Lifestyle

8 เทคนิคเตรียมตัวเป็นแม่ ทำให้พร้อมก่อนมีลูก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หลังจากชายหญิงได้ใช้ชีวิตแต่งงานแล้ว ก็อยากมีลูกเป็นพยานรักสักคนให้ชื่นใจ และสิ่งที่พ่อแม่ปรารถนาคือการมีลูกที่แข็งแรงสมบูรณ์ฉลาดกว่าใคร ซึ่งทุกอย่างต้องเตรียมพร้อมไว้ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์

สำหรับผู้หญิงที่อยากมีลูกหรือมีลูกยากเรื่องสำคัญอย่างแรกคือการเตรียมตัวล่วงหน้าทั้งร่างกายและจิตใจก่อนมีลูกอย่างน้อย 3 เดือน เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงพร้อมต่อการตั้งครรภ์ สามารถให้กำเนิดลูกน้อยที่มีสุขภาพดีคุณแม่คลอดได้ปลอดภัย มาดูกันว่าต้องเตรียมตัวเป็นแม่อย่างไรบ้าง   

1.ตรวจสุขภาพก่อนการตั้งครรภ์ ตรวจโรคทางพันธุกรรม เริ่มไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพว่ามีความสมบูรณ์พร้อมแค่ไหน มีปัญหาอะไรบ้าง และตรวจหาโรคทางพันธุกรรม เช่น เบาหวาน ธาลัสซีเมีย ซึ่งหากมีโรคเหล่านี้อาจทำให้เกิดอันตรายต่อคุณแม่และลูกน้อยได้ ฉะนั้นหากตรวจสุขภาพแล้วพบปัญหาจะได้ทำการรักษาล่วงหน้าก่อนให้ร่างกายสุขภาพดีพร้อมต่อการตั้งครรภ์ รวมถึงขอคำแนะนำเรื่องการนับวันตกไข่ การปฏิบัติตัวจากคุณหมอให้ทั้งคุณพ่อคุณแม่พร้อมมีลูกที่สุด

 

2. ฉีดวัคซีนก่อนตั้งครรภ์ การฉีดวัคซีนเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับที่ว่าที่คุณแม่ที่อยากมีลูกและกำลังเตรียมตัวตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันโรคอันตรายที่หากติดเชื้อแล้วจะส่งผลร้ายแรงหรือป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่อสุขภาพคุณแม่และลูกน้อย ซึ่งวัคซีนที่คุณแม่ควรได้รับมีดังนี้

– วัคซีนโรคหัด หัดเยอรมัน คางทูม และอีสุกอีใส ควรได้รับวัคซีนนี้ก่อนตั้งครรภ์ 3 เดือน

วัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่

– วัคซีนโรคคอตีบ ไอกรน และบาดทะยัก 

– วัคซีนมะเร็งปากมดลูก

– วัคซีนโรคไวรัสตับอักเสบเอ และบี

 

8 เทคนิคเตรียมตัวเป็นแม่  ทำให้พร้อมก่อนมีลูก

 

 

3. อาหารและการออกกำลังกาย เริ่มต้นใส่ใจเลือกทานอาหารที่มีคุณค่า กินให้ครบ 5 หมู่ กินให้หลากหลาย ไม่รับประทานอาหารอย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินไป เน้นกินผักและผลไม้หลากสีสันทั้งผักใบเขียว กระเจี๊ยบ ข้าวโพด ส้มและกล้วย ทานอาหารประเภทแป้งที่ดี เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลเกรน รวมถึงทานโปรตีนที่ดีจากจากปลา และนมธัญพืชทุกมื้อ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง  งดดื่มชา กาแฟ   และที่ขาดไม่ได้คือเน้นการกินอาหารที่มีกรดโฟลิกสูง เพราะกรดโฟลิกมีส่วนช่วยในการสร้างตัวอ่อน ช่วยป้องกันและลดความผิดปกติของระบบประสาทให้ลูกน้อยในช่วงที่เริ่มแรกของการตั้งครรภ์

 ว่าที่คุณแม่สามารถเสริมกรดโฟลิกได้ตั้งแต่เริ่มวางแผนการมีบุตรหรือก่อนตั้งครรภ์ 1-3 เดือน และทานต่อไปอีกหลังเริ่มตั้งครรภ์ไปจนอายุครรภ์ได้ 12 สัปดาห์ เพราะหากรอจนทราบว่าตั้งครรภ์ก่อนแล้วค่อยทานอาจจะสายเกินไป   นอกจากนี้คือต้องเริ่มต้นออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายมีการยืดหยุ่นที่ดี มีกล้ามเนื้อแข็งแรงและพยายามทำใจให้สบายไม่เครียด เช่น การเดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน แอโรบิค หรือเล่นโยคะ

 

 

8 เทคนิคเตรียมตัวเป็นแม่  ทำให้พร้อมก่อนมีลูก

 

4. ปรับสิ่งแวดล้อม สำรวจตรวจดูสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว พร้อมกับหลีกเลี่ยงไม่ให้มีสิ่งที่อาจเป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์ เช่น ยาฆ่าแมลง สารพิษ สารตะกั่ว กลิ่นและควันพิษ รวมถึงหากเลี้ยงแมว ควรบอกแพทย์ให้เจาะเลือดตรวจหาภูมิต่อเชื้อท็อกโซพลาสมา (Toxoplasma) ปรสิตในอุจจาระแมว ซึ่งอาจนำโรคท็อกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis) อันเป็นสาเหตุทำให้ลูกมีความพิการแต่กำเนิดได้  แต่หากว่าที่คุณแม่ที่อยากมีลูกไม่มีภูมิคุ้มกัน ควรสวมถุงมือและหน้ากากทุกครั้งเมื่อต้องสัมผัสแมว หรือใช้วิธีแยกห้องหรือบริเวณเลี้ยงแมวออกจากที่อยู่ของว่าที่คุณแม่

 

5.ควบคุมน้ำหนักอย่างเหมาะสม การมีน้ำหนักที่มากหรือน้อยเกินไปอาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์และความแข็งแรงของคุณแม่และลูก สังเกตได้ว่าผู้หญิงที่มีน้ำหนักตัวมากจะตั้งท้องได้ยากกว่าผู้หญิงที่น้ำหนักปกติถึง 2 เท่า นั่นเพราะไขมันในร่างกายมีผลต่อการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนที่มากเกินไป ทำให้ส่งผลต่อการตกไข่ จึงควรควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติเพื่อให้มีโอกาสตั้งครรภ์ได้มากขึ้น

 

 

6. งดการใช้ยาบางประเภท หากวางแผนมีลูกก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจเช็กว่าตัวยาชนิดไหนรวมถึงยาประจำที่กินอยู่  มีผลกระทบต่อการตั้งครรภ์หรือไม่ เพราะยาบางชนิดอาจลดโอกาสการตั้งครรภ์และส่งผลกระทบต่อทารกในท้อง รวมถึงปรึกษาและรับคำแนะนำหากจำเป็นต้องใช้ยา นอกจากนี้หากเคยคุมกำเนิดมาก่อนที่จะพยายามมีลูกอาจใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนจึงจะเริ่มมีการตกไข่เป็นปกติอีกครั้ง

7. เลิกพฤติกรรมเสี่ยงเพื่อลูกน้อย งดสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์  เพราะนอกจากบุหรี่และแอลกอฮอล์จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพว่าที่คุณแม่แล้ว ยังมีผลเสียต่อพัฒนาการเสี่ยงทำให้ลูกเกิดความพิการ เพิ่มความเสี่ยงให้ระบบหัวใจของลูกมีปัญหา  ต่อการแท้งหรือการตั้งครรภ์นอกมดลูกอีกด้วย  ซึ่งสมาคมโรคปอดแห่งสหรัฐอเมริกาเผยว่าการสูบบุหรี่ระหว่างตั้งครรภ์จะส่งผลให้ทารกแรกเกิดร้อยละ 20-30 มีน้ำหนักตัวน้อย มีโอกาสเกิดภาวะคลอดก่อนกำหนดถึงร้อยละ 14 และประมาณร้อยละ 10 ของทารกเสียชีวิตเนื่องจากแม่ที่ตั้งครรภ์สูบบุหรี่

 

8 เทคนิคเตรียมตัวเป็นแม่  ทำให้พร้อมก่อนมีลูก

 

8. มองหาและสำรวจสถานที่ฝากครรภ์ หลังจากการเตรียมสุขภาพร่างกายแล้ว อาจชวนกันตระเวนดูโรงพยาบาลสำหรับฝากครรภ์ไว้หลายๆ แห่ง เลือกสูติแพทย์และกุมารแพทย์ที่รู้สึกไว้วางใจ ศึกษาแพคเกจคลอดแบบต่างๆ เพื่อค้นหาสถานที่เหมาะสมและดีที่สุดกับตัวคุณแม่และลูกน้อย ความสะดวกในการเดินทาง และงบประมาณค่าใช้จ่ายในครอบครัว 

...ขอบคุณข้อมูลจาก รพ.เปาโล และรพ.สมิติเวช...

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ