
พบสามร้อยยอดแหล่งชุมนุมเสือปลาใหญ่ในโลก
นักวิจัยกรมอุทยานฯ เผยเพิ่งค้นพบแหล่งชุมนุม เสือปลา สัตว์ในบัญชีแดงของไอยูซีเอ็น หายากระดับโลกในเขตพื้นที่สามร้อยยอด กว่า 20 ตัว ทำวิจัยเชิงลึกเพื่อหาทางอนุรักษ์ ชี้ไอยูซีเอ็น เพิ่งขยับขึ้นบัญชีพันธ์เป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ของโลก
นายพรชัย ปทุมรัตนาธาน จากกลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีข่าวน่ายินดีเกี่ยวกับการค้นพบแหล่งอาศัยของเสือปลา ในเขตพื้นที่ทุ่งหนองผักชี ต.เขาแดง และต.ดอนยายหนู อ.สามร้อยยอด จ.ประ จวบคีรีขันธ์ และคาดว่าจะเป็นแหล่งอาศัยของเสือปลาในธรรมชาติมากที่สุดของไทย ซึ่งการสำรวจข้อมูลระ หว่างเดือน ม.ค. 52 ถึงปัจจุบันโดยการตั้งกล้องดักถ่ายภาพ สามารถบันทึกภาพเสือปลาได้ 23 ตัว แยกจากลายบนตัวที่แตกต่างของมัน และเมื่อลองการตั้งกรงดักจับ เพื่อติดวิทยุติดตามตัว ก็จับได้ถึง 15 ตัว มีทั้งตัวเมีย ที่มีลูกเล็ก และตัวผู้ที่มีวัยและขนาดแตกต่างกันไป ซึ่งตัวสุดท้ายที่เพิ่งจับติดวิทยุไปเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 52 เป็นตัวผู้มีน้ำหนักถึง 12 ก.ก.
“ถือเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นกับการพบเสือปลาจำนวนมากในพื้นที่นี้ เพราะเป็นสัตว์ที่ถูกจัดอยู่สถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง ถึงขนาดที่ทางสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ไอยูซีเอ็น) เพิ่งขยับสถานะขึ้นไปอยู่ในบัญชีแดงในปีที่ผ่านมา รวมทั้งยังอยู่ในบัญชี 2 ของอนุสัญญาการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าใกล้สูญพันธุ์ (ไซเตส) และบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองของไทย เพราะทั่วโลกที่เคยมีรายงานในป่าธรรมชาติค่อนข้างหาได้ยากมาก แม้แต่ของไทยที่เคยมีรายงานในพื้นที่ป่าตั้งแต่ภาคเหนือจนถึงสุราษฎร์ธานี ส่วนใหญ่ที่เคยเจอก็แค่เพียง 1-2 ตัวเท่านั้น โดยภาพสุดท้าย และเป็นภาพเดียวที่นักวิจัยจากต่างชาติ ได้จากกล้องดักถ่ายภาพไว้ตั้งแต่ปี 2539 จากพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย ซึ่งหลังจากนั้นก็ไม่เคยมีใครเจอตัวหรือถ่ายภาพมันได้อีกเลย”
นายพรชัย กล่าวอีกว่า การที่นักวิจัยสามารถเจอเสือปลาจากพื้นที่สามร้อยยอดได้นั้น เพราะชาวบ้านได้ แจ้งให้สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขาประทับช้าง มาช่วยดูว่าสัตว์ที่มีลักษณะเหมือนแมวขนาดใหญ่ 2 ตัวเข้ามาฆ่าไก่ในเล้าของชาวบ้าน เมื่อไปจึงพบว่าเป็นเสือปลา และชาวบ้านบอกว่าเคยเห็นมันแถวทุ่งหนองผักชี กระทั่งเมื่อลงไปสำรวจในพื้นที่ จึงเจอรอยตีนและมูลของมัน ทั้งนี้สันนิษฐานว่าการที่ยังมีเสือปลานับ 20 ตัวในเขตทุ่งหนองผักชี รวมทั้งในเขตพื้นที่ชุ่มน้ำสามร้อยยอดอีก 1 กลุ่ม ซึ่งกำลังยังอยู่ระหว่างการตามรอยกันอยู่ เนื่องจากบริเวณนี้ยังมีลักษณะเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ และปกคลุมไปด้วยต้นธูปฤาษี ทำให้เสือปลายังมีแหล่งอาหารคือปลา นก งู และหนูกินอยู่ แต่ก็น่าเป็นห่วงว่าพื้นที่ทุ่งหนองผักชี เป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านครอบครอง มีการทำนา และนากุ้ง ซึ่งอนาคตหากมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ไปทำกิจกรรมอย่างอื่นๆก็จะกระทบกับถิ่นอาศัยของเสือปลาได้เช่นกัน
“ขณะนี้ได้ทำโครงการวิจัยศึกษานิเวศน์ของเสือปลา ระหว่างปี 2553-55 เพื่อติดตามประชากรเสือปลาในพื้นที่สามร้อยยอด เพื่อให้ทราบข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการกระจายตัว สถานภาพและนิเวศน์วิทยา เพื่อหาทางอนุรักษ์ เนื่องจากแม้แต่ในระดับโลกข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ทางธรรมชาติ และข้อมูลเกี่ยวกับสถานภาพของประชากรในธรรมชาติที่แท้จริงยังมีน้อยมาก ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีที่ไทยจะทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยจะเก็บข้อมูลจากวิทยุที่ติดไปแล้ว 13 ตัว และใช้ กล้องดักถ่ายภาพ อย่างไรก็ตาม พบว่าเพียงแค่ 3 เดือนที่ผ่านมา มีเสือปลาเหลือแค่ 7 ตัวที่ยังมีสัญ ญาณวิทยุอยู่ นอกจากนี้ยังเจอซากของมันอีก 3 ตัว ขณะที่ข้อมูลเบื้องต้นยังพบว่าเสือปลาตัวผู้จะใช้พื้นที่ 8 ตร.กม. ส่วนตัวเมียใช้พื้นที่ 4 ตร.กม.ทำให้พื้นที่ทุ่งหนองผักชีที่มีแค่ 20 ตร.กม.จึง ค่อนข้างหนาแน่นไปสำหรับเสือปลากว่า 20 ตัว และอาจทำให้เสือออกไปบ้านของชาวบ้านได้ ดังนั้นจึงได้หารือกับกำนันตำบลดออนยายหนู และโรงเรียนในพื้นที่ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ดีว่าเสือปลา จะไม่ทำร้ายคน และเชิญชวนให้ร่วมกันอนุรักษ์เสือปลาอยู่ในพื้นที่นี้ ” นักวิจัย ระบุ
นายพรชัย กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ผู้ร่วมโครงการวิจัยกับตนคือ นางภัสนันท์ คัทเตอร์ ได้รับเชิญจากนักวิจัยของสหรัฐอเมริกาไปบรรยายเกี่ยวกับเสือปลาในประเทศไทย ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา นักวิจัยที่นั่นตื่นเต้นกับข่าวนี้มาก นอกจากนี้ตนได้รายงานเรื่องนี้ในที่ประชุมนักวิชาการสัตว์ผู้ล่าขนาดเล็กที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เมื่อเร็วๆนี้ด้วย
สำหรับ “ เสือปลา ” เป็นสัตว์ในตระกูลเสือ หรือแมวป่าขนาดใหญ่ รูปร่างลักษณะอ้วนหนา บึกบึน แต่ลักษณะภายนอกหลายอย่างคล้ายชะมด หลังหูมีสีดำและแต้มด้วยสีขาวเด่นชัด ขาสั้นเสือปลาตัวผู้หนัก 11-12 ก.ก. ส่วนตัวเมียหนัก 6-7 ก.ก. ชอบอาศัยในหนองน้ำนิ่ง เช่น หนองบึง ป่าชายเลนและตามพื้นที่เกษตรกรรม มีข้อมูลการกระจายตัวในเขตเนปาล อินเดีย พม่า ไทยและแถบอินโดจีน