Lifestyle

แถลงการณ์ชมรมครูสังกัดกทม.ฯ กังวล 5 ข้อหากศธ.On Site เปิดภาคเรียนเทอม2

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิด 5 ข้อกังวล จากแถลงการณ์ชมรมครูสังกัดกทม.ฯ หากเปิดเรียนแบบ On Site ภาคเรียนที่2 ขอศธ.ให้ความเชื่อมั่นต่อการดำเนินการในลักษณะ Sandbox ว่านักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา จะปลอดภัยจากโควิดได้จริง

ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ กระทบการจัดการศึกษาไทย ต้องหาทางออกด้วยการสอนออนไลน์และเรียนออนไลน์นั้น ล่าสุดมีแนวคิดของฝ่ายบริหารกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.Xว่าจะเปิดเรียนแบบ On Site ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 นี้

 

เกี่ยวกับแนวคิดเปิด On Site ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ทำให้ชมรมครูสังกัดกรุงเทพมหานครออนไลน์ มีแสดงความเป็นห่วงกังวลต่อความปลอดภัของนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาจึงได้ออกแถลงการณ์มีเนื้อหาสาระดังนี้

แถลงการณ์ชมรมครูสังกัดกรุงเทพมหานครออนไลน์

ฉบับที่ 5

27 กรกฎาคม 2564

เรื่อง เรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการได้มีการศึกษาและประเมินประเด็นที่เกี่ยวข้องให้รอบคอบที่สุดต่อการหาแนวทางการเปิดเรียนแบบ On Site ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 เพื่อความปลอดภัยจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

 

ตามที่มีความเคลื่อนไหวของกระทรวงศึกษาธิการในเรื่องการบริหารจัดการศึกษาภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ว่าในการดำเนินการจัดการเรียนการสอนในภาคเรียนที่ 2 ประจำปีการศึกษา 2564 กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการหาแนวทางเพื่อให้นักเรียนกลับมาเรียนในลักษณะ On Site

 

ซึ่งได้มีการหารือร่วมกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขถึงมาตรการ Safety Zone in School เป็นระยะ ๆ พร้อมทั้งมีการประเมินความเป็นไปได้ โดยมาตรการนี้จะดำเนินการในลักษณะ Sandbox มีการจำกัดบุคคลเข้าออกโรงเรียนอย่างชัดเจน

 

พร้อมการคัดกรอง โดยใช้วิธี Rapid Antigen Test และดำเนินการในโรงเรียนที่มีความพร้อมก่อนเท่านั้น โดยมาตรการในลักษณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ได้ดำเนินการในโรงเรียนพักนอนไปแล้ว

 

ชมรมครูสังกัดกรุงเทพมหานครออนไลน์ ในฐานะประชาคมออนไลน์ ไม่คัดค้านต่อประเด็นดังกล่าว เพียงแต่มีข้อกังวล ดังนี้

 

1)กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการจัดการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยการให้นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับวัคซีนไปแล้วเป็นจำนวนมากน้อยเพียงใด วัคซีนมีประสิทธิภาพหรือไม่ เคยปรากฎหรือไม่ ที่นักเรียน รวมทั้งครูและบุคลากรทางการศึกษา เมื่อได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้ว มีผลต่อชีวิต ร่างกายอย่างไร ตรงนี้หากปรากฎว่ามี ทางกระทรวงศึกษาธิการได้มีการเยียวยาอย่างไร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและเสียหาย โดยเฉพาะครอบครัวหรือญาติของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการได้รับวัคซีน ซึ่งเป็นเรื่องของหลักประกันแห่งความปลอดภัยในชีวิต และร่างกาย

 

2)Sandbox มีหลักการอย่างไร การดำเนินการในลักษณะนี้มีประสิทธิภาพหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาแม้การได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว ยังสามารถติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้หรือไม่ เพราะเชื้อมีวิวัฒนาการกลายพันธุ์เป็นพันธุ์ต่าง ๆ อีกทั้ง Sandbox นี้ จะสามารถใช้ได้กับนักเรียนที่จักต้องมีการเดินทางเคลื่อนที่จากบ้านมาโรงเรียน จากโรงเรียนเพื่อกลับบ้านหรือไม่

รวมทั้ง Sandbox นี้ มีความสัมพันธ์เป็นไปในทิศทางใดกับระดับของพื้นที่ เช่น พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) หรือพื้นที่อื่นอย่างไร ขอให้กระทรวงศึกษาธิการให้ความเชื่อมั่นต่อการดำเนินการในลักษณะ Sandbox ว่า จะเกิดความปลอดภัยขึ้นได้จริง และขอให้อาศัยข้อมูลและบทเรียนต่าง ๆ ที่ผ่านมาประกอบการดำเนินการ

 

3)การคัดกรองแบบ Rapid Antigen Test สามารถเข้าถึงได้ง่ายหรือจัดหาให้มีความพร้อมในทุกพื้นที่ระดับต่าง ๆ ของโรงเรียนที่มีความพร้อมหรือไม่ หากมีการตรวจพบ Positive Test สามารถเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงทีหรือไม่ มีโรงพยาบาลที่พร้อมหรือมีระบบรองรับทางสาธารณสุขที่พร้อมอย่างไร

 

อีกทั้งในกระบวนการตรวจ จะมีบุคลากรรองรับเพื่อดำเนินการอย่างเพียงพอหรือไม่ ควรตรวจทุกรายหรือกลุ่มใด เมื่อตรวจแบบ Rapid Antigen Test แล้ว จะต้องมีการตรวจแบบวิธีอื่นร่วมด้วยหรือไม่ มีค่าใช้จ่ายต่อการตรวจรายคนเท่าใด หากกระทรวงศึกษาธิการสามารถสื่อสารต่อสังคมได้อย่างต่อเนื่อง

 

ประกอบกับสถิติของการติดเชื้อลดลง ผู้คนจะเกิดความเชื่อมั่นต่อการเปิดภาคเรียนแบบ On Site ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ระบบการเรียนการสอนจะกลับคืนสู่สภาพปกติโดยอัตโนมัติ เมื่อปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งเป็นตัวแปรหลัก ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และสามารถเห็นสุขภาพของประชากรดีขึ้นอย่างชัดเจน บ่งบอกถึงความเป็นปกติสุข

 

4)โรงเรียนในรูปแบบลักษณะใด ถือได้ว่ามีความพร้อม ขอให้กระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำคำนิยามของคำว่า “โรงเรียนที่มีความพร้อม” และจัดทำประเด็นการประเมินโรงเรียนที่มีความพร้อมว่า มีประเด็นการประเมินใดบ้าง และโรงเรียนนั้น ๆ เข้าเงื่อนไขตามประเด็นการประเมินหรือไม่ โดยต้องสามารถวัด ชั่งตวง ได้ตรงกัน และ

 

หากเมื่อดำเนินการ เปิดเรียนแบบ On Site ไปแล้ว เมื่อนักเรียน ผู้ปกครอง ครูและบุคลกรทางการศึกษา และประชาชนได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อจนกลายเป็นคลัสเตอร์ใหม่ จะมีการเยียวยา รวมทั้งให้ความเชื่อมั่นในการดูแลรักษาอย่างไร มีระบบงานสาธารณสุขรองรับเพียงพอและมีประสิทธิภาพหรือไม่ ต่อการดำเนินการเพื่อการเปิดภาคเรียนในลักษณะดังกล่าว

5)ขอให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยข้อมูลรายละเอียดว่าการดำเนินมาตรการดังกล่าว ในโรงเรียนพักนอน มีระบบการดำเนินการอย่างไร มีผลเป็นอย่างไร สามารถแก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่ เมื่อเทียบกับตัวแปร กล่าวคือ นักเรียนที่มิได้เรียนอยู่ในลักษณะของการพักนอน ตัวแปรนี้ มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร หรือจะดำเนินการให้เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ในกระบวนการ วิธีการ ขั้นตอน และระบบที่เกี่ยวข้อง

 

เพราะส่วนใหญ่โรงเรียนทั่วประเทศมิได้ทำการเรียนการสอนแบบพักนอน มีการเดินทาง เคลื่อนที่ พบปะ ปะทะสังสรรค์ทางกายภาพ เช่น ในครอบครัวเดียวกัน มีบิดา มารดา สมาชิกในครอบครัวที่มีการดำเนินกิจกรรมในแต่ละวันที่มีความแตกต่างกัน และเมื่อพลบค่ำหรือเลิกงานได้มาอยู่รวมกันในเคหสถานเดียวกัน

 

จากข้อกังวลทั้ง 5 ข้อดังกล่าว หากกระทรวงศึกษาธิการสามารถแถลงออกมาได้อย่างชัดเจน จักเป็นประโยชน์ที่จะร่วมด้วยช่วยกันในสถานการณ์แห่งความร่วมมือที่อาจจะเกิดขึ้น

 

ทั้งนี้ การแถลงการณ์ของชมรมฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงข้อกังวลอันเป็นข้อสังเกตที่จะขอให้การดำเนินการใด ๆ ในภาวะที่มีความเสี่ยงต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ ของนักเรียน ผู้ปกครอง ครูและบุคลากรทางการศึกษาและประชาชนโดยรวม ได้เกิดความรอบคอบอย่างมากที่สุด

ชมรมครูสังกัดกรุงเทพมหานครออนไลน์ จึงแถลงการณ์มา ณ ที่นี้

ไกรทอง กล้าแข็ง

ประธานชมรมครูสังกัดกรุงเทพมหานครออนไลน์

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ