Lifestyle

นิ้วล็อก ล็อกชีวิตคนทำงานยุคออนไลน์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อย่าปล่อยให้นิ้วล็อก อุปสรรคใหญ่ทำชีวิตทำงานสะดุด ในยุคที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์และแท็บเล็ต

หากมีอาการปวด บริเวณผ่ามือใกล้ ๆ โคนนิ้ว  มักมีอาการนิ้วติด เคลื่อนที่ไม่สะดวก หรือสะดุดเวลาขยับนิ้ว  แบบนี้ใช่เลย "นิ้วล็อก" (trigger finger)
สาเหตุของโรคนิ้วล็อก มาจากการใช้งานของนิ้วมือและมือมากและใช้แต่ละครั้งในระยะเวลานาน โดยเฉพาะคนที่ต้องทำงานกำจับสิ่งของหรือกำมือแน่น เป็นประจำ จนทำให้เกิดการอักเสบของปลอกหุ้มเอ็นบริเวณโคนนิ้วที่อาจมีความรุนแรงลุกลามจนถึงขั้นผ่าตัดได้ 


อาชีพที่พบว่ามีอาการนิ้วล็อกได้บ่อย ได้แก่  พนักงานออฟฟิศที่พิมพ์งานติดต่อกันหลายชั่วโมง คนที่ชอบเล่นมือถือ ใช้นิ้วเขี่ยหรือสไลด์แท็บเล็ตบ่อยๆ หรือตลอดเวลา ซึ่งต้องจับมือถือให้มั่นคงอยู่ในมือ  เพื่อไม่ให้มือถือหรืออุปกรณ์สื่อสารหลุดจากมือ รวมถึงคุณแม่บ้านที่ต้องซักผ้าและบิดผ้าบ่อยๆ คนทำอาหาร นักกีฬาที่ต้องจับอุปกรณ์แน่นๆ เช่น เทนนิส แบดมินตัน แม้แต่นักช้อปปิ้ง ที่ต้องถือหรือกำถุงชอปปิ้ง และหิ้วของหนักนานๆ บ่อยๆ  

 

นิ้วล็อก ล็อกชีวิตคนทำงานยุคออนไลน์

 

 

อาการของโรคนิ้วล็อก แบ่งเป็น 4 ระยะตามความรุนแรง ได้แก่  
ระยะที่ 1 จะมีอาการปวดบริเวณโคนนิ้วมือเวลาขยับ แต่ยังไม่มีการสะดุดระหว่างการเคลื่อนไหวนิ้ว
ระยะที่ 2 เริ่มมีอาการสะดุดเวลาขยับนิ้ว แต่ยังพอขยับได้อยู่
ระยะที่ 3 นิ้วเริ่มติดล็อก แต่ยังสามารถเหยียดออกได้โดยการใช้มืออีกข้างช่วยแกะ
ระยะที่ 4 นิ้วติด หรือล็อกจนไม่สามารถขยับออกได้  

 

นิ้วล็อก ล็อกชีวิตคนทำงานยุคออนไลน์

 

 

การรักษานิ้วล็อก ทำได้ตามระยะของอาการ นั่นคือ 
*รักษาตามอาการระยะที่ 1-2 มีแค่อาการปวดและเจ็บเวลาขยับนิ้ว คุณหมออาจให้ทานยาแก้ปวด และพักการใช้งานของนิ้วสักระยะ หรือให้ปรับอุปกรณ์ที่จับให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เช่น ใช้ผ้าพันรอบด้ามอุปกรณ์กีฬาให้หนาขึ้น หรือเปลี่ยนจากถือถุงมาใช้กระเป๋าสะพายหลัง  นอกจากนี้คุณหมออาจให้ใช้อุปกรณ์ดามนิ้ว เพื่อป้องกันไม่ให้นิ้วใช้งานมากเกินไป รวมถึงรักษาด้วยการแช่นิ้วและขยับเบาๆ ในน้ำอุ่นวันละประมาณ 10-20 นาที ตลอดจนการใช้เครื่องอัลตราซาวนด์ เลเซอร์ หรือคลื่นกระแทก (extracorporeal shockwave) เพื่อช่วยลดการปวดและอักเสบได้

 
*รักษาตามอาการระยะที่ 3 – 4 เพราะมีอาการนิ้วติดล็อกแล้วคุณหมอจึงอาจพิจารณาใช้การฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะที่ หรือถึงขั้นผ่าตัดปลอกหุ้มเอ็นที่หนาตัวให้เปิดขยายขึ้น เพื่อช่วยทำให้เส้นเอ็นขยับได้คล่องตัวมากขึ้น 

โรคนิ้วล็อกป้องกันได้ คือ ควรพักการใช้มือและนิ้วในระหว่างการทำงาน ไม่พิมพ์งาน หรือใช้คอมพิวเตอร์หรือแท็บเล็ตนานจนเกินไป ไม่หิ้วของหนักเกินไป ไม่หักนิ้ว ดีดนิ้ว หลีกเลี่ยงการซักผ้าด้วยมือ หากต้องจับอุปกรณ์กีฬานานๆ อาจหาผ้ามาพันให้ด้ามอุปกรณ์หนาขึ้นและพยายามเหยียดนิ้วมือหากมีอาการนิ้วล็อก หรือหากใช้งานนิ้วและมือมาก ให้หมั่นแช่มือในน้ำอุ่นและนวดบริเวณโคนนิ้วเบาๆ พร้อมกับค่อยๆ เหยียดบริหารนิ้วในตอนแช่น้ำอุ่น
ขอบคุณข้อมูลจาก รามาชาแนล 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ