Lifestyle

"พระสมเด็จจิตรลดา"และ"พระสมเด็จ" ของนายกฯสารพัดพิษ "ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ตอน...เปิดกรุพระเครื่องนายกรัฐมนตรีของไทย  : "พระสมเด็จจิตรลดา"และ"พระสมเด็จ" ของนายกฯสารพัดพิษ "ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช"  คอลัมน์... ตามรอย ตำนานแผ่นดิน  โดย...  เอก อัคคี


ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่๑๓ ของประเทศไทย เมื่อวันที่๑๔ มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๘ ด้วยความที่เป็นมหาบุรุษผู้มากด้วยความรู้ ความสามารถ ทั้งศาสตร์และศิลป์ ทั้งบู๊และบุ๋น ดำรงสถานภาพเป็น ปราชญ์แห่งสยามประเทศท่านหนึ่ง จึงได้รับฉายาจากนักการเมือง และสื่อมวลชนมากมายว่า  "ผู้เฒ่าสารพัดพิษ" หรือ"ซือแป๋ซอยสวนพลู"เพราะเหลี่ยมคูเชิงชั้น ทางการเมือง ไม่เป็นสองรองใครในแผ่นดินลุ่มน้ำเจ้าพระยา(ในยุคนั้น)

 

อ่านข่าว...  เหรียญพระพิฆเนศ ที่ระลึก๗๕ ปี หาดใหญ่วิทยาลัย เข้มขลัง ศักดิ์สิทธิ์ด้วยบารมีมหาเทพ

"พระสมเด็จจิตรลดา"และ"พระสมเด็จ" ของนายกฯสารพัดพิษ "ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช"

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช  อดีตนายกรัฐมนตรี ขณะเข้าเฝ้าในหลวง ร.9

 


ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เผยเรื่องราวในหนังสือคึกฤทธิ์พูด ฉบับรวมปาฐกถา เล่าเรื่องบุญญาภินิหารของในหลวงรัชกาลที่๙ ที่เห็นมากับตา


ท่านเล่าเอาไว้ในหนังสือคึกฤทธิ์พูด ฉบับรวมปาฐกถา เนื่องในวันคล้ายวันเกิดครบรอบปีที่ ๗๘ว่า เป็นช่วงได้รับเชิญไปปาฐกถา อภิปรายในระหว่างปี ๒๕๓๑-๒๕๓๒  และในช่วงท้ายได้มีการกล่าวถึงราชวงศ์จักรีที่ทรงพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่องมาทุกรัชกาล


ใจความตอนหนึ่งระบุไว้ว่า " เรื่องนี้เป็นเรื่องที่อยู่ในใจของคนไทยทุกคน ถ้าจะว่าในทางบุญญาภินิหารของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่๙ นี่แหละที่คนได้เห็นบุญญาภินิหารของพระองค์มากที่สุด กระผมได้พบด้วยตัวเอง ผมเองจะว่าคนโบราณก็โบราณ แต่ความรู้วิชาสมัยใหม่ก็ยังมีอยู่ได้เห็นเองบ้าง ไม่เห็นบ้าง และได้รับคำบอกเล่าจากคนอื่นที่เชื่อถือได้


และคุณหลวงสุรัตน์ณรงค์ ราชองครักษ์ ได้เล่าให้ผมฟังว่า เมื่อครั้งเสด็จประพาสทางชายพรมแดน ประทับเรือพระที่นั่งเสด็จฯ ทอดพระเนตรแม่น้ำโขงฝั่งไทย พอไปถึงตำบลหนึ่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมเวลานั้น ยืนอยู่ข้างพระองค์ คอยชี้แจง ก็กราบบังคมทูลว่า บ้านนี้เรียกว่าอย่างนั้น ตำบลนี้ชื่ออะไร ราษฎรมีเท่าไหร่ ทำมาหากินอะไร ไปถึงตำบลเรียกว่า"วังจระเข้"พระองค์ก็ทรงพระสรวล(หัวเราะ) มีพระราชดำรัสถามว่า"แล้วมีจระเข้ไหม"

 

"พระสมเด็จจิตรลดา"และ"พระสมเด็จ" ของนายกฯสารพัดพิษ "ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช"

อดีตนายกฯเจ้าของสมญานาม เฒ่าสารพัดพิษกับพระเครื่องคู่ใจ


ผู้ว่าฯ ก็กราบบังคมทูล"ไม่มี สมัยนี้มีเรือไฟ เรืออะไร จระเข้คงไม่มีอาศัยอยู่ได้ ก็ต้องหลบหนีไป"จากนั้นก็มีพระราชดำรัสว่า"เสียดายจริง ฉันยังไม่เคยเห็นจระเข้ที่มันอยู่ตามธรรมชาติ"พอมีพระราชดำรัสขาดพระโอษฐ์เท่านั้น จระเข้ขึ้น 2 ตัว พระองค์ก็ทรงพระสรวล ชี้ให้ผู้ว่าฯ ดูว่า"เห็นไหม"


…................
นอกจากนี้ พล.ต. ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ยังเล่าต่อว่า " เมื่อครั้งพระองค์เสด็จฯ เมืองเพชรบุรี เขาปลูกปะรำรับเสด็จฯ ใหญ่ที่ศาลากลางสองหลังระหว่างที่อยู่กลางแจ้งกับที่ไปถึงราษฎรเฝ้าฯ เต็มปะรำ เพราะขณะนั้นฝนตกหนัก เมื่อพระองค์เสด็จฯ มาถึง ทรงเยี่ยมราษฎรในปะรำ แรกฝนก็ยังตกหนักจนลืมหูลืมตาไม่ขึ้น พอถึงหมวดปะรำที่จะเสด็จฯ ออกไปอีกปะรำหนึ่ง ฝนก็ยังตกอยู่


คุณหลวงสุรัตน์ณรงค์ ราชองครักษ์ จะถวายให้คนกางกลด ทว่าพระองค์ทรงยับยั้ง บอกคุณหลวงว่า "ก็เขาเปียก เราก็เปียกได้ "ว่าแล้วเสด็จพระราชดำเนินออกไป ฝนก็หยุดตก นี่เอาไปสาบานที่ไหนก็ได้ ว่าเห็นกับตา แปลกจริง ๆ ไม่มีฝน เสด็จพระราชดำเนินไปเข้าปะรำโน้น พอลับพระองค์ ฝนตกจั้ก ๆ อย่างเก่าอีกที พวกที่ตามเสด็จฯ ไม่ต้องพูดละ โชกไปด้วยกันหมด หนีไม่พ้น แม้องค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถยังเปียก เสด็จพระราชดำเนินคล้อยตาม นี่ก็เห็นกันมาแล้ว และอื่น ๆ อีกมากมายเหลือเกิน จะเล่าไปก็ไม่มีที่สิ้นสุด ผมจึงอยากจะบอกว่า เรามีองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งทรงมีบุญญาภินิหารอย่างยิ่ง"

 

"พระสมเด็จจิตรลดา"และ"พระสมเด็จ" ของนายกฯสารพัดพิษ "ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช"

ทุกตำแหน่งคือหัวโขน อาจจะเป็นนิยามความหมายของภาพนี้

 


กล่าวสำหรับ พระเครื่องที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ให้ความเคารพศรัทธามากและสำคัญที่สุดของท่านคือ พระสมเด็จจิตรลดาซึ่งเป็นพระเครื่องที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่๙ ทรงสร้างด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง เพื่อพระราชทานให้กับข้าราชบริพาร


 อาจารย์หม่อมคึกฤทธิ์ ได้เรียกขานนามว่าพระเครื่องนี้ว่า  "พระกำลังแผ่นดิน"
พระพิมพ์ทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่วปางสมาธิ ศิลปะสมัยสุโขทัย รุ่นพระสมเด็จจิตรลดา หรือพระกำลังแผ่นดิน คือพระพิมพ์​รุ่นเดียวในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่สร้างโดยพระมหากษัตริย์ โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงรวมวัตถุมงคลหลายชนิดผสมกัน ได้แก่ ดินจากปูชนียสถานต่างๆ ทั่วประเทศ, ดอกไม้แห้งจากมาลัยที่ใช้ในพระราชพิธีสำคัญและที่ประชาชนทูลเกล้าฯ ถวายในโอกาสต่างๆ, สีที่ทรงขูดจากผ้าใบภาพฝีพระหัตถ์, สีที่ทรงขูดจากเรือใบพระที่นั่ง และเส้นพระเจ้า (เส้นผม) ของพระองค์เอง


สำหรับต้นแบบพิมพ์พระนั้น อ.ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ปฏิมากรคนสำคัญคนหนึ่งของเมืองไทยเป็นผู้แกะถวายให้พระองค์มีพระบรมราชวินิจฉัย ในขั้นตอนนอกจากนั้น พระองค์ก็ทรงสร้างพระสมเด็จจิตรลดาในทุกกระบวนการด้วยพระองค์เอง ทั้งแกะพิมพ์ เทหยอดพิมพ์ รวมทั้งทรงจัดแต่งองค์พระทุกองค์ที่ถอดออกจากพิมพ์โดยเสร็จสมบูรณ์ โดยทรงสร้างรุ่นแรกใน พ.ศ. ๒๕๐๘ เพื่อพระราชทานแก่ข้าราชการฝ่ายในโดยไม่ผ่านพิธีพุทธาภิเษกแต่อย่างใด ต่อมาจึงทรงสร้างเพิ่มสำหรับประชาชนทั่วไป โดยพระกำลังแผ่นดินทุกองค์มีใบพระราชทานบ่งบอกลำดับที่กำกับ และทรงลงพระปรมาภิไธยจริงทุกใบ

 

"พระสมเด็จจิตรลดา"และ"พระสมเด็จ" ของนายกฯสารพัดพิษ "ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช"

พระสมเด็จจิตลดาหรือพระกำลังแผ่นดิน

 


พล.ต.อ.วศิษฐ์ เดชกุณชร ผู้เคยได้รับพระราชทานพระสมเด็จจิตรลดา เคยเปิดเผยเอาไว้ว่า ทรงมีรับสั่งว่า ผู้ที่ที่ได้รับพระราชทานจะต้องนำไปปิดทองด้านหลังองค์พระ ก่อนจะเลี่ยมขึ้นคอ เป็นปริศนาธรรมบางอย่างที่ทรงมีพระราชดำริในการปลูกฝังนิสัยให้ผู้รับพระราชทาน ให้นำไปคิดเป็นทำนองว่า การที่บุคคลใดจะทำกุศลหรือประโยชน์สาธารณะ พึงมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่นโดยแท้จริง มิได้หวังลาภยศ ชื่อเสียง 


ตามคติโบราณที่ว่า “ปิดทองหลังพระ” อันเป็นพระราชดำรัส ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรรัชกาลที่ 9 ตรัสแก่ผู้รับพระราชทานพระสมเด็จจิตรลดา ทุกคน
 

สมเด็จจิตรลดา จัดสร้างจากมวลสารศักดิ์สิทธิ์ อาทิ เส้นพระเจ้า (เกศาของพระองค์) ดอกไม้ พวงมาลัยแห้งหน้าเครื่องถวายองค์พระแก้วมรกต ,ดอกไม้แห้งจากมาลัยที่แขวนพระมหาเศวตฉัตร, สีที่ขูดจากเรือใบพระที่นั่ง,ดิน ตะไคร่น้ำ ผงธูป จากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และน้ำจากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ประจำจังหวัดทั่วประเทศ เป็นพระพุทธรูปพิมพ์นั่งปางสมาธิแบบขัดราบ พระบาทขวาทับพระบาทซ้าย ประทับเหนือดอกบัวบาน บน ๕ กลีบ ล่าง ๔ กลีบ รวมเป็น ๙ กลีบและเชื่อกันว่า มีความเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์มาก


….......
พระองค์ท่านพระราชทานแก่ ข้าราชการ,ทหาร,ตำรวจ และพลเรือน ในช่วงระหว่าง พ.ศ. ๒๕๐๘-๒๕๑๓ มีทั้งสิ้นประมาณ ๓,๐๐๐ องค์ พระองค์พระราชทานด้วยพระหัตถ์พระองค์เอง และเท่าที่สอบถามผู้ที่ได้รับพระราชทานมาจะไม่มีกล่องกำมะหยี่มา 


สำหรับใบกำกับพระสมเด็จจิตรลดา สำนักพระราชวังจะแจ้งให้ไปรับเอกสารกำกับในภายหลัง เป็นเอกสารกว้าง ๑๒.๗ เซนติเมตร ยาว ๑๕.๘  เซนติเมตร มีภาพพระพิมพ์ส่วนพระองค์ประกอบ พร้อมตราจักรี (จักรและตรี) ระบุลำดับที่ ชื่อผู้รับ พระราชทาน วันที่ เดือน พ.ศ. ที่ได้รับพระราชทาน กล่าวสำหรับสีพระสมเด็จจิตรลดา ที่สร้างนั้น ท่านผู้รู้บอกว่า เป็นพระเนื้อออกสีน้ำตาลแก่ ,น้ำตาลแก่ออกสีดำ และน้ำตาลอมเหลือง ความหนาบาง และความคมลึกชัดขององค์พระในแต่ละปีไม่เท่ากัน เนื้อถึงจะสีเข้ม แต่จะใส หนึกนุ่ม ของปลอมจะขาดสิ่งเหล่านี้ และของปลอมมักจะมีตำนานเรื่องเล่าพร้อมกล่องกำมะหยี่ประกอบมาด้วย

 

"พระสมเด็จจิตรลดา"และ"พระสมเด็จ" ของนายกฯสารพัดพิษ "ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช"

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ 


แต่นอกจากพระสมเด็จจิตรลดา ที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เรียกขานนามใหม่ว่า "พระกำลังแผ่นดิน"แล้ว ก็ไม่ค่อยปรากฏข้อมูลว่า ท่านจะให้ความเคารพเชื่อมั่นในพระเครื่อง วัตถุมงคลใดๆ ยกเว้นภาพที่นำมาให้ชมกัน ท่านน่าจะห้อยพระเครื่องสามองค์ คือ พระจิตรลดา,พระสมเด็จและพระนางพญา (หรือท่านใดมีข้อมูลก็นำมาแลกเปลี่ยนกันได้/เอก อัคคี)


และที่สำคัญท่านยังเขียนบทความเหน็บคนที่นิยมพระเครื่องวัตถุมงคลเสียอีก ดั่งที่ปรากฏในข้อเขียนของ คุณทองแถม นากจำนง อดีตบรรณาธิการสยามรัฐ ที่ยกเอาข้อเขียนของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มาว่า


“ในขณะที่เขียนเรื่องนี้ ปรากฏว่าคนไทยกำลังนิยมพระเครื่องกันอย่างหนาแน่นอย่างไม่เคยปรากฏมา แต่ก่อนใครมีความรู้เรื่องพระเครื่อง ก็มีผู้ติดตามฝากตัวเป็นศิษย์ ใครมีพระเครื่องให้เช่า ก็มีลูกค้าติดตามคอยเช่าอยู่เป็นนิจ ใครมีบุญวาสนาใคร่จะแผ่เมตตาหว่านล้อมเอาใจคนไว้ ก็ต้องแจกพระเครื่อง ในกระบวนพระเครื่องทั้งหมด ที่มีผู้นิยมนับถืออย่างแพร่หลายที่สุดเห็นจะได้แก่พระเครื่องที่เรียกกันว่า “พระสมเด็จ”ในที่นี้ผู้เขียนก็อยากจะคุยอวดพระเครื่องกับเขาบ้าง เพราะผู้เขียนก็มี“พระสมเด็จ”กับเขาอยู่องค์หนึ่งเหมือนกัน ผิดกับคนอื่นแต่เพียงว่า “พระสมเด็จ”ของผู้เขียนเรื่องนี้จะให้ใครก็ไม่ได้ เพราะดูเหมือนจะมีเจ้าของร่วมกันอยู่หลายคน และที่สำคัญที่สุดนั้น “พระสมเด็จ”ของผู้เขียนเรื่องนี้ จะเอามาเลี่ยมทองห้อยคอ ไปไหนมาไหนเหมือนกับเขาก็ไม่ได้ เพราะท่านเป็นพระเป็น ๆ องค์โต ๆ เท่ากับพระเป็น ๆ องค์อื่น ๆ


ถ้าหากจะไปเอาท่านมาห้อยคอท่านก็คงจะเอะอะเอาเป็นแน่ แม้แต่ไม่เคยคิด จะทำถึงเพียงนั้น แต่ไปเลียบเคียงท่านด้วยเรื่องอื่น ๆ ท่านก็ยังเอะอะเอาบ่อย ๆ อยู่แล้ว ซึ่งถ้าจะว่าไป ผู้เขียนก็ไม่เคยกลัว เพราะรู้ดีอยู่ว่าท่านโกรธใครไม่เป็น ถ้าท่านเมตตาใครมาก ก็ดูเหมือนจะเอะอะกับคนนั้นมากพอ ๆ กัน


เขียนมาเพียงเท่านี้ ก็เห็นจะพอรู้กันแล้วกระมังว่า “พระสมเด็จ” องค์นี้ของผู้เขียนอยู่ที่ไหน ถ้ายังเอาไม่ออกก็จะบอกให้ว่า ท่านอยู่ที่ท่านบวรนิเวศฯ แต่ก่อนคนเรียกท่านว่า “สมเด็จญาณฯ”


ซึ่งก็คือ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ 
พระราชอุปัชฌยาจารย์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่๙ นั้นเอง


ท่านบอกเอาไว้ว่า การถูกแทงฟันแล้วไม่เข้า ไม่เกิดบาดแผลแก่ตนนั้น เรียกได้ว่าเป็นผู้อยู่ยงคงกระพัน คนทั่วไปเชื่อกันว่าจะอยู่ยงคงกระพันได้ ด้วยพระพุทธคุณอันมีพระเครื่องเป็นสัญลักษณ์ ท่านเองพิจารณาดูตนแล้ว ก็เห็นว่าอยู่ยงคงกระพันเอาการอยู่ เพราะแผลภายนอกก็ไม่เคยรับ เนื่องด้วยไม่มีใครสนใจจะมาตีรันฟันแทง


แผลภายในก็หายและจะไม่เป็นขึ้นอีก เพราะถอดเอาหอกดาบภายในทิ้งเสียได้แล้ว ทั้งนี้ก็โดยอาศัยพระพุทธคุณเช่นเดียวกับคนอื่น ๆ เพียงแต่ว่ามี “พระสมเด็จ” อันไม่สามารถจะนำไปเลี่ยมห้อยคอได้ เป็นสัญลักษณ์เท่านั้นเอง ซึ่งความจริงดูก็จะสะดวกดี เพราะการมีพระเครื่องแขวนคอนั้น ก็จำต้องมีทั้งทองคำที่เลี่ยม และสายสร้อยทองคำที่ร้อย ทองคำนั้นเองเป็นเครื่องล่อคมหอกคมดาบให้วิ่งเข้าหาตัวได้ไม่น้อยกว่าอย่างอื่น!!

…...................
คารมคมกริบสมกับฉายา เฒ่าสารพัดพิษจริงๆ
….....................

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ