Lifestyle

เรียนรู้ยุคดิจิทัล ม.มหิดล แนะปรับ "บทเรียน" ให้เล็กลง และเข้าใจง่าย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แนวโน้ม "บทเรียน" สอนนักศึกษา ไม่ควรอัดแน่นเนื้อหา ควรใช้อุปกรณ์ดิจิทัลที่ทันสมัย ผสมผสานโลกแห่งความเป็นจริงและความเสมือนจริงเข้าด้วยกัน นำเสนอผ่านคลิปง่ายๆ เป็นตัวช่วยผู้เรียนให้เข้าใจ

วันที่ 4 สิงหาคม ตรงกับ “วันสื่อสารแห่งชาติ” ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการสื่อสารซึ่งมีวิวัฒนาการมาตามลำดับ โดยได้รับการพัฒนาด้วยเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด

 

นับตั้งแต่มีการสร้างคอมพิวเตอร์และระบบอินเทอร์เน็ตขึ้นมา จนทำให้หลายสถาบันการศึกษาต้องเร่งการผลิตและพัฒนาบัณฑิตให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศขึ้นมารองรับดังเช่นปัจจุบัน

 

คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีประสบการณ์ยาวนานกว่าทศวรรษในการผลิตบัณฑิตคุณภาพ ซึ่งสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) แห่งสหประชาชาติในปัจจุบัน ได้แก่ ข้อที่ 4 ที่ว่าด้วยการศึกษาที่มีคุณภาพ (Quality Education)

 

รวมทั้งข้อที่ 9 ซึ่งว่าด้วยอุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน (Industry, Innovation and Infrastructure) ของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกที่หมุนไปด้วยความก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้งของเทคโนโลยีการสื่อสารเช่นปัจจุบัน ซึ่งหมายถึงโอกาสในการเข้าถึงโลกแห่งความรู้ที่ไม่มีขีดจำกัด

 

อาจารย์ ดร.พัฒนศักดิ์ มงคลวัฒน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่นักศึกษาของคณะฯ ให้สามารถจบออกไปเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพ คณะฯ จึงได้มุ่งพัฒนาบัณฑิตให้มีความเป็นเลิศ

 

ทั้งในด้านองค์ความรู้ (Knowledge) ประสบการณ์ (Experience) และการมีความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) โดยเน้นการเรียนรู้แบบ Active Learner ที่มีผู้สอนคอยสร้างแรงบันดาลใจ (Inspiration) ให้นักศึกษามีความกระตือรือร้นใฝ่หาความรู้อยู่ตลอดเวลา

 

นอกจากนี้ คณะฯ ยังมีความพร้อมทั้งในด้านบุคลากร อุปกรณ์ และสถานที่ ในการที่จะส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ในลักษณะดังกล่าว โดยได้ริเริ่มให้มี Smart Classroom ซึ่งมี Smart Interactive Board Display ที่ผู้เรียนและผู้สอนสามารถโต้ตอบ และเชื่อมต่ออุปกรณ์สื่อสารใน platform อื่นๆ ได้ในขณะเดียวกัน

 

อาจารย์ ดร.พัฒนศักดิ์  กล่าวต่อไปว่า การเรียนการสอนในปัจจุบันได้มีการใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เพื่อช่วยในการเรียนการสอนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยเทคโนโลยีที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ “Virtual Reality” หรือ การจำลองภาพให้เสมือนจริง และ “Augmented Reality” หรือ การใช้อุปกรณ์ดิจิทัลที่ทันสมัยต่างๆ มาช่วยในการผสมผสานโลกแห่งความเป็นจริงและความเสมือนจริงเข้าด้วยกัน

 

รวมทั้งการใช้เกม (Gamification) เพื่อช่วยในการเรียนรู้ ซึ่งก้าวต่อไป คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช) ด้วยทุนของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข) บางส่วน

 

และการสนับสนุนจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อจัดตั้ง “ศูนย์ปัญญาประดิษฐ์ของมหาวิทยาลัยมหิดล” (AI Mahidol University Center) ณ อาคารของคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี AI เพื่อประโยชน์ต่อนักศึกษา และบุคลากรของมหาวิทยาลัยมหิดล และประเทศชาติต่อไป

 

ซึ่งรูปแบบของสื่อการเรียนการสอนที่จะรองรับโลกที่มีข้อมูลข่าวสารมากมายไร้ขีดจำกัดเช่นปัจจุบัน อาจารย์ ดร.พัฒนศักดิ์  มองว่า ควรมีการจัดทำบทเรียนให้เล็กลง และเข้าใจง่าย เพื่อเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนให้สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และมากขึ้น

 

“นอกจากนี้ การเตรียมความพร้อมเยาวชนก่อนเข้าสู่วัยอุดมศึกษาในเรื่องพื้นฐานที่ดีของการสื่อสาร ซึ่งประกอบไปด้วยทักษะการพูด การอ่าน และการเขียนก็เป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ในวัยที่เริ่มรู้หนังสือ เนื่องจากหากขาดทักษะการพูด การอ่าน และการเขียนที่ดี จะไม่สามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 

ทั้งในการใช้ความคิดเชิงวิเคราะห์ และความคิดสร้างสรรค์ โดยจะเป็นทักษะที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ให้กับตัวเองให้สามารถเข้าถึงสื่อต่างๆ เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อไปได้อีกด้วย และที่สำคัญ ความรู้ หรือความถนัดแต่เพียงด้านเดียวอาจไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตให้อยู่รอดได้ในโลกยุคปัจจุบัน” ดร.พัฒนศักดิ์  กล่าวทิ้งท้าย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ