ไลฟ์สไตล์

นศ.พยาบาลโคราชร้องสภาทนายช่วยคืนเงินกยศ.

นศ.พยาบาลโคราชร้องสภาทนายช่วยคืนเงินกยศ.

08 ก.พ. 2553

นศ.พยาบาลวิทยาลัยนครราชสีมา ร้องทุกข์สภาทนาย วิทยาลัยปรับหลักสูตรแต่ไม่ผ่านสภาการพยาบาล กระทบไม่มีวุฒิประกอบอาชีพ หาเงินคืนทุนกยศ. ขณะที่เลขาธิการสภาทนาย รับเรื่องรอเสนอสภาพิจารณาเรียกผู้บริหารวิทยาลัยสอบถามข้อมูล หากไกล่เกลี่ยไม่เป็นผลจ่อฟ้องคดีแพ่ง - อ

 (8ก.พ.) น.ส.วารีย์ แพงรูป นักศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยนครราชสีมา กับพวกรวม 42 คน เข้าร้องทุกข์ต่อนาย เสงี่ยม บุญจันทร์ เลขาธิการสภาทนายความ เพื่อขอความเป็นธรรมว่า กลุ่มของ น.ส.วารีย์ เข้าศึกษาที่คณะพยาบาลศาสตร์มานาน 3 ปี โดยกู้เงินเรียนจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) หวังจะนำความรู้ไปประกอบอาชีพ แล้วเอาเงินมาคืนกองทุน แต่เมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมา ทราบว่า ทางวิทยาลัยฯ ไม่อาจเปิดหลักสูตรพยาบาลศาสตร์ได้ เนื่องจากไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากสภาการพยาบาล ทำให้เมื่อเรียนจบแล้วไม่อาจใช้วุฒิการศึกษาไปสอบวิชาประกอบโรคศิลป์ ชั้นสูง จากสภาการพยาบาลได้ เนื่องจากวิทยาลัยฯเคยส่งหลักสูตรให้สภาการพยาบาล แต่ไม่ผ่านการรับรองมาตรฐาน ซึ่งผู้บริหารวิทยาลัยฯทราบดีแต่ยังคงรับนักศึกษาต่อไป ทำให้เกิดความเสียหายแก่นักศึกษา โดยเฉพาะกลุ่มของ น.ส.วารีย์ ต้องส่งเงินคืนกองทุน กยศ. จำนวน 312,000 บาท แต่ไม่สามารถทำงานเพื่อ นำเงินมาชำระหนี้ได้ จึงขอให้ทางวิทยาลัยฯ โยกย้ายนักศึกษาไปเรียนที่อื่น โดยให้ทางวิทยาลัยฯออกค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ด้วย

 ขณะที่นายเสงี่ยม เลขาธิการสภาทนายความ รับเรื่องไว้เพื่อเสนอต่อนายเจษฏา อนุจารี อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการสภาทนายความ ในฐานะประธานคณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ดำเนินการเรียกผู้บริหารวิทยาลัยมาสอบถามต่อไป หากไม่ได้ผลก็จะดำเนินคดีแพ่งและอาญาตามรูปคดี

 ภายหลังนายเสงี่ยม เลขาธิการสภาทนายความ กล่าวว่า คดีนี้หากการไกล่เกลี่ยไม่เป็นผล ทางกรรมการบริหารสภาทนายความกำลังคิดว่าจะดำเนินคดีข้อหาฉ้อโกงประชาชนกับผู้บริหารวิทยาลัยฯ เนื่องจากเข้าองค์ประกอบความผิด คือหลอกลวงผู้อื่นด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ปกปิดข้อความจริง ทำให้ได้ประโยชน์ในทางทรัพย์สิน ท้ายที่สุดคาดว่ารัฐต้องเข้าไปช่วยหาที่เรียนให้ เพราะนักศึกษามีหนี้สินติดพันมา ก่อนหน้านี้ น.ส. ณัฐนิชนิภา สังข์ศิลชัย นักศึกษาชั้นปีที่ 4 กับพวกรวม 4 คน เคยเข้ามาร้องทุกข์มาแล้วชุดหนึ่งทางสภาทนายความได้สอบข้อเท็จจริงทางอาญาไว้แล้ว

 นายอุดม ศุภศิลป์ กรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย เผยว่า ทางออกเรื่องนี้น่าจะเป็นการไกล่เกลี่ยเพื่อยุติคดีเสียแต่แรก หากปล่อยให้ดำเนินคดีแพ่ง - อาญาจะใช้เวลานานจะยิ่งสร้างความเสียหายแก่ตัวนักศึกษา จุดนี้กองทุน กยศ.ควรมีมาตรการยืดหยุ่นระยะเวลาการชำระหนี้คืนออกไป

สธ.ชงศธ.ดำเนินคดี “วิทยาลัยนครราชสีมา”

  นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความคืบหน้าในการช่วยเหลือนักศึกพยาบาล วิทยาลัยนครราชสีมาว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้มีการแก้ไขปัญหาเรื่องของนักศึกษาวิทยาลัย นครราชสีมา สาขาวิชาการพยาบาลแล้ว โดยเมื่อตรวจสอบแล้วพบว่ากระบวนการเรียนการสอนหลักสูตรได้รับการรับรองเฉพาะปี 2548-2549 แต่เมื่อปี 2550 สภาการพยาบาลได้ขอให้วิทยาลัยมีการปรับปรุงกระบวนการทั้งเรื่องเกณฑ์อาจารย์สอนระดับปริญญา โท ทั้งในระดับคุณภาพและปริมาณ และอาจารย์ที่มีชื่อแต่กลับไม่ได้ไปสอนจริง ซึ่งสภาการพยาบาลได้ให้ข้อมูลว่า ทางวิทยาลัยดังกล่าวได้เพิกเฉยไม่ได้ดำเนินการ ดังนั้นในปี 2550 จึงได้มีมติไม่รับรองหลักสูตร จึงเป็นปัญหาสำหรับเด็กที่เรียนตั้งแต่ปี 2548 และย่างเข้าสู่ปีที่ 3ที่ไม่มีการรับรองหลักสูตร และยังถือเป็นปัญหาของเด็กปี 1 ในปี 2550-2551 เป็นต้นมาอีกด้วย

 นายจุรินทร์ กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นกระทรวงสาธารณสุขเห็นว่าควรดำเนินการกับทางสถาบันและผู้บริหารสถาบันโดยเคร่งครัดตามกฎหมายเพื่อให้แสดงความรับผิดชอบ โดยจะประสานไปยังกระทรวงศึกษาธิการดำเนินการ ส่วนนักศึกษาพยาบาลที่ได้รับความเสียหาย ทางกระทรวงสาธารณสุขได้มีมาตรการเยียวยา โดยแยกออกเป็น 2 แนวทาง 1. ให้สถาบันพระบรมราชชนกช่วยหาสถานที่เรียนให้เด็กที่ประสบปัญหาด้วยการใช้วิธีโอนหน่วยกิตไปยังสถาบันการศึกษาใหม่ที่รับส่งต่อ 2. ให้วิทยาลัยพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข 29 แห่ง ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของสภาการพยาบาลช่วยพิจารณารับเด็กที่ยังเรียนไม่จบ ส่วนที่เรียนจบแล้วแต่ไม่สามารถไปขอใบประกอบวิชาชีพได้ ก็ให้มาเรียนเพิ่มเติมเพื่อไปขอสอบ โดยเรื่องนี้ให้พิจารณาเป็นกรณีไป

สกอ.หาที่เรียนนศ.พยาบาลวิทยาลัยโคราช

 ดร.สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า ขณะนี้มีแนวทางแก้ไขปัญหาของนักศึกษาที่ชัดเจนแล้ว ซึ่งสำหรับนักศึกษาที่ต้องการเรียนที่วิทยาลัยนี้ต่อไป ทางสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ก็จะเข้าไปช่วยพัฒนาหลักสูตรให้ได้มาตรฐานซึ่งแนวทางนี้เป็นแนวทางระยะยาว ส่วนคนที่ไม่อยากเรียนที่เดิมก็จะช่วยประสานหาที่เรียนให้ และสำหรับนักศึกษาที่จบไปแล้วไม่มีใบประกอบวิชาชีพเรื่องนี้ก็จะต้องมาดูรายละเอียดกันอีกครั้งโดยต้องหารือกับสภาการพยาบาลว่าจะมีแนวทางช่วยเหลืออย่างไรบ้าง

 ดร.สุเมธ กล่าวอีกว่า ในวันที่ 9 ก.พ. นี้เจ้าหน้าที่ของสกอ.จะลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงยังวิทยาลัยนครราชสีมา และเชื่อว่าน่าจะได้ข้อมูลที่ชัดเจนว่าผู้บริหารวิทยาลัยมีความผิดตามพ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 หรือไม่ นอกจากนั้นสกอ.จะลงไปตรวจสอบหลักสูตรอื่น ๆ ของวิทยาลัยนี้ว่ายังมีหลักสูตรใดบ้างที่ไม่ผ่านการรับรองขณะเดียวกันก็จะลงไปพูดคุยกับนักศึกษาและดูความต้องการของนักศึกษาด้วย ซึ่งที่ผ่านมานักศึกษา ไม่เคยติดต่อมาที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.)เลย ซึ่งตนเองก็ได้แต่ฟังข่าวจากทางโน้นทีทางนี้ที ทำให้ยังไม่รู้ข้อเท็จจริง

  ทั้งนี้สกอ.คงต้องสอบถามความต้องการของทั้งศึกษาทั้งหมดก่อนว่าต้องการอะไร เพื่อที่จะได้ให้ความช่วยเหลือได้ถูกทาง อย่างไรก็ตาม สำหรับข้อห่วงใยเรื่องหลักสูตรที่ไม่ได้มาตรฐานนั้นขณะนี้นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมช.ศึกษาธิการ ได้ส่งหนังสือกำชับไปยังมหาวิทยาลัยทุกแห่งทั้งรัฐ และเอกชนให้ดูแลเรื่องมาตรฐานของหลักสูตรอย่างเข้มงวดอย่าให้มีปัญหาขึ้นมาอีก