
เช็คให้ชัวร์ "ลูกพูดช้า" ไปหรือเปล่า
เปิดตารางแสดงพัฒนาการของภาษาและการพูดในเด็กปกติ เช็คให้ชัวร์ "ลูกพูดช้า" ไปหรือเปล่า สาเหตุเกิดจากอะไร
ลูก "พูดช้า" เกิดจากอะไร ต้องทำความเข้าใจกับพัฒนาการด้านภาษา และการสื่อสารตามวัยของลูกน้อยกันก่อน
ภาษาและการสื่อสารของเด็ก แบ่งเป็น ภาษากาย และ ภาษาพูด
- ภาษากาย เช่น การยิ้ม มองหน้า สบตา
- ภาษาพูด เริ่มจากการเปล่งเสียง อ้อ แอ้ ไม่มีความหมาย และจะเริ่มเล่นเสียงที่มีการปิดปาก
เด็กพูดช้าคืออะไร
เด็กพูดช้า คือ เด็กที่มีพัฒนาการด้านภาษา , การสื่อสาร รวมถึงการพูดไม่เป็นไปตามอายุ เช่น อายุ 2 ปี ยังพูดเป็นคำที่มีความหมายไม่ได้ หรือ อายุ 3 ปี แล้วยังพูดเป็นประโยคสั้น ๆ ไม่ได้
ทำไมเด็กถึง "พูดช้า"
เด็กพูดช้ามีด้วยกันหลายสาเหตุ การพูดจำเป็นต้องอาศัยคนรอบข้างพูดให้เด็กเรียนรู้และเลียนแบบ ดังนั้น เด็กต้องมีอวัยวะรับสัมผัสที่เป็นปกติ ได้แก่ หู และ ตา ส่งสัญญาณให้สมองแปลงคลื่นเสียงที่ได้ยินเป็นข้อมูล และในวัยที่พูดได้ สมองก็จะต้องนึกคำพูดที่อยากพูด แล้วสั่งการให้อวัยวะที่เกี่ยวกับการเปล่งเสียงทำงานเพื่อผลิตคำพูดออกมา หากเกิดความผิดปกติของขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง หรือหลายขั้นตอน ย่อมส่งผลถึงการพูด
ลองเช็คให้ชัวร์ "ลูกพูดช้า" ไปหรือเปล่า
- 3 - 4 เดือน : เริ่มหัวเราะ ทำเสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ
- 6 - 9 เดือน : เริ่มมีเสียงที่มีการปิดปาก เช่น ไป ๆ มา ๆ
- 9 - 10 เดือน : เด็กเริ่มเปล่งเสียงเป็นคำที่มีความหมาย เช่น หม่ำ ๆ ป่าป๊า ทำตามสั่งง่าย ๆ เช่น บ๊ายบาย
- 1 ขวบ : มักจะพูดเป็นคำเดี่ยว ๆ ร่วมกับใช้ภาษากายช่วยมากขึ้น เช่น ชี้นิ้ว ขอของ
- 2 ขวบ : เริ่มเป็น 2 คำต่อกัน เช่น กินข้าว
- 3 ขวบ : เป็นประโยคที่มี ประธาน กริยา กรรม รวมกัน เช่น หนูกินข้าว
การเฝ้าดูพัฒนาการของเด็กจึงเป็นเรื่องสำคัญ หากทราบว่าลูกมีพัฒนาการช้าควรปรึกษากุมารแพทย์หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก เพื่อพัฒนาการที่ดีขึ้น
ข้อมูล : โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์