
ทางไป...สวรรค์-นรก
"ทางไปสวรรค์รก-ทางไปนรกเตียน คำพังเพยแต่โบราณนี้ หมายความว่า ความดีนั้นคนชั่วทำได้ยาก ส่วนความชั่วนั้นคนชั่วทำได้ง่าย
นี้เป็นลักษณะของคนชั่ว ซึ่งเป็นตรงกันข้ามกับคนดี กล่าวคือ ความดีนั้น คนดีทำได้ง่าย ส่วนความชั่วนั้น คนดีทำได้ยาก
เพราะฉะนั้น คำพังเพยแต่โบราณนี้ จึงหมายเฉพาะลักษณะของ คนชั่ว คือ ใช้สำหรับแสดงลักษณะของคนชั่วโดยสันดาน ซึ่งมีลักษณะที่เป็นตรงกันข้ามกับคุณลักษณะของคนดี คนมีศีลมีธรรม และ/หรือพระอริยเจ้าทั้งหลาย
ในสมัยที่ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่นั้น เมื่อได้ทรงทราบถึงพฤติกรรมอันชั่วช้าของ พระเทวทัต ที่คิด-พูด-และกระทำให้สงฆ์แตกแยกกัน เรียกว่า สังฆเภท คือ การทำลายสงฆ์ ที่ ท่านพระอานนท์ ได้กราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ก็ได้ทรงเปล่งอุทาน (ขุ. อุ. ๒๕/๑๒๔/๑๖๗-๑๖๘) ว่า
“สุกรํ สาธุนา สาธุสาธุ ปาเปน ทุกฺกรํปาปํ ปาเปน สุกรํปาปมริเยหิ ทุกฺกรนฺติ”
ซึ่งหมายถึง “ความดี คนดีทำได้ง่าย ความดี คนชั่วทำได้ยาก ความชั่ว คนชั่วทำได้ง่าย ความชั่ว พระอริยเจ้าทั้งหลายทำได้ยาก”
ความประพฤติอย่างไร เรียกว่า “ความดี” ความประพฤติอย่างไร เรียกว่า “ความชั่ว” คนส่วนใหญ่โดยทั่วไป ก็รู้จักกันดีพอสมควร
แต่ความดีความชั่วนั้น มีมากมายหลายอย่าง หลายชั้น คือ มีทั้งชั้นหยาบ ชั้นกลาง และชั้นละเอียด อันชนทั้งหลายมีสติปัญญาอันเห็นแจ้งรู้แจ้งไม่เท่าทัน มีทิฏฐิ คือ ความเห็นแตกต่างกัน
และเพราะเหตุนั้น จึงมีความประพฤติปฏิบัติทางกาย ทางวาจา และทางใจ คือ เจตนาความคิดอ่าน ที่ดีบ้าง ที่ชั่วบ้าง ไม่เหมือนกัน
“ความดี” คือ ความประพฤติปฏิบัติทางกาย ทางวาจา และทางใจ ที่เรียบร้อยดี ไม่มีโทษ และที่ก่อให้เกิดประโยชน์ คือ ความเจริญและสันติสุข ทั้งแก่ตนเองและทั้งแก่ผู้อื่น ที่อยู่ร่วมกันในสังคม
โบราณท่านจึงเปรียบว่า “ทางไปสวรรค์” ซึ่งหมายเอา ทางไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง และสันติสุขในชีวิต เหมือนอยู่ในสวรรค์
พระท่านเรียกความประพฤติปฏิบัติที่ดีอย่างนี้ว่า “บุญ-กุศล”
คำว่า “บุญ” ท่านก็หมายถึง คุณความดีนั้นแหละ ซึ่งเป็นเครื่องชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใสจากกิเลส
ส่วนคำว่า “กุศล” ก็แปลว่า “คุณความดี” นั่นเอง
"พระราชญาณวิสิฐ (หลวงป๋า)"