ ที่สามารถเป็นทรัพยากรที่ส่งเสริมให้เป็นกำลังที่เพิ่มพูนศักยภาพของวงการแพทย์ในประเทศไทยได้ ทั้งนี้ในโรงเรียนแพทย์ มีแพทย์หลายคนที่ไม่สนใจไปรักษาในโรงพยาบาลเอกชน ดังนั้นจึงอยากให้คำนึงถึงเรื่องของคุณภาพโรงเรียนแพทย์ที่จำเป็นจะต้องพัฒนาหลักสูตรแพทย์นานาชาติ โดยเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะและประโยชน์นี้จะกลับมาสู่การสร้างคุณภาพโรงเรียนแพทย์ไทยในอนาคต

 นพ.ปกิต กล่าวว่า ทราบว่าประเทศจีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซียกำลังเร่งทำเรื่องหลักสูตรแพทย์นานาชาติ  โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น ขณะนี้ผลิตแพทย์ปีละ1หมื่นคน ประชากรญี่ปุ่นมี 120 ล้าน ขณะที่ประชากรไทยมี60 ล้านคน โดยถ้าเทียบกับประเทศไทยผลิตแพทย์ได้ 2,000 คน แต่ประเทศญี่ปุ่นมีโรงเรียนแพทย์ 100 โรงเรียน ขณะนี้โรงเรียนแพทย์ไทยมีแค่ 18 แห่งเท่านั้น เรื่องนี้กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุขต้องดูแล ที่สำคัญแนวทางของโรงเรียนแพทย์ในญี่ปุ่นมีเข็มทิศว่าต้องการเป็นโรงเรียนแพทย์นานาชาติ โดยเตรียมทุ่มงบประมาณกว่า 2 พันล้านบาท ให้โรงเรียนแพทย์อินเตอร์

 “ขณะนี้โรงเรียนแพทย์ต้องการหลักสูตรใหม่ เพราะปัจจุบันการเรียนการสอนในโรงเรียนแพทย์ยังเป็นรูปแบบเดิมๆ เหมือนเมื่อร้อยปีที่แล้ว ขณะนี้เรามีความเร่งด่วน ที่จะต้องทำเรื่องหลักสูตรใหม่เพราะถ้าทำช้ากว่า อีกสิบปีข้างหน้า ก็จะช้ากว่ามาเลเซีย และพม่า ”นพ.ปกิต กล่าว

 ขณะที่ นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า แพทยสภามีหน้าที่พิจารณาว่าหลักสูตรแพทยศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษของ มศว. ที่เสนอมานั้นได้มาตรฐานหรือไม่ ส่วนการจะเปิดหลักสูตรได้หรือไม่อยู่ที่สภามหาวิทยาลัยและฝ่ายนโยบาย จึงต้องแยกให้ชัดเจนก่อน ซึ่งมติที่แพทยสภาออกมานั้นได้เอื้อประโยชน์ต่อประเทศชาติ เพราะมีเงื่อนไขว่า ผู้ที่จะเข้าศึกษาต้องมีสัญชาติไทย ต้องมีการชดใช้ทุน ซึ่งเป็นการทำที่เกินหน้าที่ด้วยซ้ำ ทั้งยังกำหนดว่าต้องไม่เบียดบังการเรียนการสอนภาคปกติ เพราะแพทยสภารู้ว่า มศว.มีความขัดแย้งอยู่ภายใน จึงต้องเคลียร์ความขัดแย้งกันก่อน  ซึ่งมติของแพทยสภาในวันที่ 11 ก.พ. จะชัดเจนกว่านี้

 “สภามหาวิทยาลัย มศว. เพิ่งคัดค้านวันนี้ ที่ผ่านมาไม่รู้ไปอยู่ไหน ความกล้าหาญอยู่ไหนอันนี้ไม่รู้ วันนี้แพทยสภาอาจเป็นจำเลย แต่ผมก็มา เพราะบางทีการทำงานต้องกล้านะ ไม่ใช่พอกระแสตีไปอย่างใดแล้วจะเอาอย่างนั้น ต้องว่ากันอย่างนี้ นักเลงก็ต้องนักเลงหน่อย สภามหาวิทยาลัยไม่เคยมีความเห็นอะไรมาเลย  ถ้ามหาวิทยาลัยบอกว่าไม่อนุมัติแค่แพทยสภารับรองหลักสูตร มันไม่เกิดอยู่แล้ว เพราะว่าทั้งสองทางต้องมาพร้อมกันถึงจะเกิดได้” นพ.สัมพันธ์ กล่าว

 นพ.สัมพันธ์ กล่าวว่า ขณะนี้สภามหาวิทยาลัย มศว. ยังไม่ส่งหนังสือมาค้านเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ แต่ที่ประชุมคณะกรรมการแพทยสภาจะนำความเห็นคัดค้านของทางสภามหาวิทยาลัยมาร่วมพิจารณา ทั้งนั้การที่อธิการบดี มศว มาให้ข่าวอย่างนี้แสดงว่ายังมีความขัดแย้งภายในยังมีอยู่ ดังนั้นในวันที่ 11 ก.พ.นี้ ทางแพทยสภาอาจไม่รับรองหลักสูตรก็ได้ เพราะรับรองไปหลักสูตรก็จะไม่ได้คุณภาพ เนื่องจากการการทำงานต้องใช้บุคลากร ทั้งนี้การประชุมคณะกรรมการแพทยสภามีจะการทบทวนแต่มติจะเป็นอย่างไรต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการแพทยสภา

 ด้านนายเทวินทร์ อินทรจำนง ผู้ช่วยผู้อำนวยการคณะกรรมการสุขภาพแห่ชาติ กล่าวว่า จากการสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อการเปิดหลักสูตรแพทย์นานาชาติ โดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ จากตัวอย่างประชากรอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,101 คน ใน 17 จังหวัดทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 7-8 กุมภาพันธ์ ที่ผ่าน พบว่า ประชาชนร้อยละ 77.1 สนับสนุนให้เปิดหลักสูตรแพทย์นานาชาติในสถาบันการศึกษาของรัฐในขณะนี้ มีเพียงร้อยละ 11.9 ที่ไม่สนับสนุน และร้อยละ 11.0 ที่ไม่มีความเห็น และส่วนใหญ่ร้อยละ 89.2 เห็นควรให้เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนที่จะเปิดหลักสูตรแพทย์นานาชาติในสถาบันของรัฐ  

 นายเทวินทร์ กล่าวว่า สำหรับเหตุผลของฝ่ายที่สนับสนุนการเปิดหลักสูตรแพทย์นานาชาติ ร้อยละ 72.0 เห็นว่าควรให้น้ำหนักพิจารณาเพราะการเปิดหลักสูตรนี้จะทำให้นักเรียนไม่ต้องออกไปเรียนวิชาแพทย์ที่เมืองนอก ร้อยละ 62.8 เน้นให้ผู้เรียนลงทุนในการเรียนเองจะได้ประหยัดงบประมาณของรัฐ ร้อยละ 86.5  เห็นว่าเป็นการเปิดโอกาสให้กับนักเรียนในโรงเรียนนานาชาติ(ที่สอนภาษาต่างประเทศ) ในไทยได้มีโอกาสเรียนแพทย์มากขึ้น ร้อยละ 84.3 ทำให้คนไทยมีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางด้านการแพทย์กับสถาบันระดับนานาชาติได้มากขึ้น ร้อยละ  79.7  เห็นว่าจะได้แพทย์ที่เก่งภาษาอังกฤษ และร้อยละ 81.4  เห็นว่า สนับสนุนให้ธุรกิจบริการทางการแพทย์ ของไทยมีโอกาสแข่งขันกับต่างชาติเมื่อมีการเปิดเสรีทางการค้าในอาเซียน

 ส่วนเหตุผลของฝ่ายที่ไม่สนับสนุนนั้น ร้อยละ 79.6 เห็นว่า การเปิดหลักสูตรนี้จะทำให้การเรียนการสอนวิชาแพทย์เป็นไปเพื่อสร้างรายได้ให้กับสถาบันที่สอน ร้อยละ 66.0 จะดึงดูดให้อาจารย์แพทย์ไปสอนหลักสูตรนี้ ทำให้นักเรียนแพทย์ปกติทั่วไปขาดโอกาสได้เรียนกับอาจารย์แพทย์ที่เชี่ยวชาญ ร้อยละ  73.5 แพทย์ที่เรียนจบหลักสูตรนี้จะมุ่งทำงานในรพ.เอกชนที่มีค่าตอบแทนสูง (เพราะลงทุนเรียนสูง)มากกว่าจะไปทำงานในชนบท ร้อยละ 52.7 หากสถาบันการศึกษาทุ่มเทให้กับหลักสูตรนี้จะทำให้โอกาสในการผลิตแพทย์ปกติลดลง  ทำให้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในประเทศรุนแรงมากขึ้น  ร้อยละ 89.8 ประชาชนทั่วไปต้องการแพทย์ที่เก่งในทางรักษามากกว่าแพทย์ที่เก่งในทักษะภาษาอังกฤษ ร้อยละ 72.7 เป็นการส่งเสริมการบริการทางการแพทย์ในเชิงพาณิชย์ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ที่รายได้น้อยเข้าถึงบริการทางการแพทย์ยากขึ้น