
เช็กลิสต์ วัคซีนจำเป็นพื้นฐานสำหรับเด็กไทย พ่อ-แม่ อย่าละเลย
ตามมาตรฐานของเด็ก ควรได้รับวัคซีนพื้นฐาน ตามแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันของประเทศไทย เพื่อช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค
ในยุคของการแพร่ระบาดของโควิด-19 วัคซีนจึงมีความจำเป็นสูงสุด แต่ถ้าพูดถึงวัคซีนจำเป็นพื้นฐาน ที่เด็กควรได้รับตั้งแต่แรกเกิด เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และควบคุมโรคติดต่อ ซึ่งหากเด็กไม่ได้รับวัคซีน ก็มีโอกาสที่จะเจ็บป่วยจากเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ง่าย และอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ ซึ่งในประเทศไทย แบ่งเป็นวัคซีนจำเป็น และ วัคซีนเสริม
วัคซีนจำเป็น
วัคซีนจำเป็น คือ วัคซีนพื้นฐานที่เด็กไทยทุกคนต้องได้รับตามแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันของประเทศไทย (National Immunization Program) เพื่อป้องกันโรคระบาดที่ยังเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุข ดังนี้
- วัคซีนวัณโรค (BCG) ฉีดตอนแรกเกิด
- วัคซีนตับอักเสบบี (HBV) ฉีดตอนแรกเกิด, 2, 4, 6 เดือน
- วัคซีนคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน (DPT) ฉีดตั้งแต่ 2, 4, 6 เดือน, 1 ปี 6 เดือน และ 4 ปี
- วัคซีนโรต้า ควรรับตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป
- วัคซีนโปลิโอ ฉีดตั้งแต่ 2, 4, 6 เดือน, 1 ปี 6 เดือน และ 4 ปี
- วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV) ช่วงวัยที่เหมาะสม คือ อายุ 9 ปีขึ้นไป
- วัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม (MMR) - วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี (JE) ควรฉีดตามช่วงอายุ คือ เข็มที่หนึ่ง 9-12 เดือน และเข็มที่สอง 2 ปี – 2 ปี 6 เดือน
วัคซีนเสริม
วัคซีนเสริม คือ วัคซีนเพิ่มเติม ที่ไม่ได้อยู่ในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันของประเทศไทย เนื่องจากราคายังสูง หรือเป็นวัคซีนพื้นฐานที่พัฒนาเพื่อให้ผลข้างเคียงลดลง
- วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ควรฉีดปีละครั้ง ในเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป (โดยปีแรกต้องได้รับ 2 เข็ม ห่างกัน 1 เดือน ในเด็กที่อายุ 9 ปี)
- วัคซีนป้องกันตับอักเสบ (HAV) ฉีดเมื่ออายุ 1 ปีขึ้นไป
- วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส ฉีดเมื่ออายุ 1 ปีขึ้นไป
- วัคซีนไอพีดี (IPD) ฉีดเมื่ออายุ 2 เดือนขึ้นไป
ข้อควรปฎิบัติในการมารับวัคซีน
- ผู้ปกครองควรพาเด็กมารับวัคซีนตามกำหนดเวลาที่แพทย์แนะนำเสมอ และนำสมุดบันทึกการรับวัคซีนมาด้วยทุกครั้ง
- แจ้งแพทย์ หรือพยาบาลก่อนรับวัคซีน หากเด็กมีประวัติแพ้ยา หรือ อาหาร หรือเคยมีอาการผิดปกติหลังได้รับวัคซีน
- หากเด็กเจ็บป่วยเฉียบพลันหรือมีไข้สูง ควรเลื่อนการรับวัคซีนไปก่อน
- ควรสังเกตอาการหลังได้รับวัคซีนอย่างน้อย 30 นาที เพื่อสังเกตอาการแพ้
อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ ควรตรวจสอบกำหนดการรับวัคซีนจากสมุดบันทึกประจำตัว และคอยเช็กว่า ลูกอายุเท่านี้ต้องไปฉีดวัคซีนอะไรบ้าง และลูกควรได้รับวัคซีนอย่างครบถ้วน หากละเลย อาจทำให้เด็กเป็นโรคร้ายแรงที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ที่มา : โรงพยาบาลศิครินทร์