
พัฒนคณะวิทย์จุฬาฯเป็นแหล่งเรียนรู้วิทยาศาสตร์
คณะวิทย์จุฬาฯ เตรียมพัฒนาเป็นแหล่งส่งเสริม-เรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ผุดพิพิธภัณฑ์ 5 แห่ง หวังเป็นสถานที่เรียนรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ คาด 2 ปีให้บริการ พร้อมเปิดคลินิกเทคโนโลยีช่วยชาวบ้าน พัฒนาห้องสมุดชุมชนเผยแพร่หนังสือวิทยาศาสตร์
(3ก.พ.) ศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าปี 2553 นี้ เป็นปีที่คณะวิทย์ จุฬาฯ ครบรอบ 92 ปี ซึ่งอีก 8 ปีจะครบ 100 ปี ทางคณะได้มีการวางนโยบายในการผลักดันให้คณะเป็นแหล่งส่งเสริมการเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ ตอนนี้ทางคณะวิทย์จึงได้มีการปรับปรุง ต่อเติมพิพิธภัณฑ์ของคณะขึ้น โดยแบ่งเป็น 5 แห่ง
ได้แก่ 1.พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ ที่รวบรวมเรื่องราวตั้งแต่การเกิดวิทยาศาสตร์ ทั้งในและต่างประเทศ 2.พิพิธภัณฑ์สัตว์ของภาควิชาชีววิทยา จะรวบรวมเกี่ยวกับสายพันธุ์สัตว์ใหม่ๆ ที่ทางคณะได้ค้นพบขึ้น หรือสัตว์ที่เกิดใหม่ต่างๆ 3.พิพิธภัณฑ์พืช และพิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยาเรื่องหิน 4.พิพิธภัณฑ์ภาพถ่าย กล้องถ่ายรูป และ5.พิพิธภัณฑ์อัญมณี ซึ่งตอนนี้ได้รวบรวมผลงานต่างๆ ไว้เรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงแต่จัดวางให้เรียบร้อย และจัดสร้างสถานที่เพื่อความเหมาะสม คาดว่าภายใน 2ปี จะเปิดให้บริการแก่ประชาชนที่สนใจเรื่องวิทยาศาสตร์ได้เข้าชมโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
ทั้งนี้ ทางคณะซึ่งได้รับงบประมาณจากโครงการไทยเข้มแข็ง เพื่อสนับสนุนงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ จะจัดตั้งโรงงานต้นแบบขึ้นอีก 6 แห่ง เพื่อนำสินค้าเกษตรของชาวบ้านมาดัดแปลง ผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า สร้างรายได้แก่ชุมชน และประเทศ อีกทั้งยังมีร่วมกับภาคเอกชนตั้งห้องวิจัยและทดสอบอาหารปนเปื้อน เพื่อรับมือกับวิกฤตโลกที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งในเรื่องของอาหารและน้ำ ภัยพิบัติต่างๆ โรคร้อน พลังงาน
“เราพยายามจะส่งเสริม จัดอบรมแก่ครู นักเรียนทั่วประเทศ เพื่อทำความเข้าใจ เห็นคุณค่าความหลากหลายทางวิทยาศาสตร์ และชีวภาพมากขึ้น เนื่องจากไทย เป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพค่อนข้างมาก แต่ยังไม่มีการนำมาใช้มากเท่าที่ควร เนื่องจากมักพึ่งพาเทคโนโลยีต่างๆ จากต่างประเทศ ดังนั้นคณะวิทย์ ซึ่งเป็นแหล่งที่มีบุคลากร นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ที่มีความรู้ความชำนาญจึงต้องเป็นแกนนำในการพัฒนา และให้ความรู้ แก่ประชาชน โดยจะจัดคลินิกเทคโนโลยีช่วยชาวบ้าน และร่วมพัฒนาห้องสมุดชุมชนให้เป็นแหล่งเผยแพร่หนังสือวิทยาศาสตร์แก่คนในชุมชน”ศ.ดร.สุพจน์ กล่าว