ไลฟ์สไตล์

เครื่องวัดความชื้น"ลำไยอบแห้ง"
เพิ่มมูลค่า"ลำไย"ในเชิงพาณิชย์

เครื่องวัดความชื้น"ลำไยอบแห้ง" เพิ่มมูลค่า"ลำไย"ในเชิงพาณิชย์

19 ม.ค. 2553

ไม่ปฏิเสธว่า "ลำไยอบแห้ง" เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญที่ทำรายได้เข้าประเทศนับพันล้านบาทในแต่ละปี เห็นได้จากปริมาณและมูลค่าการส่งออกลำไยอบแห้งในปี 2552 ระหว่างเดือนมกราคม-พฤศจิกายน จำนวน 136,706 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 2,479.8 ล้านบาท แต่ปัญหาของลำไยอบแห้งส่วนใ

  ด้วยเหตุนี้กรมวิชาการเกษตร โดยสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม จึงคิดประดิษฐ์เครื่องมือการตรวจวัดความชื้นที่จะนำมาใช้ในการตรวจวัดความชื้นของลำไยอบแห้งที่ได้มาตรฐาน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่เกษตรกรและช่วยเพิ่มมูลค่าลำไยอบแห้งของเกษตรกรส่วนใหญ่จะใช้วิธีการแบบง่ายๆ ด้วยการใช้มือหรือฟันกัดเปลือกหรือเมล็ดเพื่อประเมินระดับความชื้นซึ่งให้ผลที่ไม่แน่นอน  

 ชูศักดิ์ ชวประดิษฐ์ วิศวกรการเกษตรชำนาญการพิเศษและคณะ กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ปัจจุบันการอบลำไยยังมีปัญหาเรื่องเวลาและต้นทุนอย่างต่อเนื่อง เพราะการอบแต่ละครั้งยังไม่สามารถกำหนดระยะเวลาในการอบได้ ทำให้เกษตรกรต้องมีต้นทุนสูงในการอบ ดังนั้น กรมวิชาการเกษตรโดยกลุ่มวิจัยเกษตรวิศวกรรมหลังการเก็บเกี่ยว สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยเครื่องวัดความชื้นลำไยอบแห้งที่สามารถวัดความชื้นเนื้อลำไยอบแห้งได้อย่างแม่นยำ และเชื่อถือได้ เพื่อใช้ในการวัดความชื้นลำไยอบแห้งเพื่อการค้า โดยใช้เวลาในการวัดน้อย และมีราคาเหมาะสมสำหรับผู้ใช้งาน ซึ่งได้แก่ เกษตรกร ผู้ประกอบการอบแห้งลำไย และพ่อค้ารับซื้อลำไย โดยเครื่องวัดความชื้นดังกล่าว สนนราคาประมาณ 5,000 บาท

 "จุดเด่นของเครื่องวัดความชื้นลำไยอบแห้งทั้งเปลือก โดยการหาความชื้นลำไยอบแห้ง คือ ตู้อบลมร้อนหรือตู้อบสุญญากาศเป็นวิธีที่แม่นยำ ได้ค่าความชื้นที่เชื่อถือได้สูงสุด ใช้เวลาอบเพียง 18 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งการอบด้วยเวลาดังกล่าวจะสามารถช่วยลดต้นทุนได้หลายเท่า ทำให้เหมาะสมในการใช้หาความชื้นลำไยอบแห้งเพื่อการค้า" 

 ชูศักดิ์ กล่าวอีกว่า เครื่องวัดความชื้นลำไยที่อบแห้งทั้งเปลือก มีส่วนประกอบหลัก 2 ส่วน คือ ตัวเครื่องและหัววัด โดยตัวเครื่องจะประกอบด้วยหน่วยวัดและวิเคราะห์ค่าความชื้นด้วยวงจรไฟฟ้าและหน่วยแสดงผลความชื้น รวมทั้งส่วนกระบอกบรรจุหัววัด เพื่อเชื่อมต่อหัววัดเข้ากับวงจรวัด มีสวิตช์ปิด-เปิดและแสดงความชื้น ส่วนหัววัดซึ่งมีลักษณะทรงกระบอกมีฝาปิดแน่นเพื่อใช้ในการบรรจุเนื้อลำไยที่แกะจากลำไยอบทั้งเปลือกจำนวน 15 ลูก 

 ขณะที่ สมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเสริมว่า กรมวิชาการเกษตรในฐานะเป็นองค์กรนำด้านการวิจัยและพัฒนาพืชเครื่องจักรกลการเกษตรและเป็นศูนย์บริการตรวจสอบรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรในระดับสากล โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและจากค่านิยมที่ว่า “ซื่อสัตย์ โปร่งใส งานวิจัยมีคุณภาพ” จึงมีนโยบายหลักเพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ของกรมวิชาการเกษตรทำการวิจัยและพัฒนาพืชและเครื่องจักรกลทางการเกษตร ดังนั้นกลุ่มวิจัยเกษตรวิศวกรรมหลังการเก็บเกี่ยว สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร จึงได้ตอบสนองนโยบายดังกล่าวเพื่อพัฒนาเครื่องจักรกลทางการเกษตร

 "กรมวิชาการเกษตรต้องเร่งศึกษาและพัฒนาต่อยอดจากเครื่องมือวัความชื้นลำไยทั้งเปลือกเป็นลำไยเฉพาะเนื้อ คาดว่าจะใช้เวลาศึกษา 1 ปี เพื่อรองรับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะเนื้อลำไยสีทองอบแห้ง" อธิบดีกรมวิชาการเกษตรย้ำชัด  

 ทั้งนี้ หากเกษตรกรและผู้รับซื้อสนใจเครื่องวัดความชื้นดังกล่าว สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ กลุ่มวิจัยเกษตรวิศวกรรมหลังการเก็บเกี่ยว สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร หรือโทร.0-2579-0663-4 ในวันและเวลาราชการ

"สุรัตน์ อัตตะ"