Lifestyle

คอนเสิร์ตเฉลิมพระเกียรติในหลวง เชิญยอดนักไวโอลินชื่อดังชาวเยอรมันบรรเลงเดี่ยวกับวง RBSO

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอนเสิร์ตเฉลิมพระเกียรติในหลวง เชิญยอดนักไวโอลินชื่อดังชาวเยอรมันบรรเลงเดี่ยวกับวง RBSO

         
มูลนิธิรอยัลแบงค์คอกซิมโฟนีออร์เคสตร้าฯ ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา  ร่วมกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม โดยความสนับสนุนของบี.กริม, BDMS, เมืองไทยประกันภัย และมูลนิธิเอสซีจี ขอเชิญชมการแสดงคอนเสิร์ตเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว งานนี้เชิญ “นิคลาส ลิเพอร์ (Niklas Liepe)” ศิลปินเดี่ยวไวโอลินรุ่นใหม่ชาวเยอรมันชื่อดังระดับนานาชาติบรรเลงเดี่ยวร่วมกับวง RBSO อำนวยเพลงโดย มิเชล เทลคิน (Michel Tilkin) ผู้อำนวยการด้านดนตรีของวง RBSO  

 


         คอนเสิร์ตเฉลิมพระเกียรติในหลวง เชิญยอดนักไวโอลินชื่อดังชาวเยอรมันบรรเลงเดี่ยวกับวง RBSO

 

รายการเพลงจะบรรเลงผลงามาสเตอร์พีซสามบทของคีตกวีเอกยุคโรแมนติค คือไวโอลินคอนแชร์โตหมายเลข 2 ของเฮนรี เวียนเนียพสกี ยอดนักไวโอลินและคีตกวีชาวโปแลนด์ผู้ยิ่งใหญ่ งานบทนี้เป็นเพลงเดี่ยวไวโอลินที่มีความไพเราะ และท้าทายฝีมือผู้บรรเลงเดี่ยวมากที่สุดบทหนึ่งในบรรดากรุเพลงเดี่ยวไวโอลินทั้งหลาย  ส่วนเพลงบรรเลงคือบทโหมโรง "The Roman Carnival Overture" ของเฮ็คเตอร์ แบร์ลิออซ คีตกวีชาวโปแลนด์  และซิมโฟนีหมายเลข 4 บันไดเสียง F ไมเนอร์ ของปีเตอร์ อิลยิส ไชคอฟสกี คีตกวีชาวรัสเซีย ซึ่งเขาได้ถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกส่วนตัวผ่านงานชิ้นนี้ได้อย่างสมบูรณ์ เป็นงานซิมโฟนีของเขาที่นิยมฟังและนำมาบรรเลงกันมากที่สุด 
        

บทโหมโรง "The Roman Carnival Overture" ผลงานที่สร้างชื่อเสียงมากให้กับ แบร์ลิออซ ซึ่งเขาได้นำทำนองต่างๆที่ได้ประพันธ์ไว้ อาทิ เพลงร้องคอรัสและเพลงจากอุปรากรเรื่อง Benvenuto Cellini มาร้อยเรียงและประพันธ์เพิ่มเติม มีสำเนียงเพลงเต้นรำพื้นบ้านชาวโปแลนด์ที่ร่าเริง สนุกสนานกับการฉลองเทศกาลคาร์นิวัล สลับกับทำนองที่แสนหวาน ถวิลหาความรัก บรรเลงเดี่ยวโดยปี่อิงลิชฮอร์น ทำนองนี้มีชื่อเสียงมาก ซึ่งมาจากเพลงร้องคอรัสเพื่อศาสนา เพลงเด่นคือไวโอลินคอนแชร์โตหมายเลข 2 ในบันไดเสียง D ไมเนอร์ ของเฮนรี เวียนเนียพสกี ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นคอนแชร์โตที่มีแนวเดี่ยวโลดโผนวิจิตรพิสดาร ทำนองไพเราะมีสีสัน เจิดจ้า ท่อนแรก เศร้าสร้อย ท่อนที่สองเริ่มอย่างเชื่องช้า ไพเราะ ท่อนที่สามซึ่งเป็นท่อนสุดท้าย แนวเดี่ยวไวโอลินบรรเลงทำนองวนไปมาอย่างสนุกสนาน ค่อยๆเร่งเร้าจนจบลงอย่างตื่นเต้นด้วยอารมณ์ที่ร้อนแรง งานชิ้นนี้ศิลปินเดี่ยวไวโอลินได้โชว์ฝีมือทั้งเทคนิคการเล่นไวโอลินขั้นสูงที่แพรวพราวตื่นตาตื่นใจ ได้รับการยกย่องว่าเป็นไวโอลินคอนแชร์โตที่ท้าทายและโด่งดังที่สุดบทหนึ่งในบรรดาไวโอลินคอนแชร์โตทั้งหลาย  เป็นเพลงทดสอบการแข่งขันไวโอลินระดับโลก รายการ Wieniawski Violin Competition และการแข่งขันไวโอลินที่มีชื่อเสียงทั้งหลาย
            

คอนเสิร์ตเฉลิมพระเกียรติในหลวง เชิญยอดนักไวโอลินชื่อดังชาวเยอรมันบรรเลงเดี่ยวกับวง RBSO

 

 

เพลงสุดท้ายซิมโฟนีหมายเลข 4 ในบันไดเสียง F ไมเนอร์ ของปีเตอร์ อิลยิส ไชคอฟสกี คีตกวีชาวรัสเซีย ซึ่งอุทิศงานชิ้นนี้ให้กับมาดาม ฟอน เม็ค ผู้อุปถัมภ์คนสำคัญของเขามายาวนาน ท่อนแรกเริ่มด้วยทำนองที่แสดงความทุกข์ระทม และความอ้างว้างที่บั่นทอนทำลายความสุข จึงตั้งชื่อว่า “ชะตากรรม”  ท่อนที่สอง เศร้าสร้อย หวนคิดถึงอดีตอันแสนหวาน ท่อนที่สาม ให้ความรู้สึกทั้งร่าเริง และความทุกข์ระทม แต่แล้วก็ได้ยินทำนองเพลงพื้นบ้านที่คึกคัก สง่างามเหมือนเพลงมาร์ช ท่อนที่สี่ บรรยายให้เห็นบรรยากาศงานเฉลิมฉลองเทศกาล ทำให้ลืมความทุกข์ระทม  แต่แล้วทำนอง“ชะตากรรม” ได้หวนกลับมาให้ความรู้สึกที่อ้างว้าง จบลงด้วยทำนองที่เร่งเร้า มีพลัง ด้วยความหวังว่าจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อย่างมีความสุข
            

ศิลปินเดี่ยวไวโอลิน นิคลาส ลิเพอร์ (Niklas Liepe) มีผลงานเดี่ยวกับวงชั้นนำหลายวงในยุโรป อาทิ NDR Radio Philharmonic, Hamburg Ebphilharmonic, Tauber Philharmonic, Berlin Philharmonic เคยร่วมงานกับศิลปินชื่อดัง อาทิ Gidon Kremer, Yuri Bashmet, Christoph Eschenbach และ Andras Schiff ชนะการแข่งขันรายการ อาทิ Henryk Wieniawski Violin Competition และ German Music Competition ล่าสุดได้ออกอัลบั้มเดี่ยวกับค่าย Sony Classic บรรเลงเพลงทั้งแนวแจ้ส แทงโก้ ลาตินและคลาสสิก ที่นำมาเรียบเรียงและประพันธ์เพิ่มเติมสำหรับวงออร์เคสตร้า
            

ลิเพอร์จบการศึกษาด้านไวโอลินที่ Kronsberg Academy, Hannover Music University และCologne Music University โดยเรียนกับปรมาจารย์ที่มีชื่อเสียงคือ Prof. Ana Chumachenco,Prof. Mihaela Martin, Prof. Krzysztof Wegrzyn และ Prof. Zakhar Bron  ตามลำดับ 
         

ทั้งนี้ คอนเสิร์ต กำหนดแสดงวันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม 2564 เวลา 19.30 น. ณ หอประชุมใหญ่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตามคำประกาศของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. อย่างเคร่งครัด โดยกำหนดมาตรการต่างๆ เช่น การกำหนดจุดเข้าออก การคัดกรองก่อนเข้าพื้นที่ การกำหนดจำนวนคนต่อพื้นที่ โดยจัดให้มีระยะห่างระหว่างผู้ชมและผู้แสดง โดยผู้ชมต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ฯลฯ
บัตรราคา 300, 700, 900, 1200, 1500 บาท  ลด 50% สำหรับนักเรียน/นักศึกษา และผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จองบัตรได้ที่ ThaiTicketmajor โทร. 02 262 3456 หรือ www.thaiticketmajor.com
สอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักงานมูลนิธิ RBSO โทร.02 255 6617-8 / 02 255 9191-2
Email: [email protected]    

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ